21 ตุลาคม 2022

หน้าที่ของหัวหน้าในการพัฒนาทีมงาน

โดย คุณอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป

 

หัวหน้างานหลายคน คิดว่าการพัฒนาพนักงานเป็นหน้าที่โดยตรงของ HR ที่ต้องจัดให้มีการอบรมสัมมนา แต่เชื่อไหมครับว่า การอบรม (Training) กับการพัฒนา (Development) แม้จะฟังดูคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน !

คนหลายคนเข้ารับการอบรม แต่ไม่เห็นว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน คนอีกหลายคน มีพัฒนาการในการทำงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเข้าอบรม ดังนั้น “การอบรม” จึงไม่เท่ากับ “การพัฒนา”

คนเราพัฒนาได้อีกหลากหลายวิธีที่ไม่ใช่การอบรม และที่สำคัญหัวหน้าโดยตรงสามารถช่วยพัฒนาลูกน้องได้ โดยไม่ต้องอาศัยการอบรมที่ HR หรือองค์กรจัดให้ เพียงอย่างเดียว

วันนี้มีแนวทางอย่างน้อย 5 วิธีสำหรับหัวหน้าในการพัฒนาลูกน้อง มาฝาก

 

OJT (On the job training)  การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง ข้อดีคือ ได้ลงมือทำจริง ในสนามจริง ประสบการณ์จริง ข้อเสียคือ อาจมีความเสี่ยงหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ดังนั้นจึงควรใช้กับงานที่มีความเสี่ยงไม่มากหรือต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด

 

 

Project Assignment  การให้ทำงานโปรเจค เป็นการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ฝึกความรับผิดชอบในการทำงาน ฝึกการทำงานเป็นทีม และฝีกการบริหารจัดการคน ข้อดีคือได้มีโอกาสเรียนรู้หลายอย่าง นอกจากการบริหารงานแล้ว ยังได้บริหารคนด้วย ข้อเสียคืออาจหาโปรเจคที่เหมาะสมให้ไม่ได้หรืองานโปรเจคบางอย่างต้องใช้เวลานานในการเรียนรู้

 

Acting  การมอบหมายให้รักษาการแทน ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้างานต้องลาไปทำธุระหลายวัน ในระหว่างที่ไม่อยู่ อาจมอบหมายให้ลูกน้องดูแลและรับผิดชอบงานแทนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ข้อดีคือได้มีโอกาสฝึกตัดสินใจและรับผิดชอบงานในระดับที่สูงขึ้น ข้อเสียคือระยะเวลาอาจจะสั้นเกินไปและขาดความต่อเนื่อง

 

Coaching หรือ Mentoring  การโค้ชหรือการเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นการพัฒนาเรื่องบางเรื่องหรือทักษะบางทักษะผ่านการสอนแบบตัวต่อตัว ข้อดีคือสามารถตัดเย็บเนื้อหาและสิ่งที่ต้องการพัฒนาให้เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคนได้ ข้อเสียคือต้องใช้เวลาจากหัวหน้างานค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีลูกน้องหลายคน

Job Shadowing  การหนีบไปด้วย เป็นการเรียนรู้งานแบบใกล้ชิดชนิดติดสอดห้อยตามไปประชุม ไปดูงาน ไปคุยกับลูกค้าหรือคู่ค้า เป็นต้น ข้อดีคือได้เห็นของจริงและมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับหัวหน้า ข้อเสียคือการพัฒนาด้วยวิธีการนี้ทำได้ในประมาณที่จำกัด อย่างมากก็หนีบไปได้ทีละคนสองคนเท่านั้น

 

ดังนั้นจึงต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ แต่หัวใจสำคัญคือต้องไม่ลืมว่าการพัฒนาลูกน้อง เป็นหน้าที่หนึ่งของหัวหน้าทุกคน

 

Infographic

 

สนใจหลักสูตรสายงานทรัพยากรบุคคล คลิก

 

สนใจหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ คลิก

 




Writer

โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

กรรมการ สลิงชอท กรุ๊ป