29 ธันวาคม 2017

บรรยากาศช่วงปลายปีแบบนี้ หลายท่านคงสรุปงาน ปิดยอดผลงาน หรือมีกิจกรรมส่วนตัว อย่างเช่น การทบทวนเรื่องต่างๆ ที่เกิดในปีเก่าและตั้งเป้าหมายให้กับปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution เพื่อมองหาโอกาสการพัฒนาตัวเองที่มุ่งมั่นและท้าทาย เตรียมพร้อมกับอนาคตข้างหน้า

ปีที่ผ่านมามีหลายข่าวความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ จนทำให้เราตั้งคำถามกับทิศทางการพัฒนาคนว่าควรเป็นอย่างไร พาดหัวข่าวที่น่าตกใจอย่าง “มนุษย์พ่ายแล้ว..! AI ‘อัลฟาโกะ’ โค่นเซียนโกะระดับโลก” กับภาพประกอบที่เซียนโกะมือต้นๆ ของโลกทั้งชาวเกาหลีใต้และชาวจีนเอามือกุมหัวและร่ำไห้กับความพ่ายแพ้ต่อเครื่องจักรปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ราวกับว่าเรามาถึงจุดที่ขีดความสามารถของมนุษย์ได้พ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยีในทุกมิติไปเรียบร้อยแล้ว

จากรายงาน The Future of Jobs ของ World Economic Forum ที่ออกมาเมื่อปี 2016 ได้สร้างความตระหนักให้กับนักพัฒนาบุคลากร นักการศึกษา ตลอดจนผู้บริหารทั้งในระดับองค์กรและประเทศ ในการกำหนดทิศทาง สร้างโปรแกรมการพัฒนาคนให้มีทักษะอนาคต หรือ Future Skills ที่ตอบโจทย์กับความเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งประเด็นสำคัญที่กำลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการจ้างงานให้มีพนักงานประจำน้อยลงแต่เพิ่มการจ้างผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมากขึ้น เนื่องจากระบบการทำงานที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างองค์กรและรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ที่ต้องการความเก่งเฉพาะด้านอย่างเจาะลึกมากขึ้น หรือการเติบโตของชนชั้นกลางในตลาดเกิดใหม่และรูปแบบธุรกิจสีเขียวที่กำลังมาแรง  และอีกด้าน คือ แรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี ทั้งเรื่องของ Mobile Internet ที่ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจขึ้นมากมาย รวมถึงความสามารถของ Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ทำให้ขีดความสามารถของการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก

ตัวเลขคาดการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการปรับแผนการพัฒนาคน คือ 65% ของเด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาในวันนี้ จะต้องทำงานที่ไม่เคยมีมาก่อนเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญา อันเนื่องมาจากรูปแบบธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จนหลายองค์กรจะเริ่มตั้งคำถามกับการสรรหาคนเข้ามาทำงานจากคุณวุฒิทางการศึกษา แต่จะสนใจที่จะมองหาคนที่มีทักษะสำคัญกับรูปแบบธุรกิจในอนาคต และ Passion ในการทำงาน ที่ต้องตื่นตัว มุ่งมั่น ท้าทาย พร้อมกับการเรียนรู้อยู่เสมอ

จากการสำรวจของรายงานฉบับนี้ ยังพบอีกว่า ระหว่างปี 2015-2020 จะมีการเลิกจ้างงานถึง 7.1 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่ง 2 ใน 3 จะเป็นงานสำนักงานและงานธุรการทั่วไป รวมถึงงานในกระบวนการผลิตที่สามารถนำเครื่องจักรและหุ่นยนต์มาทดแทนได้  อย่างไรก็ดี ยังมีงานบางอย่างเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านตำแหน่ง นั่นก็คือ งานทางด้านคอมพิวเตอร์ การคำนวณ วิเคราะห์ข้อมูล สถาปนิกและวิศวกร จะเห็นว่าลักษณะงานที่ลดลงและเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก Disruption ของเทคโนโลยีทั้งสิ้น นั่นหมายความว่าเราจะต้องพัฒนาทักษะ ศักยภาพ และผลิตภาพของคน ให้มีทิศทางสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งทักษะอนาคตที่สำคัญ 10 อันดับแรกในปี 2020 ที่ WEF สำรวจมา คือ

1. Complex Problem Solving การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

2. Critical Thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ

3. Creativity ความคิดสร้างสรรค์

4. People Management การบริหารคน

5. Coordinating with Others การร่วมมือกับผู้อื่น

6. Emotional Intelligence ความฉลาดทางอารมณ์

7. Judgement and Decision Making การลงความเห็นและการตัดสินใจ

8. Service Orientation การใส่ใจความต้องการของลูกค้า

9. Negotiation การต่อรอง

10. Cognitive Flexibility ความยืดหยุ่นทางปัญญา

โลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมาก หลายประเทศก็มียุทธศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ เรียกได้ว่าไม่มีใครอยู่เฉย  ประเทศไทยเองก็กำลังปฏิรูปในหลายๆ ด้าน ซึ่งเราต้องการทักษะและความสามารถของคนในชาติให้เหมาะสมกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก การปรับตัวของคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ตลอดจนวัยผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้น การปฏิรูปการศึกษารวมถึงแผนการพัฒนาคนให้มีทักษะอนาคตและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรและประเทศต้องให้ความสำคัญ

เราอาจจะยังไม่เห็นชัดเจนว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ทิศทางที่กำลังขับเคลื่อนตัวเราและโลกใบนี้ก็พอจะทำให้เราเห็นเค้าลางได้บ้างแล้ว ทักษะอนาคต (Future Skills) เหล่านี้ คงจะเป็นหนึ่งในแนวทางให้ท่านได้พิจารณาถึง New Year’s Resolution ในปีที่กำลังจะมาถึงเพื่อความสำเร็จที่จะตามมา …สวัสดีปีใหม่

ที่มา : คอลัมน์ Think foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ธัชรินทร์ วุฒิชาติ

การศึกษา : วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ และ วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมโลหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ประวัติการทำงาน :
วิศวกร ฝ่ายเทคโนโลยีการผลิตและฝ่ายขาย กลุ่มบริษัทเครือไทยยาซากิ
เจ้าหน้าที่ส่วนงานแผนและบริหาร โครงการรักษ์ป่า สร้างคน ๘๔ ตำบล วิถีพอเพียง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)
นักวิชาการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปัจจุบัน : ตำแหน่ง นักพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ