27 พฤศจิกายน 2016

%e0%b8%88%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b8%98%e0%b8%a3%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%84%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b8%88%e0%b8%b4%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a5

นับแต่ความสัมพันธ์ของมนุษย์สมัยใหม่เคลื่อนย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงต่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดไม่ถึง

ธุรกิจพลิกโฉมไปสู่รูปแบบใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ผู้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีมีความได้เปรียบ ผลิตภัณฑ์และบริการหลายชนิดหมดอายุโดยปริยายเพราะมีผลิตภัณฑ์และการบริการใหม่ที่ตรงใจมากกว่าเข้ามาแทนที่

โลกออนไลน์ทำให้ธุรกิจสามารถอ่านลูกค้าได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนคาดได้ถึงความต้องการที่แท้จริง การหาข้อมูลลูกค้าทำได้ง่ายดายเพราะเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลและความสามารถในการประมวลผล กรณีของพนักงานบริษัทธุรกิจมือถือเอาข้อมูลลูกค้าไปขายจนเกิดเป็นคดีความเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าข้อมูลชีวิตของแต่ละบุคคลไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป

ทั้งๆ ที่หลักการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance: CG) ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงการรักษาความลับของลูกค้า แต่การซื้อ-ขายข้อมูลลูกค้าก็ทำกันอย่างเปิดเผย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าหลักการดังกล่าวยังก้าวตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์

ในยุคดิจิตอล การไหลของข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ทุกอย่างในโลกเมื่อมีด้านบวกก็ย่อมมีด้านลบเสมอ *ข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมเข้ามาแต่ละวันในโลกไซเบอร์ประมาณ 38 tetra bytes ซึ่งเท่ากับหนังสือขนาดปกติ 40 ล้านเล่ม ไม่ใช่ข้อมูลที่มีประโยชน์ทั้งหมด และไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความจริงทั้งหมดอีกด้วย เพราะโลกไซเบอร์เป็นช่องทางการสื่อสารที่มีต้นทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมอย่างกว้างขวาง

และดูเหมือนว่าโลกไซเบอร์จะทำให้การสื่อสารมีเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อีกด้านหนึ่งด้วยระบบของตัวมันเอง ก็ทำให้ถูกควบคุม ตรวจสอบได้ง่ายดาย รวมถึงการลักลอบจารกรรมข้อมูล ทำลายข้อมูล ที่เรียกกันว่า Cyber Attack ข้อมูลจาก PwC 2015 Global State of Information Security 2015 ระบุว่า ในปี 2558 มีอาชญากรรมทางไซเบอร์เกิดขึ้นมากกว่า 117,000 ครั้งต่อวัน โดยองค์กรที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยวิเคราะห์ตรงกันว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวขึ้นจากการมีจำนวนผู้ใช้งาน ข้อมูล และอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจ Security Threat Report ปี 2556 ของ Sophos จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงเป็นอันดับ 3 ของโลก ในการถูกคุมคามทางไซเบอร์ รองจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศจีน โดยเมื่อพิจารณาประเภทการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย ได้รับแจ้งในระหว่างปี 2557 – เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโจมตี 4 ประเภท ได้แก่ การโจมตีด้วยโปรแกรมไม่พึงประสงค์ (Malicious Code) การฉ้อฉล ฉ้อโกงหรือหลอกลวงเพื่อผลประโยชน์ (Fraud) การบุกรุกหรือเจาะระบบได้สำเร็จ (Intrusions) และความพยายามจะบุกรุกเข้าระบบ (Intrusion Attempts)

จากสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรธุรกิจได้มีการทบทวนหลักการกำกับดูแลกิจการ หรือ CG ขององค์กรอย่างไร เพราะ CG คือหลักการเบื้องต้นในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ขององค์กร เป็นหลักการการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด นอกจากการดำเนินการตามกฎหมาย ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา เราจะเห็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจไทยเข้าสู่ Industry 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ในการสร้างสมรรถนะทางการแข่งขัน แต่ยังไม่เห็นมาตรการเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้านเทคโนโลยีที่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจต่อรูปแบบการบริการใหม่ๆ จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น การใช้พร้อมเพย์ ก็ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงถึงความปลอดภัยในการใช้

เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่ทำให้ต้นทุนลดลง ใช้เวลาน้อยลง มีความแม่นยำมากขึ้นในกระบวนการผลิตและบริการ ในขณะที่สังคมมีความซับซ้อนขึ้น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมก็มีการทับซ้อนในเชิงมิติมากขึ้น การปรับตัวขององค์กรธุรกิจจึงไม่ใช่เพียงการก้าวตามเทคโนโลยีเท่านั้น ความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและการให้บริการควรได้รับการทบทวน ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนมากกว่าเดิม

*ข้อมูลอ้างอิงจากบทความ “Data literacy:อ่านออกเขียนได้เชิงข้อมูล” โดย ร.ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศจาก : คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ > 26 กรกฎาคม 2559

ที่มา: คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น