26 มีนาคม 2024

รู้ก่อนระวังก่อน! สัญญาณเตือนสถาการณ์ความเสี่ยง องค์กรต้องรับมืออย่างไรให้อยู่รอด 

โดย ทัส จันทรี
ผู้ก่อตั้ง TAS Consulting Partner
 

ในปัจจุบัน แม้นวัตกรรมจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย แต่ธุรกิจกลับมีอายุสั้นลง ทุกวันนี้เพียงแค่คิดอะไรขึ้นมา ยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยว ก็มีสินค้าใหม่ๆ ผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะเข้ามารุกรานการทำธุรกิจในยุคนี้ อาจจะไม่ใช่ธุรกิจประเภทเดียวกัน แต่มีปัจจัยรอบด้านมากมายที่ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก 

 

💢 ปัจจัยความเสี่ยงที่คนทำธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญ และต้องรับมือให้ได้ 

เรื่องต่อไปนี้อาจเป็นปัญหาที่หลายคนมองข้ามและมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่มันกำลังคืบคลานเข้าใกล้ตัวมากขึ้นโดยไม่มีท่าทีจะสงบลง หลายธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมในหลายภาคส่วน ล้วนเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นความหวังในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  

 

สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather) 

‘สภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายลง และไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนอดีต ส่งผลกระทบไปทุกอุตสาหกรรม’ 

โลกอาจต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เช่น น้ำท่วม พายุ ไฟป่า และคลื่นความร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง

รับมืออย่างไร?
สร้างแนวทางในการรับมือวิกฤติการณ์นี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี หรือการใช้แนวทางความยั่งยืนมาบริหารจัดการปัญหาให้รอบด้าน พร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้พนักงานและสังคม 

 

ข้อมูลลวง (misinformation) 

‘ข้อมูลลวงกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเข้าใจผิดมากที่สุดในแวดวงธุรกิจ’ 

ในยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาลและต้องเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ความซับซ้อนของข้อมูลเท็จล้วนส่งผลกระทบร้ายแรงตั้งแต่ละระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ ซึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทั่วโลกต้องเตรียมรับมือ

รับมืออย่างไร? มีการกลั่นกรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา และมีวิจารณญาณในการรับสาร พร้อมป้องกันไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ถูกกระจายออกไป

 

ความขัดแย้งระหว่างรัฐ (Interstate conflict) 

‘ก่อให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก’ 

หลายรัฐที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าหรือส่งออกจากประเทศอื่น เมื่อเกิดปัญหาทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักและได้รับผลกระทบเป็นทอดๆ ไม่เพียงแต่ประเทศคู่ขัดแย้งเท่านั้น แต่ทั่วโลกต่างก็เผชิญปัญหานี้ร่วมกัน 

รับมืออย่างไร? ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายและหาทางแก้ปัญหา ในระยะยาวอาจต้องปรับใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานฟอสซิล เพื่อลดภาระค่าครองชีพ ลดการนำเข้าพลังงาน พร้อมผลักดันเศรษฐกิจหมุมเวียนอย่างจริงจัง 

 

สิ่งสำคัญที่ผู้นำองค์กรต้องทำหน้าที่ในภาวะวิกฤติ คือ การปรับตัวและรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ‘วิ่งให้ไว ปรับตัวให้เร็ว’ เตรียมความพร้อมบุคคลากรตั้งแต่เนิ่นๆ วางแผนรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงให้รัดกุม เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน 

 

⭕️ สัญญาณเตือนความเสี่ยงที่ทุกองค์กรต้องระวัง อย่าให้มีสัตว์ 3 ชนิด 

ทฤษฎีสัตว์ 3 ชนิด เป็นแนวคิดที่ช่วยให้ผู้บริหารและองค์กรเตรียมรับกับความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ รู้ก่อน ระวังไว้ ก็จะปลอดภัยกว่า ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในความเสี่ยงไหน สิ่งที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้ คือ ลงมือทำให้ไว หากล้มแล้วต้อง ‘รีบลุก’ หากรู้ปัญหาแล้วต้อง ‘รีบแก้ไข’ 

หงส์ดำ (Black Swan) 

‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่คาดคิด สุดท้ายก็เกิดขึ้น คล้ายภาวะวิกฤติที่องค์กรไม่เคยเตรียมรับมือ’ 

ในอดีตหงส์เป็นสัตว์ที่มีแต่สีขาว ไม่มีใครเคยพบเห็นหงส์ดำ จนเมื่อวันหนึ่งมันถูกค้นพบขึ้นมา โลกก็ต้องนิยามหงส์ดำลงไป เช่นเดียวกันกับการทำธุรกิจ แม้วันนี้องค์กรสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่น ยังไม่พบอุปสรรค ทำให้คาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ แต่ถ้ามีข้อมูลที่ดีและเพียงพอ จะสามารถประเมินความเสี่ยงได้  

แก้ปัญหาอย่างไร? การสำรวจและจำลองสถานการณ์ต่างๆ และอัพเดตข้อมูลอยู่เป็นประจำ หากเกิดเหตุการณ์ ‘หงส์ดำ’ ขึ้นมา แน่นอนว่าจะกระทบทั้งอุตสาหกรรม แต่ถ้าหากเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้าและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะอยู่รอด 

แรดเทา (Grey Rhino) 

‘เหตุการณ์ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้น แต่ถูกละเลย เช่นเดียวกับองค์กรที่ไม่เริ่มลงมือแก้ไขปัญหาตรงหน้า’ 

สิ่งที่มีสัญญาณเตือนมาเป็นระยะๆ แต่ผู้นำหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็มักจะละเลยหรือไม่สนใจ คล้ายกับแรดสีเทาตัวใหญ่ที่มีนอแหลมชี้พุ่ง เป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่อาจจะมีอันตราย แต่หลายครั้งก็มักจะถูกมองข้ามไป เช่นเดียวกับสิ่งที่รู้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น เนื่องจากมีการพูดถึงกันเยอะ แต่ไม่มีการ take action อย่างจริงจัง จนกระทั่งวันที่เกิดขึ้นจริง องค์กรอาจอยู่ไม่รอด เช่น สังคมผู้สูงอายุ หรือ โลกร้อน  

แก้ปัญหาอย่างไร? เตรียมวางแผนรับมือล่วงหน้า กำหนดแนวทางและวางกลยุทธ์อย่างรอบด้าน คิดค้นนวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมารองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น  

ช้างที่อยู่ในห้อง (Elephant in the room) 

‘ปัญหาที่แก้ไขได้ยาก ไม่มีใครอยากพูดถึง เหมือนองค์กรที่หลบเลี่ยงไม่กล้าเผชิญการเปลี่ยนแปลง’ 

จินตนาการภาพช้างตัวใหญ่ที่อยู่ในห้อง ปัญหาที่ว่านี้ เป็นตัวการทำให้บรรยากาศการทำงานย่ำแย่ บางที การหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงปัญหาที่แท้จริง ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก สิ่งนี้เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในองค์กรที่มีปัญหาแต่กลับมองข้ามไป 

แก้ปัญหาอย่างไร? องค์กรต้องเริ่มจากต้องทำให้ชัดเจนก่อน ว่ามี ‘ช้าง’ หรือ ‘ปัญหา’ อยู่จริงๆ จากนั้น วิเคราะห์ถึงสาเหตุ และคิดวิธีการแก้ไขโดยที่ผู้บริหารและพนักงานต้องสะสางร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล 

 

หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่การเดินตามเกมเดิมที่เคยเป็นไปมา ต้องเพิ่มการทำงานให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้นำต้องพร้อม ‘แก้ปัญหา’ องค์กรต้องพร้อม ‘ปรับตัว’ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืนในทุกสถานการณ์
 

ที่มา: จากงานสัมมนา Thailand Productivity Forum 2024 The Path to Sustainable Success  
อ่านบทความเพิ่มเติม👉 คลิก
รับชมย้อนหลัง👉 คลิก
หลักสูตรอบอรมที่เกี่ยวข้อง👉 คลิก




Writer