12 มกราคม 2023

ปลดล็อกความคิด ด้วยแนวคิด 5 แบบ

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร

 

บางครั้งการยึดติดกับแนวคิด วิธีการ และกฎกฏิกาเดิมๆมากไป ก็อาจส่งผลเสีย ผลกระทบได้เช่นกัน แม้ในอดีตอาจจะไม่เห็นชัดนัก แต่ในทศวรรษที่ผ่านมาที่ทั้งโลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ยุคทันสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลจนเกิดปรากฏการณ์ที่หลายองค์กรต้องขยับขับเคลื่อนองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) และต้องพร้อมปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้โครงสร้างและการทำงานภายในขององค์กรสอดรับกับยุคสมัย แนวโน้มโลก และความต้องการใหม่ๆของตลาดและลูกค้า ระหว่างเส้นทางที่ไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดหู เปิดตา และเปิดใจ รับรู้รับฟังสิ่งใหม่ๆ นำมาพินิจพิจารณา วิเคราะห์ และนำมาปรับเปลี่ยนกฎกติกา กรอบการทำงานเดิมบ้าง อาจทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทางได้ง่าย ได้เร็วกว่า

สำหรับองค์กรในไทยเพียงเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้คิด และแสดงออกซึ่งความคิด มากกว่าแค่การทำตามสั่งหรือทำตามกฎที่เข้มงวดมากเกินไป นอกจากทำให้ได้ไอเดียใหม่ ยังเปิดกว้างให้ได้ไอเดียมากด้วย สำหรับเนื้อหาของบทความครั้งนี้เป็นการสรุปสาระสำคัญบางส่วนมาจาก หลักสูตรฝึกอบรมและสัมมนา หัวข้อ “Five Thinks in The Thinking Process” ที่ผู้เขียนเป็นวิทยากร และถือเป็นหลักสูตรปูพื้นฐานสำหรับคนทำงานทุกคน ทุกตำแหน่ง และทุกระดับชั้น ที่จะได้เห็นภาพรวมของการทำงานของสมองของคนเรา ที่แบ่งแยกกระบวนการคิดให้สอดคล้องเหมาะสมกับเรื่องที่ต้องการจะทำ อีกทั้งยังร้อยเรียงเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดทั้ง 5 แบบ ก่อนจะนำไปปรับประยุกต์ใช้ในระดับขั้นกลางและขั้นสูงของประเด็นที่ซับซ้อนมากขึ้นต่อไป

ตามความรู้ความเข้าใจของทุกคนในปัจจุบัน คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากระบวนการคิดของมนุษย์ทุกคนเกิดจากอวัยวะที่สำคัญที่เรียกว่า สมอง (Brain) แต่ด้วยความที่ผู้เขียนเองก็ไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่นักชีววิทยา จึงพยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบของเซลในส่วนต่างๆที่ประกอบกันเป็นก้อนสมองที่อยู่ในศีรษะของเราทุกคน ตลอดจนกลไกหรือกระบวนการทำงานในส่วนต่างๆ และก็พบเรื่องชวนสงสัยเกี่ยวกับสมอง อาทิ

 

อย่างไรก็ตามถ้าตัดเอาส่วนของวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของสมองออกไป อาจอธิบายง่ายๆในเชิงความสัมพันธ์กับกระบวนการคิดที่มักจะใช้อ้างอิงกันในด้านการจัดการองค์กรและการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเราคงเคยได้ยินหรือได้อ่านมาบ้างว่า สมอง แบ่งออกได้เป็น 2 ซีกคือ ซีกซ้าย (เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับตรรกะ การใช้เหตุและผล ความเชื่อมโยง ความจริง และสิ่งที่เป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติที่อธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์)  และซีกขวา (เป็นส่วนของจินตนาการ การสร้างสรรค์ ความฝัน และศิลปะที่สามารถตีความได้หลากหลายขึ้นอยู่กับผู้มอง)

 

แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการทำงานในองค์กรและการใช้ชีวิตของคนในสังคม ขออธิบายให้เห็นถึงกลไกการทำงานของสมองโดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน กับอีก 1 การบูรณาการ หรือ 5F ดังรูปที่ 1 จะเห็นว่าสมองซีกซ้ายจะประกอบด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อมูลความจริง (Fact) และสิ่งที่ปรากฎให้เห็นตรงหน้า ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลความจริงที่ได้มาประมวลผลและจัดให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถจัดเก็บ เรียกใช้ และทำความเข้าใจได้ง่าย (Form) และสมองซีกขวาจะประกอบด้วย ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้หรือความรู้สึก (Feeling) ไม่ว่าจะเป็นการรัก ชอบ โกรธ หลง หรือการแสดงออกซึ่งความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ ความประทับใจ หรือความซาบซึ้งใจต่อสิ่งที่รับรู้หรือสัมผัสอยู่ตรงหน้า และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่เป็นจริงในปัจจุบัน สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเป็นความคาดหวังที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ (Future) โดยเมื่อรวมเอาทุกส่วนของสมองเข้าด้วยกันเพื่อที่จะคาดการณ์อนาคตที่ไกลมากๆหรือสิ่งที่ยังไม่มีใครตอบได้ว่าจะเป็นอะไร จะเกิดขึ้นหรือไม่ จะเกิดขึ้นแบบใด เรียกว่า Foresight

เมื่อนำมาอธิบายขยายความเชื่อมโยงกับกระบวนการคิด (Thinking Process) ที่เรานำมาใช้กันหรือมีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและความสามารถที่สูงขึ้นในการทำงาน นำไปสู่แนวคิด 5 แบบ ดังรูปที่ 2 ซึ่งถือเป็นกระบวนการคิดพื้นฐาน เมื่อมีการพัฒนาและใช้งานอย่างต่อเนื่องซ้ำจนมีความชำนาญก็จะแปลงสภาพกลายเป็นทักษะในที่สุด ซึ่งแน่นอนแต่ละคนก็จะมีทักษะความสามารถในการใช้แนวคิดแต่ละแบบแตกต่างกันขึ้นกับบริบทสภาพแวดล้อมและความถี่บ่อยในการใช้งาน โดยในตอนเด็กพัฒนาการของสมองก็จะเป็นไปแบบสมดุล แต่เมื่อเติบโตขึ้นคนส่วนใหญ่ก็จะมีพัฒนาการด้านการคิดวิเคราะห์และใช้เหตุผลมากขึ้น และถือเป็นส่วนสำคัญเพราะทำให้สังคมและองค์กรต่างๆสงบสุขอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ในขณะเดียวกันบางคนก็มีจินตนาการกว้างไกลไร้ขอบเขต นั่นจึงทำให้เรามีความแตกต่างหลากหลายและสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้อย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน

 

    แนวคิดพื้นฐานทั้ง 5 อย่างนั้นประกอบด้วย   

Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นแนวคิดที่ใช้กันมากที่สุด โดยกระบวนการคิดนี้จะต้องใช้วัตถุดิบที่สำคัญคือ ข้อมูลความจริง (Fact) เท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่เราต้องการรู้ว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมาจากเหตุหรือสาเหตุใด การวิเคราะห์ในลักษณะนี้จะถูกนำมาใช้ โดยมากมักจะมาหลังจากเกิดปัญหาหรือสิ่งผิดปกติจากหน้าที่การทำงานพื้นฐาน (Functions) ของสิ่งนั้นๆ ที่เราคุ้นเคยกันก็คือการใช้หลักการตั้งคำถาม 5W1H คือ What Where When Who และ Why โดย Why จะมีความสำคัญอย่างที่สุด ถ้าจะให้ได้เหตุที่แท้จริง อาจจะต้องถาม Why ลงลึกลงไปหลายๆครั้ง หรือที่เรียกเทคนิคนี้ว่า Five Whys นั่นเอง

Creative Thinking หรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ เป็นแนวคิดที่ออกไปจากกรอบความคิดเดิม หรือสิ่งที่เรารู้จักพบเห็นกันเป็นประจำ เป็นการคิดเพื่อสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น โดยมักเริ่มด้วยการปฏิเสธสิ่งเดิมเพื่อจะเป็นการเริ่มต้นค้นหาสิ่งใหม่ และมักจะเรียกความคิดเริ่มต้นนี้ว่า Initiative หรือความคิดริเริ่ม ซึ่งเมื่อต่อยอดหรือคิดต่อด้วยเทคนิคการระดมสมอง (Brainstorming) ที่ใช้ทั้งจินตนาการและแรงบันดลใจ สำหรับคนทั่วไปที่มักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่มีอยู่เดิมหรือรู้สึกสบายกับสถานะที่เป็นอยู่ การออกจาก Comfort zone จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปมักจะทำกัน การสร้างความแตกต่าง อาทิ สีสัน รูปทรง วัสดุที่ใช้จนกลายเป็นรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย นิทานหรือนิยายที่แต่งขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจบันเทิง เพลง ภาพยนตร์ อาจเรียกรวมสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนี้ว่า Fashion และมันคงไม่เกิดขึ้นถ้าขาดแนวคิดนี้

Innovative Thinking หรือการคิดเชิงนวัตกรรม เป็นแนวคิดที่ก้าวล้ำไปในอนาคต ที่สำคัญมันไม่ได้แค่ความแปลกใหม่จากรูปลักษณ์ภายนอกในเชิง Fashion เท่านั้น หากแต่มันยังล้ำสมัยหรือใส่ Function ที่มีความก้าวกระโดดไปจากเดิมอย่างมากมาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลูกค้าในอนาคต (Future) แต่เป็นอนาคตที่กำลังมา เป็นจริงได้ และไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีใครซักคนคิดว่า “ผมไม่อยากใช้โทรศัพท์ที่มีสาย” เพราะมันไม่สะดวก พกพาหรือไปใช้งานที่ไหนไกลๆไม่ได้ เราคงไม่มี Wireless Phone หรือ Mobile Phone โทรศัพท์แบบมีสายตามบ้านคงไม่ลดน้อยลงไป หรือตู้โทรศัพท์สาธารณะคงไม่หายไป ถ้าไม่มีใครซักคนคิดว่า “ผมจะสร้างโทรศัพท์ที่ไม่มีปุ่ม” เราคงไม่เห็น Smart phone ที่เป็นระบบสัมผัสและมีขีดความสามารถบางอย่างไม่ต่างจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ และมีอีกหลายสิ่งมากมายที่เกิดขึ้นจากคำถามที่ว่า What If

System Thinking หรือการคิดเชิงระบบ ถ้าแนวคิดเชิงนวัตกรรมเกิดขึ้นจากการต่อยอดแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ของสมองซีกขวา การต่อยอดแนวคิดเชิงวิพากษ์ของสมองซีกซ้าย การจัดระเบียบของข้อมูลความจริง (Form หรือFormulate) การประมวลผลจากข้อมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ การแสดงผลเป็นกราฟ เป็นตาราง เป็นสัญลักษณ์ต่างๆที่สามารถสรุปหรือทำความเข้าใจได้ในทันที รวมถึงการจัดระบบโครงสร้างทางสังคม การจัดวางโครงสร้างองค์กร การออกแบบจัดวางสิ่งต่างๆเพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน ถือว่าเป็นแนวคิดเชิงระบบ และมักจะมาพร้อมกับการจัดวางโครงสร้าง (Structure) ที่ชัดเจน อาทิ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ภาษาเชิงโครงสร้าง (Object Oriented Program – OOP) การจัดทำโครงสร้างองค์กร (Organization Structure) แบบต่างๆที่มีการแบ่งแผนก/ฝ่ายและหน้าที่การทำงาน รวมไปถึงการออกแบบระบบ กลไก และกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process)

Strategic Thinking หรือการคิดเชิงกลยุทธ์ เป็นแนวคิดที่ไม่ได้ถูกใช้งานบ่อยเหมือนแนวคิดก่อนหน้านี้ทั้ง 4 แบบ แต่เป็นแนวคิดที่บูรณาการใช้ในการวางแผนเพื่อจะให้แน่ใจว่าการก้าวเดินไปในอนาคตจะถูกคิดถึงสถานการณ์ เหตุการณ์ ความเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่ไม่คาดฝันว่าจะเกิดขึ้น การมองไปข้างหน้าไกลๆและคาดการณ์ถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ (Foresight) ความเสี่ยงและผลกระทบ ตลอดจนแนวทางการรับมือในแต่ละเหตุการณ์เป็นสิ่งที่ต้องทำในกระบวนการคิดแบบนี้ ทางเลือกทางรอดหรือสิ่งที่อยากจะทำ จะรวมอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า ฉากทัศน์ (Scenarios) จึงไม่แปลกที่องค์กรชั้นนำ องค์กรที่มีความสามารถการแข่งขัน องค์กรที่กำลังพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน จึงไม่ใช่แค่มีวิสัยทัศน์เท่านั้น หากแต่ต้องมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ (Strategic plan) เพื่อเป็นแนวทางให้กับทุกหน่วยงานในองค์กร ยึดถือปฏิบัติเพื่อจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้

จากแนวคิดพื้นฐานของกระบวนการคิดทั้ง 5 แบบดังกล่าวข้างต้น สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในองค์กรได้ดีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถตลอดจนประสบการณ์ที่หลากหลายของแต่ละคน เมื่อผ่านกรณีศึกษา(ปัญหาหรือความต้องการ)จะทำให้เกิดทักษะในแต่ละกระบวนการคิดนั้นๆ แต่กระนั้นแนวคิดทั้ง 5 แบบ ยังมีการใช้แบบผสมผสานหรือร่วมกันด้วย และเกิดพัฒนาการของกระบวนการคิดในขั้นกลางและขั้นสูง จนกลายเป็นหลักสูตรฝึกอบรมหลายๆหลักสูตรที่เราอาจเคยได้เห็นหรือบางคนอาจเคยได้เข้าร่วมอบรมแล้วซี่งจะมาอธิบายขยายความในโอกาสต่อไป

 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร