22 มีนาคม 2020

การใช้เทคโนโลยี และ Lean Automation

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี
Lean and Productivity Consultant / Trainer
Kritchai.a@gmail.com

 

เทคโนโลยี สามารถแก้ปัญหาการผลิตได้ทุกอย่างหรือไม่?

ผมได้มีโอกาสไปโรงงานสัตว์ปีกแห่งหนึ่ง ธุรกิจคือการรับสัตว์ที่ยังมีชีวิตจากฟาร์ม ป้อนเข้าโรงงานเพื่อแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ

ปัญหาที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่และต้องการแก้ไขคือ การตายของสัตว์ก่อนกระบวนการเข้าเชือด ปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 0.1% ของจำนวนที่เข้ามาในโรงงานทั้งหมด

ตัวเลขฟังดูเหมือนไม่มาก แต่มูลค่าความเสียหาย คิดได้เป็นหลายแสนบาทต่อเดือน หรือ หลายล้านต่อปี เพราะสัตว์ที่ตายก่อนนั้น ต้องถูกคัดแยกออกมาไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการปกติได้ ราคาตกไปเยอะครับ

ขั้นตอนตามปกติคือ เมื่อรถสิบล้อขนส่งมาถึง จะเข้าไปจอดรอขนถ่ายสัตว์เข้าโรงงาน หากมีคันอื่นจอดรออยู่ก่อน ก็ต้องรอตามคิว

สาเหตุการตายเกิดจากความร้อนสะสมในตัว (Heatstroke) ที่มาจากตัวสัตว์เองที่อยู่ในกรงบนรถ รวมถึงความร้อนจากภายนอกด้วย ดังนั้น อัตราการตายจะสูงเป็นพิเศษในช่วงบ่ายและฤดูร้อน

เมื่อลองถามทำไมซ้ำๆ หรือที่รู้จักกันในชื่อ
5 Whys หรือ Why-Why Analysis ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น คำตอบคือ

ทำไมสัตว์จึงตาย
เพราะ ความร้อนสะสมในตัว

_____

ทำไมเกิดความร้อนสะสมในตัว
พราะ อากาศร้อนเกินไป

_____

ทำไมอากาศร้อน
เพราะ การระบายอากาศไม่เพียงพอ และ การลดอุณหภูมิด้วยน้ำไม่เหมาะสม

_____

ทำไมกระบวนการลดอุณหภูมิไม่ดี
เพราะ พนักงานไม่ใช้งานพัดลมและเครื่องฉีดน้ำอย่างเหมาะสม

_____

ทำไมพนักงานทำงานไม่เหมาะสม
เพราะ ขาดจิตสำนึก

ทางโรงงานมีแนวคิดในการปรับปรุงโดยการนำ ระบบอัตโนมัติมาควบคุมแทนพนักงาน ติด Sensor วัดอุณหภูมิและความชื้นในพื้นที่จอดรถ จากนั้นเขียนโปรแกรมสั่งการเปิด-ปิดพัดลม และ เครื่องฉีดน้ำอัตโนมัติ

Sensor ที่เชื่อมต่อกับระบบ Internet ทำให้หัวหน้างาน ผู้บริหาร หรือผู้เกี่ยวข้องอื่น สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด จากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ จากที่ใดก็ได้

รวมถึงการสร้าง ระบบแจ้งเตือน ผ่าน e-mail หรือ Application เช่น Line เข้ามายังอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ได้ทันที ข้อมูลที่มีบนระบบ สามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงต่อยอดได้ด้วย

หากท่านเป็นผู้จัดการโรงงานแห่งนี้ พอใจกับแผนการปรับปรุงพัฒนานี้แล้วหรือยังครับ?
ความสูญเสียจากการรอคอย

ในแนวคิดของ Lean คือ การขจัดความสูญเสียที่แทรกอยู่ในกระบวนการ ความสูญเสียสำคัญที่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นปัจจัยที่ควรพิจารณาอย่างมาก คือ การรอคอย

คำตอบของ “ทำไม” ข้างต้น อาจเปลี่ยนไปเป็นอีกรูปแบบเช่นนี้

ทำไมเกิดความร้อนสะสมในตัว
เพราะ การรอคอยเข้าโรงงาน

_____

ทำไมมีการรอคอยเกิดขึ้น
เพราะ มีรถเข้ามาในเวลาใกล้เคียงกัน

_____

ทำไมรถเข้ามาใกล้เคียงกัน
เพราะ ไม่มีการจัดระบบกำหนดการรถเข้าโรงงาน และ Logistics ที่ดี

_____

ผมได้สอบถามทางโรงงานว่า เวลารอคอยเข้าโรงงานไม่ควรเกินเท่าใด คำตอบที่ได้รับคือ 30 นาที หรือสูงสุดไม่ควรเกิน 60 นาที

ในวันนั้นสังเกตว่า มีรถ 2 คัน บรรทุกสัตว์เต็มคันรถ รอคิวเข้าโรงงานอยู่ โดยคันหลังมาถึงเวลา 10.20 น. นอกจากนั้น ยังมีสัตว์ที่ขนย้ายลงจากรถมาแล้วอีกจำนวนหนึ่ง ที่รอลำเลียงเข้าประบวนการด้วย ทั้งหมดนี้คือการรอคอยทั้งสิ้น

หลังจากการพูดคุยทดลองติดตั้งระบบ Sensor แล้วเสร็จประมาณ 12.30 น. สัตว์ในรถคันที่สองพึ่งเริ่มถูกส่งเข้ากระบวนการ ซึ่งประมาณได้ว่าสัตว์ตัวสุดท้ายของคันรถนั้น จะเข้าสู่กระบวนการในโรงงานได้หมด เวลาบ่ายโมง หรือการรอคอยเท่ากับ 2 ชั่วโมง 40 นาที!

หากมองให้กว้างขึ้น เวลาข้างต้นยังครอบคลุมไม่หมด เพราะต้องรวมเวลาตั้งแต่สัตว์ถูกขนย้ายขึ้นรถบรรทุก รอคอยรถออกจากฟาร์ม จนกระทั่งการขนส่งมาถึงที่นี่ด้วย ซึ่งเวลาจะเพิ่มขึ้นไปอีกมาก

______

Lean Automation

______

หลักการสำคัญหนึ่งในระบบ Lean คือ “Flow” กระบวนการทำงานที่ไหลอย่างต่อเนื่องไม่ติดขัด Inventory หรือ งานระหว่างกระบวนการเกิดขึ้นน้อยที่สุด เวลารอคอยก็จะถูกตัดไปโดยอัตโนมัติด้วย

มีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิผลสูงสุด คือ ไม่ต้องมี Inventory ให้จัดการ เพราะการจัดการ Inventory เป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างมูลค่า (Non Value-Added)

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญปรับปรุงก่อนคือ การจัดการ Logistics เพื่อให้เวลาทั้งหมดสั้นที่สุด

ภาพในอุดมคติ คือ จัดการสัตว์ขึ้นรถขนออกจากฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ วิ่งมาโรงงานด้วยระยะเวลาสั้นที่สุด เมื่อรถมาถึงก็ขนย้ายกรงสัตว์ลงทันที ตามหลัก FIFO (First In First Out) สัตว์ที่ขึ้นรถก่อนถูกขนย้ายก่อน เข้ากระบวนการของโรงงานทันที

______

Denso

______

บริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ได้ทำโครงการความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการผสมผสานแนวคิด Lean และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรม 4.0 ใช้ชื่อว่า “Lean Automation” พร้อมกับเสนอแนวคิดว่า การปรับปรุงพัฒนาสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้คือ

ในขั้นแรก

เป็นการจัดการเพื่อขจัดความสูญเสียในกระบวนการ ทำให้เกิดเป็น “Lean Manufacturing” ในขั้นตอนนี้จะไม่เน้นการลงทุน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานในกระบวนการเป็นหลัก หรือจะกล่าวว่าต้องขจัด Waste ก่อนทำ Automation ก็ได้

ขั้นตอนถัดมา

คือการเริ่มเอาระบบ Automation เข้ามาทดแทนพนักงานในบางส่วน (Semi-Automation) กระบวนการทำงานจะเป็นการผสมผสานระหว่างการทำงานโดยคนและเครื่องจักร “Human-Machine Collaboration”

นอกจากนั้นยังพิจารณาไปถึง งาน Logistics ทั้งขาเข้าคือการป้อนวัตถุดิบเข้าในกระบวนการ และ ขาออกคือการนำผลิตภัณฑ์ออกจากกระบวนการด้วย

ในขั้นสูงสุด เป็นระบบการผลิตที่ปราศจากความสูญเสีย ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติโดยสมบูรณ์ “Full Automation” หรือ Lean Automation

นอกจากระบบการผลิตโดยอัตโนมัติทางกายภาพแล้ว จะรวมไปถึงการเชื่อมต่อระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT.) ของกระบวนการ เข้ากับระบบการบริหารจัดการการผลิตด้วย (Cyber-Physical Systems)

ดังนั้น คำตอบของคำถามเปิดเรื่อง “เทคโนโลยี” เป็นคำตอบเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ต้องมีการปรับปรุง “กระบวนการ” ให้ดีขึ้น โดย “คน” ซึ่งเป็นผู้เลือกใช้เทคโนโลยีครับ

 




Writer

โดย กฤชชัย อนรรฆมณี

Lean and Productivity Consultant