18 กุมภาพันธ์ 2019

อาชีพที่สอง

 

ถ้าคุณรู้มาว่าพนักงานบัญชีในบริษัท ทำอาชีพเสริมโดยทำคุกกี้ขายออนไลน์ ความคิดของคุณคืออะไร

  • ขยันดี น่าชื่นชม
  • พักผ่อนไม่พอ จะทำงานมีคุณภาพหรือเปล่า
  • แอบเอาเวลางานไปขายคุกกี้บ้างหรือเปล่า ฯลฯ

บทความจากงานวิจัยของ Henley Business School ประเทศอังกฤษ นำเสนอแนวโน้มใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือการทำอาชีพที่สองหรืออาชีพเสริมของคนทำงานองค์กรที่มีผลดีมากกว่าผลเสีย และมีส่วนสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมถึง 20%

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก้าวไปเท่าๆ กับความเร็วของอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เคยใช่กับไม่ไช่ และสิ่งที่ไม่ใช่กลายเป็นสิ่งที่ใช่ เช่น การทำการบ้านของเด็กนักเรียนที่เคยเชื่อว่าเป็นการฝึกฝนให้เด็กมีความเก่งในวิชานั้นๆ มากขึ้น โรงเรียนหลายแห่งในสหรัฐกำลังพิจารณายกเลิก โดยมีผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาสนับสนุนว่าการทำการบ้านไม่ได้ส่งผลดีต่อการเรียน แต่กลับทำให้เด็กมีเวลาพักผ่อนน้อยลง รวมทั้งลดทอนเวลาที่จะใช้ในกิจกรรมของครอบครัวด้วย

เช่นเดียวกัน อาชีพเสริมของคนทำงานซึ่งเคยต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ กลายเป็นแนวโน้มใหม่ที่ได้รับการสนับสนุน ด้วยเหตุผลหลักประการหนึ่งก็คือ อาชีพเสริมมีส่วนสร้างแรงบันดาลใจ ความกระตือรือล้นในชีวิตคนทำงานให้มากขึ้น จากการทำงานประจำที่ซ้ำซากจำเจ ปรากฏการณ์อีกด้านก็คือคนทำงานเจน Y ต้องการเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น มีความสมดุลในการใช้ชีวิต และยุคดิจิตอลก็ช่วยให้การทำงานใช้เวลาน้อยลง และยังทำให้การทำธุรกิจเล็กๆ ซึ่งเป็นอาชีพเสริมทำได้ง่ายขึ้นด้วยในตลาดออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่อย่างไม่มีขีดจำกัด

งานวิจัยดังกล่าวทำการเก็บข้อมูลในองค์กรธุรกิจของประเทศอังกฤษ ปัจจุบันพนักงาน1 ใน 4 มีอาชีพมากกว่าหนึ่งอาชีพ ซึ่งมาจากความชอบส่วนตัว เช่น เป็นเทรนเน่อร์ในฟิตเนส ทำงานฝีมือขายทางออนไลน์ กระแสดังกล่าวขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังเติมเต็มคุณค่าในชีวิตที่ได้ทำในสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจอีกด้วย

ดังนั้น จึงมีการนำเสนอให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจสนับสนุนให้พนักงานมีอาชีพเสริมจากงานประจำ ผู้บริหาร 60 % เห็นด้วยว่าการมีอาชีพที่สองทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น และยังมีส่วนในการพัฒนาทักษะในการทำงานที่องค์กรไม่ต้องลงทุน คาดว่าในปี 2030 จะเป็นยุคสมัยของพนักงานที่เป็นผู้ประกอบการไปพร้อมกัน 25 % ของพนักงานที่ทำอาชีพเสริมในปัจจุบัน จะยังคงดำเนินธุรกิจเล็กๆ ของตนเองต่อไป HR ขององค์กรคงต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และมีมุมมองในเชิงสร้างสรรค์

แน่นอนว่าสำหรับเจ้าของกิจการย่อมมีความกังวลต่อผลปฏิบัติงานของพนักงานที่มีสองอาชีพในเวลาเดียวกัน และกังวลถึงการนำเอาเวลาและทรัพยากรขององค์กรไปใช้ รวมทั้งการสูญเสียพนักงานดีเด่นเมื่อพวกเขาสามารถทำธุรกิจเล็กๆ ไปได้อย่างมั่นคง จึงยังไม่มีนโยบายสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ยอมรับในแนวโน้มนี้ ซึ่งคณะนักวิจัยนำเสนอว่าผู้บริหารสามารถคาดหวังผลปฏิบัติงานที่เป็นเลิศจากพนักงานกลุ่มนี้ได้ โดยการมีข้อตกลงร่วมกันอย่างชัดเจน ในการวัดและประเมินปฏิบัติงาน จากการสัมภาษณ์พนักงานที่ทำธุรกิจเสริมจากงานประจำ ส่วนใหญ่มีความสุขในการทำงานมากขึ้น และบอกว่ายังคงต้องการทำงานในองค์กรอยู่ต่อไป และหากองค์กรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำงานที่สนใจ หรืองานที่สร้างรายได้เพิ่ม ก็ยิ่งเพิ่มความผูกพันต่อองค์กรมากขึ้น

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ระหว่างนายจ้างและพนักงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสมควรถนอมรักษาเอาไว้ และไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้เพียงชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะกับพนักงานดาวเด่น ความไว้วางใจซึ่งกันและกันแสดงออกด้วยการปฏิบัติที่ถูกต้องเป็นที่ยอมรับด้วยกันทั้งสองฝ่าย นั่นคือกรอบการทำงานรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิผล และมีขอบเขตของอิสรภาพรวมอยู่ด้วย ทั้งสองฝ่ายต่างเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับในเวลาเดียวกัน

คานงัดหรือตัวช่วยในเรื่องนี้ก็คือการสร้างวัฒนธรรมผลิตภาพในองค์กร จากการศึกษาในหลายองค์กรพบว่าความสุขนำมาซึ่งผลสำเร็จ ดังนั้นทีมงานบริหารทรัพยากรบุคคลควรพยายามสร้างความสุขให้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการทำงานที่สร้างผลิตภาพไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรในประเทศใด คนทำงานก็ต้องขับเคลื่อนด้วยแรงบันดาลใจ ผู้ที่ทำในสิ่งที่รักย่อมเป็นคนที่ใครๆ ก็อยากทำงานด้วย เพราะเขาจะส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรอบข้างต่อไป

ถึงแม้ว่าการมีอาชีพที่สองยังไม่ได้รับการยอมรับในบริบทองค์กรไทยในขณะนี้ แต่ใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะมีองค์กรธุรกิจไทยแห่งหนึ่งคือเครือเบทาโกรที่ผู้บริหารระดับสูงสนับสนุนให้พนักงานมีอาชีพที่สอง ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการค้นหารูปแบบที่ลงตัวสำหรับพนักงานและองค์กรเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง : https://assets.henley.ac.uk/defaultUploads/PDFs/news/Journalists-Regatta-Henley_Business_School_whitepaper_DIGITAL.pdf?mtime=20180703154430&_ga=2.243083594.978326745.1530786698-758706742.1530786698




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น