20 มกราคม 2019

ในปี 2562 กระบวนการประชาธิปไตยของโลกจะส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคน เพราะจะมีการเลือกผู้นำประเทศคนใหม่ใน 62 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบครึ่งโลกจะมาลงคะแนนเพื่อเลือกผู้นำของเขา กิจกรรมการเมืองเหล่านี้มีผลกระทบหลายด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ข้อตกลงทางการฑูตและการทหารระหว่างประเทศไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลและการออกนโยบายของแต่ละประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะสร้างความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนให้กับโลกอย่างมหาศาล

การเลือกตั้งของประเทศที่น่าจับตามองในปี 2562

Created with mapchart.net

สำหรับการเลือกตั้งที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด น่าจะหนีไม่พ้นการเลือกตั้งของอินเดียในช่วงเดือนเมษายน เนื่องจากมีขนาดประชากรกว่าพันล้านคน และการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป (European Parliament) ของ EU ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณถึงท่าทีและบทบาทของโลกตะวันตกที่จะมีต่อประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เชื่อว่าทั้งสองเหตุการณ์นี้จะเป็นปัจจัยที่พลิกโฉมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจของโลกเพราะเกี่ยวข้องกับประชากรของโลกเกือบ 2 พันล้านคน

นอกจากเหตุการณ์ประชาธิปไตยใน 2 พื้นที่นี้แล้ว ก็ยังมีการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศขนาดกลางอีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไทย, ไนจีเรีย, อินโดนีเซีย, อัฟกานิสถาน, ฟิลิปปินส์, แอฟริกาใต้, ญี่ปุ่น, แคนาดา, อาร์เจนตินา, โปแลนด์, ออสเตรเลีย และโรมาเนีย ซึ่งมีพลเมืองรวมกันประมาณพันล้านคน นี่ยังไม่รวมการเลือกตั้งของประเทศอย่าง ฟินแลนด์, สโลวาเกีย, เนเธอร์แลนด์, เบลเยี่ยม, ลิธัวเนีย, แลตเวีย, โบลิเวีย,  เฮติ, กรีซ, โครเอเชีย และตูนิเซีย ที่แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็มีบทบาทสำคัญที่ไม่สามารถจะมองข้ามไปได้

ในขณะที่พรรคการเมืองของแต่ละประเทศหาเสียงและคิดนโยบายใหม่ๆ เพื่อเรียกคะแนน การนำเสนอทิศทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความไม่แน่นอนในนโยบายด้านต่างๆ และในท้ายที่สุด ส่งผลทำให้เกิดความผันผวนของตลาดโลกอย่างรุนแรง จนทำให้มองว่าปี 2562 จะกลายเป็นแหล่งทำเงินสำหรับบรรดานักเก็งกำไรไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ไปจนถึง ตราสารหนี้ และหุ้น

สถานการณ์ทางการเมืองของทั้ง 62 ประเทศที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ จะเป็นเหมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาถึงผลกระทบของเศรษฐศาสตร์และการเมืองของประเทศต่างๆ ที่ขยายวงออกไปภายนอกประเทศ ปี 2562 จึงเป็นปีที่บรรดานักวิเคราะห์เชิงสังคมศาสตร์จะได้ทดสอบสมมติฐานที่พวกเขาได้คาดการณ์ไว้ถึงระเบียบใหม่ของโลก

โลกจะสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่โลกเสรีอย่างแท้จริงที่หลุดพ้นจากการครอบงำโดยกลุ่มชนชั้นสูงและให้ความสำคัญกับคนส่วนใหญ่ ได้หรือไม่? โลกจะก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการปกป้องตนเอง มองผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก หรือจะถึงเวลาของการมองผลประโยชน์สาธารณะ มีการเปิดเสรีการค้า สร้างการค้าที่เป็นธรรม ร่วมกันแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายของโลก?

หรือ….จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เราคงจะเริ่มเห็นเค้าลางของคำตอบในกลางปีนี้และจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนปีใหม่หน้าแน่นอน

แหล่งข้อมูล

เรียบเรียงจาก Why elections in 2019 will tell us if it’s time for a new world order, Gautam Chikermane, World Economic Forum (published in collaboration with the Observer Research Foundation), 2 Jan 2019

 




Writer

โดย ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ