27 เมษายน 2020

Innovation Management มิติใหม่ของการจัดการ

โดย คุณจำลักษณ์  ขุนพลแก้ว
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้าน Innovation  สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

เมื่อนึกถึงคำว่า “นวัตกรรม” หรือ Innovation กับความเข้าใจในนิยามและความหมายของแต่ละคน อาจจะแตกต่างหลากหลายกันไป แม้แต่หนังสือต่างประเทศมากมายก็อธิบายได้ไม่เหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีการแบ่งประเภทของนวัตกรรมแยกย่อยลงไปอีก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้เขียนหรือผู้อธิบายจะให้น้ำหนักหรือมีวัตถุประสงค์เช่นไร แต่ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นคำที่ฮิตติดลมบนไปแล้วในยุคนี้ และเมื่อใดที่คนนึกถึงอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความคิด วิธีการ หรือสิ่งของ ก็มักจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นนวัตกรรม หรือนวัตกรรมใหม่ (ใหม่ซ้อนใหม่)

บางตำราหรือกูรูก็อธิบายว่านวัตกรรมเป็นขั้นตอนกระบวนการที่ดำเนินการต่อเนื่องกันตั้งแต่ กระบวนการคิดสิ่งใหม่ (Ideation) กระบวนการบ่มเพาะ (Incubation) เพื่อคิดค้นทดลองจนพบสิ่งที่ต้องการ และกระบวนการนำไปใช้ให้เกิดผล (Implementation) ก่อให้เกิดการยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ผมชอบสไตล์การใช้คำลักษณะนี้ตรงที่จำง่ายดี มีคำสำคัญ (key word) ที่ขึ้นต้นด้วย “I” เหมือนกันทุกตัว

บางตำราหรือกูรูบางคนก็ใช้ตัว “I” ในการอธิบายให้ง่ายเช่นกัน แต่ให้น้ำหนักหรือจุดมุ่งเน้นไปที่ตัวองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมากกว่ากระบวนการ โดยประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ  ความคิดใหม่ (new Ideaซึ่งความคิดใหม่นี้อาจจะมีการจัดแบ่งระดับของความใหม่ตามขอบเขตที่กำหนดลงไปได้อีก ความก้าวหน้าของความรู้ที่เกิดขึ้น (Innovative step) นั่นคือมีวิทยาการหรือกรรมวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยมีคนค้นพบมาก่อน  ผลกระทบหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมโดยรวม (Impact)  ซึ่งแน่นอนไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การค้า (Commercial) เท่านั้น หากแต่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (social) ก็ได้เช่นกัน

เรามักคิดว่านวัตกรรมจะต้องเกิดจากห้องปฏิบัติการวิจัย (R&D Lab) ที่มีนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ คิดค้นทดลองจนเกิดความรู้ใหม่ (basic research) หรือการประยุกต์ความรู้ใหม่นั้นเพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์ (applied research) และคิดว่านวัตกรรมต้องมีที่มาหรือแหล่งกำเนิดมาจากสิ่งนี้เท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ทั้งหมด นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นความรู้ใหม่ แต่จำเป็นต้องเป็นความคิดใหม่ แม้ว่าจะเป็นความรู้เดิมที่คนทั่วไปรู้แล้วก็ตาม เพราะนวัตกรรมเน้นผลของการนำความรู้ไปใช้ ดังนั้นองค์กรทั่วไปก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน

สำหรับภาคการผลิตและภาคบริการ วัฒนธรรมการคิดสร้างสรรค์ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้กับพนักงานในการที่จะผลักดันให้พนักงานได้ใช้เวลาในการคิดสิ่งใหม่ ไม่ใช่แค่ทำงานซ้ำๆตามหน้าที่อย่างเดียว วัฒนธรรมนี้พบเห็นได้ทั่วไปในบริษัทญี่ปุ่นในชื่อ “ไคเซ็น (Kaizen)” หรือการปรับปรุงเล็กๆน้อยๆแต่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “คนมีคุณค่าและความสามารถมากกว่าเครื่องจักร” การลงทุนในเครื่องจักรทั่วไปแม้ว่าจะได้ผลผลิตจำนวนมากในเวลาที่รวดเร็ว แต่เครื่องจักรก็มีการเสื่อมถอยด้อยค่า แต่การลงทุนในคนก่อให้เกิดการพัฒนาและแสวงหาสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเดิม ดังนั้นนิยามความหมายของคำว่า “งานประจำวัน (daily work)” จึงไม่เท่ากับ งานที่เราทำซ้ำๆทุกวัน (routine work) เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การปรับปรุงงานเล็กๆน้อยอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) อีกด้วย

 

 

Innovation

และเมื่อ Kaizen บวกด้วยวิทยาการความก้าวหน้า หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย มันจึงมีพลังอำนาจมากกว่าการปรับปรุงจุดเล็กๆ แต่กลับขยายขีดความสามารถขึ้นในระดับกระบวนการหรือระบบงาน (system kaizen) และยกระดับเครื่องจักรในการผลิตให้มีความสามารถสูงขึ้น (engineering kaizen) ซึ่งทั้งสององค์ประกอบนี้คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมเชิงกระบวนการ (process innovation) ในที่สุด

การจัดการนวัตกรรม (Innovation Management หรือ IM) จึงมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะสำหรับองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย ที่จะต้องขยับปรับระบบการบริหารงานภายในไปสู่การใช้ความคิดควบคู่ไปกับทักษะแรงงานที่หลากหลาย คำตอบของคำถามก็คือ IMS ซึ่งมี 2 ส่วนด้วยกัน คือ

  • Innovation Management System การพัฒนาระบบงานใหม่ในองค์กรที่ก่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงแบบก้าวกระโดด
  • Innovation Management Standard มาตรฐานที่จะมากำหนดแนวทางและวิธีการ (guideline) เพื่อให้แน่ใจว่าระบบการจัดการนั้นดำเนินการได้อย่างครบถ้วนรอบด้านมากพอ

 

ในด้านการจัดการนวัตกรรมขององค์กร เพื่อที่จะทำให้พนักงานกล้าคิด กล้าฝัน และกล้าที่จะทำอะไรก็ตามให้แตกต่างไปจากเดิม สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า “คิดได้” แต่จะมีสักกี่คนที่ “ทำได้” และทำให้เป็นที่ยอมรับของคน จึงมีคำถามขึ้นมาว่า ถ้าจะมีแนวทางอะไรบางอย่างที่สั้น จดจำง่าย และให้ความกระจ่างในการที่จะทำความเข้าใจถึงกระบวนการสร้างนวัตกรรม (Innovation Process) แล้วนั้น ผมก็ขอยกขึ้นมาให้เห็นเป็นองค์ประกอบใหญ่ๆ 3 ตัว ดังนี้

  1. แนวคิดใหม่ทางธุรกิจ (Business ideas) ผสมผสานกับ
  2. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย (Technology application) เพื่อตอบโจทย์
  3. ความต้องการของตลาดและสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า (Market demand)

ซึ่งในองค์ประกอบทั้ง 3 สิ่งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการจะต้องพิจารณาร่วมกันว่าข้อเสนอหรือโครงการนั้น สมควรที่จะได้ไปต่อ และนำไปสู่การสนับสนุนให้ลงมือคิดค้น วิจัย พัฒนา จนนำสู่ท้องตลาดหรือการใช้งานจริงต่อไปหรือไม่

 

เริ่มต้นจากแนวคิดทางธุรกิจ และแน่นอนต้องเป็นไอเดียใหม่ที่ไม่เคยมีคนคิดมาก่อน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใหม่ขนาดไหน

 – 1 –
ใหม่ในองค์กรหรือหน่วยงานเรา แต่ไม่ใหม่ในอุตสาหกรรมที่เราอยู่

นั่นคือเป็นสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยทำมาก่อน แต่มีองค์กรอื่นเคยทำมาแล้ว ซึ่งแน่นอนไอเดียที่เราจะทำก็ควรจะเป็นไอเดียที่ล้ำไปอีกขั้น ไม่ใช่ย่ำซ้ำรอยเท้าคนเดิม แต่สามารถสร้างความต่างจากการดำเนินการ ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของ search engine อย่าง Google ที่มาทีหลังแต่ดังกว่า ทั้งๆที่มีผู้ให้บริการระบบสืบค้นมาก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ Yahoo ดังนั้นแนวคิดทางธุรกิจที่จะหาประโยชน์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อะไรใหม่เลย แต่ Google ได้พัฒนาอัลกอริทึมส์ในการสร้างความสัมพันธ์ของคำค้นที่แตกต่างจากของเดิม จนได้รับความนิยมในที่สุด

 – 2 –
ใหม่ในอุตสาหกรรมที่เราอยู่ แต่อาจมีการใช้แล้วในอุตสาหกรรมอื่น

เช่นการให้บริการอย่างดีของโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ให้ความดูแลเอาใจใส่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนเข้าพัก (ช่วงจองห้องพัก) ระหว่างการเข้าพัก (ตั้งแต่เช็คอิน จนถึงเช็คเอาท์) และหลังการเข้าพัก (เมื่อลูกค้าออกจากโรงแรมไปแล้ว) กระบวนการต่างๆนี้ มีการนำมาประยุกต์ใช้ในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการด้านอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลเอกชน ที่ให้การดูแลเอาใจใส่คนไข้ที่เข้ามารักษาตัว และการอำนวยความสะดวกให้กับญาติที่มาจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จนบางครั้งเราแยกไม่ออกว่ากำลังเข้าโรงแรมหรือโรงพยาบาลกันแน่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ ที่มีการแจ้งเตือนเข้าตรวจเช็คตามระยะ การรับจองคิวเข้าซ่อม การให้ความรู้คำแนะนำ ตลอดจนห้องพักคอยระหว่างการซ่อมบำรุง และการติดตามประเมินผลหลังการซ่อม ตลอดจนการสามารถตรวจสอบย้อนประวัติการเข้ารับบริการได้ไม่ต่างจากประวัติคนไข้ในโรงพยาบาล

 – 3 –
ใหม่ในประเทศหรือในภูมิภาค

ไม่ว่าธุรกิจไหนหรืออุตสาหกรรมใดก็ไม่เคยมีการทำหรือดำเนินการเช่นนี้มาก่อนในประเทศหรือภูมิภาคนี้ ซึ่งนวัตกรรมใหม่ในทางธุรกิจที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจจะกลายเป็นแบบอย่างให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ พิจารณานำไปประยุกต์ใช้ได้ในบริบทที่แปลกแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างกระแสของ sharing economy ซึ่งอาจมีการริเริ่มและดำเนินการได้ดีในภูมิภาคตะวันตก แต่สำหรับภูมิภาคตะวันออก ก็กลายเป็นเรื่องใหม่ที่มีการนำมาใช้ในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันห้องพัก การแบ่งปันยานพาหนะเดินทาง แต่ก็ยังอาจติดขัดด้วยเงื่อนไขการประกอบการและกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย

 – 4 –
ใหม่ในโลกนี้

แน่นอนยังไม่มีใครในโลกนี้คิดและทำมาก่อน ซึ่งมีมากมายและเกิดบ่อยมากขึ้นในยุคปัจจุบัน ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูอย่างมาก และก่อให้เกิดการปฏิวัติวิถีทางและการดำรงชีวิตของคนอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่นาโนเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีชีวโมเลกุล การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีอวกาศและการใช้ชีวิตนอกโลก การเปลี่ยนผ่านสู่ปัญญาประดิษฐ์และเครื่องจักรอัจฉริยะ เป็นต้น

. . . .

แม้ว่าการคัดกรองแนวคิดทางธุรกิจใหม่ควรสอดคล้องกับแนวโน้มตลาดและความต้องการของลูกค้า แต่คิดที่ใหม่แบบไม่เคยมีมาก่อนในโลกนี้ คงไม่ต้องเสียเวลาไปสอบถามลูกค้าหรือผู้บริโภค เพราะพวกเขาเหล่านั้นก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสิ่งนั้นคืออะไร จะมีรูปร่างหน้าตาและความสามารถใด นวัตกรต้องคิดและจินตนาการล่วงหน้าไปก่อน บทพิสูจน์ของความสำเร็จจึงอยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายเมื่อนำออกมาสู่โลกภายนอก

การได้รับความนิยมจนถูกเลือกจากสังคม ทั้งคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ๆ อาจถูกวัดเป็นสัดส่วนร้อยละหรือเป็นจำนวนลูกค้าก็ตาม รวมเรียกว่า การประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาด (Market feasibility) ซึ่งต้องมีการสำรวจและคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดลูกค้าเป้าหมาย การคำนวณหาขนาดของตลาด และกุญแจสำคัญที่จะทำให้นวัตกรรมประสบความสำเร็จก็คือ Eco-system หรือระบบนิเวศที่จะเอื้ออำนวยให้นวัตกรรมนั้นๆ สามารถแสดงอานุภาพของตัวมันออกมาได้อย่างเต็มที่

เมื่อผ่านเกณฑ์ตัวแรกแล้ว เกณฑ์ตัวที่สองคือการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม กุญแจสำคัญที่จะไขทะลุมิติไปสู่สิ่งใหม่ที่มีความสมบูรณ์จริงก็คือ เทคโนโลยี ดังนั้นการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี (Technology feasibility) จึงทำหน้าที่เป็นตัวผลักดันความคิดให้กลายเป็นความจริงในที่สุด เชื่อว่าก่อนจะเปิดตัว iPhone รุ่นแรก จนได้รับความนิยมจนถึงกับหลายคนกล่าวว่า นี่คือการปฏัวัติรูปแบบของการใช้โทรศัพท์ทั้งมีสายและไร้สายในแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง ผลของการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนจนแพร่หลายไปทั่วนี้ ได้กลายเป็นอุปกรณ์หลักที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในโลกปัจจุบัน จนทำให้หลายคนกลัวไปว่า การไม่มีสมาร์ทโฟนหรือทำหาย อาจทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยในระหว่างวัน จนกว่าจะหาเจอหรือมีเครื่องใหม่มาทดแทน

และเกณฑ์ตัวสุดท้ายจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จทางธุรกิจว่านวัตกรรมทางธุรกิจใหม่นี้ จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการลงทุนและได้รับผลตอบแทนกลับมาเท่าไร นั่นคือเงินลงทุนที่ใช้ไปในการคิดค้นวิจัยและพัฒนา ตลอดจนระยะเวลาที่ต้องสูญเสียไปหลายเดือนจนถึงหลายปี จะได้รับคืนจนคุ้มทุนได้ไม่นานนัก ทันทีที่สินค้า/บริการหรือรูปแบบทางธุรกิจใหม่นี้ได้รับการตอบรับ และสร้างผลกำไรในที่สุด อาจเรียกว่า การประเมินความเป็นไปได้ทางการเงิน (Financial feasibility) แล้วองค์กรของคุณและตัวคุณล่ะ ได้นำเกณฑ์เหล่านี้ไปใช้ในการรณรงค์ส่งเสริมให้คนภายในองค์กรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือยัง

เมื่อเอ่ยถึงมาตรฐานที่เป็นสากลและประเทศทั่วไปยอมรับ คงไม่มีใครปฏิเสธคำว่า ISO (International Organization for Standardization) ซึ่งมาตรฐานที่องค์กรนี้กำหนดขึ้นนั้นไม่ได้มีเพียงมาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมีมาตรฐานด้านกระบวนการหรือระบบงานด้วย และมาตรฐานการจัดการที่เป็นสากลและรู้จักกันทั่วไปมาร่วม 3 ทศวรรษแล้วก็คือ ISO 9000 (Quality Management) นั่นเอง สิ่งที่จะบอกก็คืออีกไม่นานจะมีมาตรฐานใหม่ด้านนวัตกรรม ISO 50501 (Innovation Management หรือ IM)

โดยในปี 2013 เป็นปีที่เกิดการรวมตัวของคนจาก 23 ประเทศทั่วโลกมาร่วมกันจัดทำมาตรฐาน ในรูปแบบของคณะทำงานด้านเทคนิค (Technical Committee-TC) ในนาม ISO/TC 279 เพื่อที่จะช่วยกันร่างข้อกำหนดและรายละเอียดอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานใหม่ โดยผู้ที่เข้าร่วมมาจากหลากหลายองค์กรทั้งภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม รวมถึง SME อาทิ โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ องค์กรด้านการลงทุน กองทุนร่วมลงทุน บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการนวัตกรรม หน่วยงานด้านการประเมินมูลค่าและการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการศึกษา และหน่วยวิจัย

ทุกคนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ แต่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการนวัตกรรม ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญและเป็นที่สนใจมากหัวข้อหนึ่งในยุคนี้ ทั้งนี้เพราะองค์กรจำนวนไม่น้อยกำลังจะผันตัวเองไปสู่ธุรกิจที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น มากกว่าการรับจ้างผลิตที่มุ่งลดต้นทุนหรือขจัดปัญหาเดิมๆ โดยวัตถุประสงค์เพื่อที่จะจัดทำมาตรฐานเครื่องมือต่างๆที่มีการนำมาใช้ในงานนวัตกรรม และวิธีการในทุกจุดที่มีปฎิสัมพันธ์กันระหว่างคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการนวัตกรรม ครอบคลุมประเด็นเชิงอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และสังคม

คณะทำงานดังกล่าวแบ่งออกเป็นคณะย่อย อาทิ WG1 หรือกลุ่ม IMS ทำหน้าที่กำหนดขอบเขตของระบบการจัดการนวัตกรรม (กระบวนการและองค์กร) WG2 หรือกลุ่ม Terminology ทำหน้าที่กำหนดคำนิยามและความหมาย ตลอดจนคำสำคัญที่ใช้อ้างอิงร่วมกันเพื่อให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน WG3 หรือกลุ่ม Tools and Methods ทำหน้าที่กำหนดเครื่องมือและวิธีการที่ใช้เพื่อสนับสนุนงานด้านนวัตกรรม (ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือ การบริหารโครงการ) เพื่อให้แน่ใจได้ว่ามาตรฐานใหม่นี้สามารถจะประยุกต์ใช้ได้ในหลายรูปแบบองค์กร และเหมาะกับทุกขนาดไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่หรือ SMEs และสุดท้ายกลุ่ม Assessment ทำหน้าที่กำหนดเกณฑ์การประเมิน ซึ่งนี่คือแบบแผนทั่วไปที่ใช้ในการจัดทำมาตรฐานระบบการจัดการอื่นๆที่เคยประกาศใช้ไปก่อนหน้านี้ที่เราคุ้นเคย อาทิ ISO 9001 ISO 14001 หรือ ISO/IEC 17025 เป็นต้น

สำหรับเครื่องมือและวิธีการที่สำคัญตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ

  1. Strategy กำหนดหนทางและเป้าหมายที่สอดรับกัน
  2. Culture วัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยให้คนเกิดความคิดใหม่ได้ในทุกวัน
  3. Process กระบวนการที่สามารวัดผลทำซ้ำและก่อให้เกิดผลสำเร็จ
  4. Tools & Techniques เครื่องมือและวิธีการที่ใช้เพื่อสร้างนวัตกรรม และ
  5. Metrics ตัวชี้วัดผลงานที่เกิดขึ้นและสามารถสอบย้อนกลับได้

เชื่อว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน คงปฎิเสธไม่ได้ถึงประโยชน์และความสำคัญ สำหรับบริบทขององค์กรแล้ว มาตรฐานสากลด้านระบบการจัดการนวัตกรรม ISO 50500 ก็เป็นอีกหนึ่งระบบที่จะเข้ามาช่วยให้การผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นแนวทาง (Guideline) การปฏิบัติที่ดี เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอย่างมีแบบแผน

ข้อกำหนดดังกล่าวช่วยให้องค์กรสามารถสร้างผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ได้หลายมิติ อาทิ

ประโยชน์ทางการตลาด

  • ได้ให้แนวทางที่องค์กรสามารถแก้ปัญหาและเติมเต็มความต้องการลูกค้าที่ยังไม่มีใครตอบสนอง
  • เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและขยายมุมมองในการเปิดตลาดใหม่ๆ
  • นำไปสู่การลดทอนกำแพงขวางกั้นทางการค้า
  • เป็นคำตอบของทางออกที่ประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วต้องการ

ประโยชน์ในทางวัฒนธรรม

  • พัฒนาให้คนในองค์กรเปิดใจกว้างที่จะยอมรับโมเดลหรือวิธีการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ
  • ส่งเสริมการเจริญเติบโตของวัฒนธรรมนวัตกรรมที่สอดรับกับแนวโน้มโลก
  • อำนวยการให้เกิดการดำเนินการกับพันธมิตรทั้งภายในและภายนอก
  • ปรับปรุงสเกลของความร่วมมือและการสื่อสารไปในระดับสากล
  • ผนวกรวมเอาความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไว้ในกระบวนการนวัตกรรมขององค์กร

ประโยชน์ต่อองค์กร

  • ประหยัดต้นทุนและลดความเสี่ยง เมื่อเกิดนวัตกรรมและความร่วมมือทำให้เราสามารถก้าวข้ามกำแพงและสิ่งกีดขวาง ด้วยการพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่มีมาตรฐาน
  • เพิ่มความสามารถขององค์กรในการตัดสินใจ ทดสอบและทดลอง ไม่ใช่ล้มเหลวแต่ล้มแล้วลุกเร็ว มีความสามารถที่จะจัดการกับความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล กล้าเผชิญความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก
  • ปรับปรุงประสิทธิภาพและสมรรถนะขององค์กรในการผลิตนวัตกรรม
  • ปรับปรุงผลลัพธ์ของกระบวนการนวัตกรรมและอนุญาตให้มีการตรวจติดตามผลตอบแทนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นจากทุกๆกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
  • แลกเปลี่ยนภาษาที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับทั่วไปในด้านการจัดการนวัตกรรม
  • ประเมินความก้าวหน้าขององค์กรและบ่งชี้และแลกเปลี่ยนการปฎิบัติที่ดีในด้านการจัดการนวัตกรรม

 

เหตุผลบางข้อที่กล่าวมานี้ น่าจะเพียงพอให้เราเริ่มต้นก้าวเดินสู่จุดมุ่งหมายในการสร้างสิ่งใหม่อย่างเป็นระบบ สำหรับองค์กรที่คุ้นเคยกับ ISO 9000 แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะศึกษาและนำมาใช้ ทั้งนี้เราสามารถประเมินองค์กรเบื้องต้นถึงระดับความพร้อมได้ก่อนที่เราจะตัดสินใจนำมาใช้

 

หลักสูตรแนะนำ




Writer

โดย จำลักษณ์ ขุนพลแก้ว

ที่ปรึกษาอิสระด้านนวัตกรรมและการจัดการองค์กร