9 พฤษภาคม 2017

ดูเหมือนว่าค่านิยมของการแสวงหาความมั่นคงในการทำงานจากองค์กรที่สามารถทำงานอยู่จนเกษียณอายุ จะค่อยๆ หายไปในอนาคตอันใกล้นี้ คนทำงานในเจน Y นิยมที่จะมีชีวิตการทำงานที่มีอิสระ ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มากกว่าการทำงานอย่างทุ่มเทจนแทบไม่มีพื้นที่ให้ชีวิตส่วนตัวเหมือนคนในรุ่น Baby Boom อีกต่อไป

จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่ม Millennial พบว่า

73% หาโอกาสใหม่ๆ สำหรับการทำงานอยู่ตลอดเวลา

42% คาดหวังที่จะเปลี่ยนงานทุก 1-3 ปี

50% ยอมรับว่ามีแผนการทำงานแค่ปีเดียวในองค์กรที่เข้าไปทำงาน

82% กล่าวว่าพวกเขาจะทำงานได้นานขึ้น ถ้าองค์กรเปิดโอกาสให้ทำงานอย่างยืดหยุ่น

เหตุผลหลักๆ ในการเปลี่ยนงานก็คือ ต้องการค่าตอบแทนที่มากขึ้น ได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้งานที่ตรงใจมากกว่า หรือได้งานที่ทำให้มีชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น

แนวโน้มของพนักงานอิสระ หรือ remote worker ที่สามารถทำงานได้จากทุกที่โดยไม่ได้นั่งประจำในออฟฟิตจึงเพิ่มสูงขึ้น มีการคาดการณ์ว่าอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2020 จำนวน 50 % ของพนักงานจะไม่ได้ทำงานในออฟฟิต โดยมีปัจจัยมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และแนวคิดในการบริหารจัดการที่เปลี่ยนไป

ความยืดหยุ่นนี้มีผลประโยชน์ทั้งสองฝั่ง องค์กรสามารถลดต้นทุนของค่าเช่าสำนักงานที่สูงขึ้น และลดต้นทุนในการดูแลพนักงาน องค์กรที่เปิดโอกาสให้พนักงานอิสระจะดึงดูดความสนใจ และรักษาพนักงานที่ต้องดูแลครอบครัว เช่น ช่วยคู่สมรสดูแลบุตร ดูแลพ่อแม่ที่ชราภาพ เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากกว่าเงิน

แม้ว่าการเป็นพนักงานอิสระนั้นจะดูเหมือนว่าทำให้ชีวิตมีความสมดุล และสามารถเลือกทำงานตามความต้องการได้ แต่ในความเป็นจริง การได้รับเลือกจากองค์กรก็อาจจะยากกว่าเดิม

เพราะว่ามันคือการแข่งขันในตลาดแรงงาน ทำอย่างไรคุณจึงจะเป็นผู้ได้เปรียบในการแข่งขัน และพร้อมที่จะแข่งขันอยู่เสมอ เพราะสภาพการจ้างงานนั้นเป็นระยะสั้น หรือทำอย่างไรที่คุณจะเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาดงานนั้น

เทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่คนในระบบงานมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าองค์กรต้องการคนทำงานที่มีความสามารถที่เหนือกว่า นั่นคือมีทักษะที่หลากหลาย สามารถบูรณาการความรู้หลายศาสตร์เข้าด้วยกันความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจนสามารถนำเสนอทางเลือกใหม่ๆ ให้กับองค์กร ความสามารถเหล่านี้จะทำให้คุณเป็นพนักงานอิสระที่มีคุณค่าสูงและเป็นที่ต้องการ

มีความรู้รอบด้าน วิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างหลากหลายคือวิทยายุทธ์ของคนทำงานอิสระในอนาคต

เช่นเดียวกับทางฝั่งขององค์กร การจ้างพนักงานอิสระ เป็นความกังวลถึงคุณภาพงานและความรับผิดชอบ มีข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรสำหรับการปรับตัวในสถานการณ์การจ้างงานรูปแบบนี้ว่าให้เปลี่ยนวิธีคิดในการจ้างงานโดยดูที่ความสามารถ ความถนัดมากว่าอายุงานหรือความอาวุโส นั่นคือการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามากขึ้น บางองค์กรอาจเริ่มต้นที่บางตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำออฟฟิต เป็นรูปแบบของพนักงานอิสระนำร่องไปก่อนเพื่อฝึกทักษะการบริหารจัดการคนทำงานกลุ่มนี้เพื่อให้ได้ประสิทธิผลอย่างเต็มที่

นอกจากนั้นองค์กรเองก็ควรให้การสนับสนุนเครื่องมือในการทำงานตามสมควร โดยเฉพาะในเรื่องของเทตโนโลยีที่ต้องมีการลงทุน การทำงานระหว่างองค์กรกับพนักงานอิสระควรมีลักษณะของการทำงานร่วมกันแบบ win win

การจ้างงาน remote worker ทำให้ความกังวัลและความกดดันทางฝั่งนายจ้างเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถของคนทำงานที่จะเข้ามาในองค์กรจะลดลงทันที จากสิทธิ์ในการเลือกใช้ และยังเป็นการจ้างงานแบบที่บางคนใช้คำว่า “ใช้แล้วทิ้ง” คือไม่ต้องรับผิดชอบในระยะยาว

งานอิสระจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เฉพาะองค์กร




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น