18 เมษายน 2017

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ในทุกแง่มุม รวมทั้งเรื่องการเมืองและการปกครองด้วยเช่นกัน โดยเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโฉมระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชนในประเทศต่างๆ อีกด้วย

การปกครองแบบประชาธิปไตยกำลังถึงทางตันหรือไม่ เมื่อทุกวันนี้เราเห็นแต่การงดออกเสียงของประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง การเฟื่องฟูของระบบประชานิยม การออกคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองหัวรุนแรงที่มีมากขึ้น ตลอดจนการปรากฏตัวของกลุ่มทางการเมือง “ทางเลือก” ในสเปนและอิตาลี ต่างสะท้อนให้เห็นช่องว่างระหว่างผู้นำและประชาชนที่มีมากขึ้น

เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโฉมระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง การรณรงค์หาเสียง การแบ่งขั้วทางการเมืองที่เห็นชัดขึ้น เปลี่ยนแปลงเครื่องมือบริหารบ้านเมือง ไปจนถึงการคุกคามสถานะของรัฐบาลแบบเผด็จการ ที่สำคัญ เทคโนโลยีดิจิทัลได้แทรกซึมเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชน

เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนโฉมระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย..อย่างไร[1]
How Digital Technology Is Changing Democracy and Its Study  โดย ฟาบริซิโอ กิลาร์ดี สำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยซูริค (http://fabriziogilardi.org)
ที่มา: http://www.fabriziogilardi.org/resources/papers/Digital-Democracy.pdf

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างฝังรากลึก สื่อออนไลน์ทั้งหลายหรือจะว่ากันตามจริงก็คือ อินเทอร์เน็ต มีส่วนสำคัญในการกำหนดกระบวนการทางการเมืองเพิ่มมากขึ้นและในวงกว้าง

เทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสื่อออนไลน์และ “Big Data” มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2008 และการทำงานของพรรคการเมืองในยุโรป ซึ่งเปลี่ยนวิธีการที่นักการเมืองจะสร้างเสียงสนับสนุนตัวเองและพรรค และเปลี่ยนวิธีการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีการสร้างเว็บแพลตฟอร์มบนสื่อออนไลน์ของกลุ่มนักการเมืองฝ่ายซ้ายเพื่อเป็นเวทีรวบรวมรายชื่อสนับสนุนแนวคิดใหม่ๆ หรือแม้แต่ลงประชามติ (wecollect.ch) สำหรับนักการเมืองฝ่ายขวาก็จะใช้แพลตฟอร์มแบบเดียวกันนี้เพื่อขยายฐานเสียงของตัวเองในการแข่งขันการเลือกตั้งเรียกว่าเป็นกลยุทธในการหาเสียงทางหนึ่ง การเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหวและการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางการเมืองในประเทศ

ความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีดิจิทัลมีผลต่อการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ในสังคมที่เคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (digitalization) และมีการนำเครื่องจักรมาใช้แทนคนในการทำงาน (automation) จะทำให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะต่องานประจำของชนชั้นทำงานที่จะหายไป แต่จะไปเอื้อกับงานที่ใช้ทักษะสูงในอุตสาหกรรมบริการและก่อให้เกิดคลื่นของการปะทะกันระหว่างสองฟากฝั่งของคนที่เข้าถึงเทคโนโลยีและเข้าไม่ถึง นัยทางการเมืองของความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีดิจิทัลในระยะสั้นคือ ความไม่เท่าเทียมกันและการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างผู้ชนะและผู้แพ้นี้จะชัดเจนขึ้น ในหลายประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ที่พรรคการเมืองมีความแตกต่างกันมาก นักการเมืองชั้นนำจะมีการแบ่งข้างชัดเจน ในสังคมที่มีการแบ่งขั้วการเมือง ประชาชนจะถูกบีบให้เลือกข้าง ถึงอินเทอร์เน็ตจะไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง แต่..อินเทอร์เน็ตทำให้ประชาชนกล้าแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อที่สาธารณะได้ง่ายมาก

เทคโนโลยีดิจิทัลยังเปลี่ยนเครื่องมือบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล โดยรัฐบาลต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมหาศาลหรือ “Big Data” ในการตัดสินใจและกำหนดนโยบาย ขณะเดียวกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “Open Data Movement” ในหลายประเทศก็เห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเปิดข้อมูลต่อสาธารณชนให้เข้าถึงได้โดยง่ายเพื่อแสดงความโปร่งใส ฉีกแนวทางแบบเดิมๆ และแสดงความเป็นมืออาชีพ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเปลี่ยนวิธีการคิดและการลงคะแนนเสียงของประชาชน ทำให้รัฐบาลก็เช่นกันต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีดิจิทัลในการสอดส่องดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองด้วย

เทคโนโลยีดิจิทัลยังคุกคามสถานะของรัฐบาลเผด็จการ เนื่องจากการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องสำคัญในการปกครองของรัฐบาลเผด็จการ ไม่เช่นนั้น ประชาชนที่สื่อสารกันด้วยสื่อออนไลน์เหล่านี้จะสามารถรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง นำไปสู่การประท้วงที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงการปฏิวัติประชาธิปไตยในอาหรับ (Arab Spring) ปี 2010 สื่อสังคมออนไลน์ยังได้สร้างความตระหนักให้ประชาชนรับรู้ปัญหาทางการเมือง เช่น การโกงการเลือกตั้งของรัฐบาลเผด็จการด้วย จึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลเผด็จการต้องควบคุมจัดการการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วยังต้องจัดสมดุลระหว่างการ “กลั่นกรอง” และเปิดข้อมูล

เทคโนโลยีดิจิทัลกับการกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชน[2]
Is Digital Citizenship to Regenerate Democracy? โดย ปาสกัล มาล็อตติ ผู้อำนวยการด้านการตลาดและให้คำปรึกษา และโจฮันนา โคเฮน โจนาธาน นักวางแผนดิจิทัลเชิงกลยุทธ บริษัท วาล์วเทค จำกัด
ที่มา: https://www.valtech.com/blog/is-digital-citizenship-to-regenerate-democracy/

ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ความเป็นพลเมืองหรือประชาชนถูกกระตุ้นด้วยเทคโนโลยีเพื่อแสดงออกความเป็นประชาธิปไตย หากนวัตกรรมใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตได้สร้างพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคจนทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจการซื้อและลดความสำคัญของยี่ห้อหรือตราสินค้าลง พฤติกรรมของประชาชนต่อการแสดงออกทางการเมืองก็ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะผ่านสมาคมหรือสหภาพหรือแสดงออกด้วยตัวเอง การมีส่วนร่วมกับสาธารณะหรือการออกคะแนนเสียง ล้วนมีเทคโนโลยีดิจิทัลแทรกซึมเข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนอย่างไม่อาจเลี่ยง

เมื่อสังคมเริ่มเข้าสู่การเป็นดิจิทัล (digitalization) อย่างทุกวันนี้ เราจะเห็นนักการเมืองเริ่มหันมาใช้เครื่องมือหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการโปรโมทกิจกรรมของตัวเองหรือพรรค ประชาชนทั่วไปหรือผู้มีสิทธิออกเสียงจะได้รับข้อมูลทางการเมืองต่างๆ จากอินเทอร์เน็ต และมีการโฆษณาหาเสียงด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น (ประเทศไทยคงรออีกสักพัก) ในหลายประเทศเริ่มมีการใช้ “Civic Tech” โดยธุรกิจเกิดใหม่ (start-ups) ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาครัฐ Civic Tech เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยกระตุ้นการดำเนินงานของรัฐบาลในการส่งมอบบริการและกระชับความสัมพันธ์กับประชาชน[3] โดยกลุ่มธุรกิจเหล่านี้จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่ตนเองมีด้วยความสมัครใจโดยใช้ศักยภาพของดิจิทัลเพื่อปรับโฉมการทำงานของภาครัฐ ด้วยการกำจัดอุปสรรคทั้งหลายแหล่ โดยเฉพาะข้อมูลภาครัฐที่มีมากจนเกินไปหรือไม่ก็ไม่มีเลย บ้างก็เป็นข้อมูลด้านเดียวหรือไม่ก็เข้าใจได้ยาก ให้ประชาชนในสังคมได้เข้าถึงสิทธิความเป็นพลเมืองที่พึงมีได้ง่ายขึ้น !

ในการตัดสินใจที่ดีโดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง ประชาชนจะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างเหมาะสม ในสหรัฐอเมริกามีการคิดค้นแอพลิเคชั่นบนมือถือและเว็บไซต์มากมายเพื่อรวบรวมและถอดรหัสประเด็นต่างๆ ทางการเมือง เช่น “Politomix” คือ โปรแกรมรวบรวมฟีด (feed aggregators) เพื่อมาตรวจสอบและดึงข้อมูลจากฟีดต่างๆ และจัดแบ่งตามแหล่งที่มาของข่าวหรือขั้วทางการเมือง (ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา หรือกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง) อีกตัวอย่างคือ รัฐบาลฝรั่งเศสเองก็ริเริ่มแสดงข้อมูลมากขึ้น เช่น การเสนอชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับตำแหน่งบริหารระดับประเทศ (State Chief Data Officer) และปรับโฉมเว็บไซต์ data.gouv.fr. ของรัฐบาล มีการเปิดเว็บไซต์ Questionnezvoscandidats.org และ Questionnezvoselus.org ให้ประชาชนสามารถตั้งคำถามโดยตรงกับผู้สมัครรับเลือกตั้งและนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้ว จากนั้นจะมีการรวบรวมเนื้อหาจากการพูดคุย เพื่อเผยแพร่สะท้อนการทำงานอย่างโปร่งใส รัฐบาลฝรั่งเศสยังสนับสนุน “แนวร่วมรัฐเปิด (Open Government Partnership)” ที่มีประเทศอินโดนีเซียกับฟิลิปปินส์ เป็นสองประเทศแรกจากอาเซียนที่เข้าร่วมโครงการ โดยแนวร่วมจะเน้นเรื่องหลักๆ คือ ความโปร่งใส (Transparency) การมีส่วนร่วม (Participation) และการเพิ่มพลังประชาชน (Empowerment)[4]

กลุ่มธุรกิจ Civic Tech ยังมีส่วนสนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยทั่วไป เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการแบ่งปันและบริหารปกครองเพราะประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในทางการเมืองและสื่อสารกับนักการเมืองได้ง่ายและมากขึ้นอย่างในทุกวันนี้ ในฝรั่งเศส (อีกแล้ว) มีแอพลิเคชั่นบนมือถือที่ชื่อว่า “eDémocratie” เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับคนในยุคดิจิทัลให้สามารถถกเถียงเรื่องทางการเมืองระหว่างกันเองหรือกับนักการเมือง

เทคโนโลยีดิจิทัลยังเป็นประโยชน์ในการสร้างพื้นที่ที่สามารถใช้การตัดสินใจร่วมกันได้ ตัวอย่างหนึ่งคือ ผู้ว่าการนครปารีส แอนน์ ฮิดาลโก (Anne Hidalgo) ได้ริเริ่มกิจกรรมการใช้งบประมาณร่วมของปารีส (Budget Participatif de la Mairie de Paris) โดยทุกๆ ปีชาวปารีสจะสามารถออกคะแนนเสียงแบบออนไลน์เพื่อสนับสนุนโครงการที่ตนอยากให้นครปารีสลงทุนทำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5 ของงบประมาณลงทุนทั้งหมดของเมือง นอกจากนี้ ยังสามารถยื่นเสนอโครงการกับนครปารีสได้เองด้วย ผู้ว่าการนครปารีสคนนี้ยังมีบทบาทเป็น “Decision Maker” ของ change.org เว็บไซต์ที่ตั้งคำถามกับนักการเมืองหรือบริษัททั่วไปเพื่อรณรงค์และสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย

ชีวิตคนในยุคดิจิทัลไม่เพียงมีแต่การแสดงความคิดเห็นผ่านคีย์บอร์ดเท่านั้น การระดมทุนสาธารณะ หรือ Crowdfunding ซึ่งมีมาแต่อดีตแต่อยู่ในลักษณะเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะกลุ่ม แต่เมื่อเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารสะดวกมากขึ้น จึงเริ่มมีการระดมทุนในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น Citizinvestor ที่คนทั่วไปสามารถลงทุนโดยตรงในโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ เช่น การปรับปรุงหรือก่อสร้างสวนสาธารณะ ฯลฯ ที่หน่วยงานของรัฐอาจล้มเลิกไปด้วยเหตุผลทางการเงิน แต่…การมีส่วนร่วมของคนในยุคดิจิทัลผ่านกิจกรรมสาธารณะไม่ได้มีเพียงทางการเงินอย่างเดียว นักธุรกิจมากประสบการณ์ (และมากธุรกิจ) ฌอน ปาร์กเกอร์ (Sean Parker) ได้ปล่อยแอพลิเคชั่นบนมือถือในระยะทดสอบที่ชื่อว่า “Brigade” ที่ใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ทางสังคมให้กับผู้ใช้ผ่านกลุ่มสาธารณะที่ตัวเองสนใจ โดยแอพลิเคชั่นนี้จะค่อยๆ นำเสนอเนื้อหาและลูกเล่นใหม่ๆ เพื่อเป็นคำตอบหรือแนวทางที่ลงมือทำได้จริงในโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น

การออกเสียง (Voting) ซึ่งเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังต้องเข้าสู่การเป็นดิจิทัล ในหลายประเทศกระบวนการออกคะแนนเสียงยังใช้เป็นกระดาษ แต่ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถยืนยันตัวตนบนอิเล็กทรอนิกส์ (electronic authentication) เช่น ผ่านลายนิ้วมือ ฯลฯ ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมทางธนาคารบนมือถือได้ การออกคะแนนเสียงออนไลน์ก็สามารถเกิดได้จริงในอีกไม่ช้า และหากเราสามารถทำให้กระบวนการการออกเสียงนั้นง่ายกว่าเดิม ก็อาจจะทำให้อัตราการงดออกเสียงลดต่ำลงและเพิ่มโอกาสให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงได้ใช้สิทธิออกคะแนนเสียงด้วย

ที่ผ่านมา เริ่มมีการนำเอาแนวความคิดเหล่านี้มาลงมือจริง ตัวอย่างในการทำโครงการ Google Impact Challenge จะเปิดให้ผู้อาศัยที่อยู่ในซิลิคอนวัลเล่ย์ร่วมออกเสียงให้กับแนวคิดที่ชื่นชอบและจะให้รางวัลกับนักธุรกิจใหม่ที่มีผลงานที่สร้างสรรค์ จุดเด่นของงานคือ การลงคะแนนผ่านโปสเตอร์ดิจิทัล ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่สามารถลงคะแนนอย่างง่ายๆ แบบไม่ต้องเข้าอินเทอร์เน็ต โดยการสัมผัสกับโปสเตอร์ที่สื่อสารกับผู้ใช้ได้และวางไว้ตามสถานที่สาธาณะต่างๆ[5]

ภาพประกอบจาก
www.creativemove.com/design/google-impact-challenge/#ixzz4bSLWxv7M

อีกตัวอย่างได้แก่ ในการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกครั้งที่ 21 (COP21) ที่จัดขึ้นในฝรั่งเศส มีการใช้แอพลิเคชั่น “GOV” ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถแสดงความคิดเห็นทั้งทางการเมืองและสังคมในประเด็นที่หลากหลาย และยังติดตั้งโปสเตอร์ดิจิทัลจำนวน 1,600 จุดทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ใช้ลงคะแนนและสามารถเห็นผลสรุปคะแนนแบบปัจจุบันด้วย

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนในยุคดิจิทัลสามารถแสดงสิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองได้ชัดเจนขึ้น ทั้งยังปรับวิธีการสื่อสารของนักการเมืองด้วย กล่าวโดยสรุป พลเมืองดิจิทัล (digital citizens)[i] สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวกมากขึ้นและยังสื่อสารกับคนอื่นๆ ได้ง่ายแม้แต่กับผู้สมัครลงเลือกตั้งและนักการเมืองเอง และในอนาคตอันใกล้พลเมืองดิจิทัลก็จะสามารถลงคะแนนเสียงแบบออนไลน์ได้ด้วย แต่ความเป็นพลเมืองไม่มีแค่การออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง พลเมืองดิจิทัลจะทำหน้าที่ของความเป็นพลเมืองทั้งในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเป็นการแสดงสิทธิเสียงแบบมีส่วนร่วมแบบระบบประชาธิปไตยไปจนถึงการร่วมลงทุนในโครงการสาธารณะต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ การเข้าสู่สังคมดิจิทัล (digitalization) จึงเป็นการกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชนและจะกระตุ้นความเป็นพลเมืองและความสนใจทางการเมืองให้กับคนรุ่นใหม่ในระยะยาว

ภาพประกอบจาก Pittsburgh Public Schools
โดย www.kafaak.com/2016/03/02/it-is-time-to-teach-children-digital-citizenship/
ภาพประกอบจาก Fractus Learning
โดย www.kafaak.com/2016/03/02/it-is-time-to-teach-children-digital-citizenship/

………………………………………………………………………………………

References

[1] Gilardi, Fabrizio, “DIGITAL DEMOCRACY: How Digital Technology Is Changing Democracy and Its Study,” 18 August 2016, <http://www.fabriziogilardi.org/resources/papers/Digital-Democracy.pdf>.

[1] Malotti, Pascal, and Johanna Cohen Jonathan, “Is Digital Citizenship To Regenerate Democracy?,” 22 February 2016, <https://www.valtech.com/blog/is-digital-citizenship-to-regenerate-democracy/>.

[2] Wood, Colin, “What is Civic Tech?,” Government Technology, 16 August 2016, <http://www.govtech.com/civic/What-is-Civic-Tech.html>.

[3] สฤณี อาชวานันทกุล, “สิ่งที่กฎหมายดิจิทัลควรทำ: ข้อมูลเปิด+รัฐเปิด (Open Data+Open Government),” ไทยพับลิก้า, 30 มีนาคม 2558, <http://thaipublica.org/2015/03/open-data-open-govt/>.

[4] “Google Impact Challenge ให้ชุมชนร่วมโหวตโครงการในฝันผ่านดิจิตอลโปสเตอร์,” CreativeMOVE, 13 ตุลาคม 2558, <http://www.creativemove.com/design/google-impact-challenge/#ixzz4bSLWxv7M>.

[5] @kafaak, “ถึงเวลาสอนเรื่องการเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizenship) ให้เด็กๆ แล้ว,” 2 มีนาคม 2559, <http://www.kafaak.com/2016/03/02/it-is-time-to-teach-children-digital-citizenship/>. (แนะนำให้อ่าน)




Writer

โดย อวยพร สุธาทองไทย

เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์อาวุโส ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ