19 มกราคม 2017

“โตเกียวโอลิมปิกปี 2020” พลิกโฉมหน้าเกมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการริเริ่มแปรสภาพขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเหรียญรางวัลเพื่อใช้ในการแข่งขัน ปฏิวัติความคิดเรื่องการรีไซเคิลและลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งยังช่วยจุดประกายแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติอีกด้วย

คณะผู้จัดงานกีฬาโตเกียวโอลิมปิก 2020 คาดหวังที่จะหาวัตถุดิบ เช่น ทอง เงิน และทองสำริด เพื่อใช้ในการผลิตเหรียญกีฬาจากเหมืองในเมือง (Urban mine) ของประเทศ ซึ่งเกิดจากการทิ้งสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้านับล้านชิ้นในประเทศ โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว มีโลหะมีค่าเพียงพอที่จะผลิตเหรียญรางวัลทั้งหมดสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองหลวงของญี่ปุ่นในอีก สี่ปีข้างหน้า ตามที่คณะผู้จัดงานโอลิมปิก รัฐบาล และผู้บริหารของบริษัท ได้กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

จากข้อมูลของลอนดอนโอลิมปิกปี 2012 ได้มีการนำทอง 9.6 กิโลกรัม เงิน 1,210 กิโลกรัม และทองแดง 700 กิโลกรัม มาใช้ในการผลิตเหรียญรางวัล ซึ่งเมื่อเทียบกับโลหะที่มีค่าที่สามารถนำกลับมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทิ้งแล้วในประเทศญี่ปุ่นในปี 2014 มีทองถึง 143 กิโลกรัม เงิน 1,566 กิโลกรัม และทองแดง 1,112 ตัน

121

รูปภาพ แสดงการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาผลิตเหรียญรางวัล

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย แต่มีทองและเงินที่อยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้าคิดเป็นจำนวนถึง 16% และ 22% ของทรัพยากรของทั้งโลกตามลำดับ โดยความคิดที่จะใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการอภิปรายขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ กรุงโตเกียว ด้วยความคิดที่จะมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยคณะผู้จัดงานอย่างเป็นทางการของโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ กระทรวงสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลกรุงโตเกียว รวมถึงผู้บริหารของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ NTT DoCoMo บริษัทโลหะมีค่า Tanaka Kikinzoku Kogyo และบริษัทรีไซเคิล

ความท้าทายในการรวบรวม

ความท้าทาย คือ ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีระบบในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ทิ้งแล้ว ในขณะที่ขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าถูกทิ้งในแต่ละปีมีจำนวนถึง 650,000 ตัน แต่การรวบรวมจัดเก็บในระบบตามกฎหมายการรีไซเคิลที่ออกมาเมื่อปี 2013 ทำได้เพียง 100,000 ตัน กระทรวงสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้เทศบาลตั้งเป้าหมายในการรวบรวมของเสียที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากประชาชน 1 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่หลายเขตเทศบาลเก็บรวบรวมได้เพียง 100 กรัมต่อคน นอกจากนี้ โลหะที่ได้จากขยะอิเล็กทรอนิกส์มักจะนำกลับมาใช้ซ้ำในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะเงิน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสมดุลของอุปสงค์-อุปทาน มีผลทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอในการผลิตเหรียญโอลิมปิก อย่างไรก็ตาม การสร้างจิตสำนึกของสาธารณชน อาจทำให้สามารถรวบรวมและนำของเสียอิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มมากขึ้น

นายทาเคชิ คุโรดะ ประธานของบริษัท รีเน็ท เจแปน กรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจซื้อ-ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว ในจังหวัดไอจิ กล่าวว่า “เราต้องการระบบที่ทำให้ผู้บริโภคสะดวกในการทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว” รีเน็ทเป็นหนึ่งในบริษัทที่จะผลิตเหรียญโอลิมปิกจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการจัดเก็บต้องสร้างโดยภาคเอกชน และรัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เผยแพร่การบริการของเอกชนนี้ นายคุโรดะกล่าวว่าถ้าความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนมีความก้าวหน้า การรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องมีความคืบหน้าเช่นกัน

ยูโกะ สาคิตะ ตัวแทนขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เก็นกิ เน็ท สำหรับการสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน กล่าวว่า เพื่อให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนมีส่วนร่วมกับโตเกียวโอลิมปิก เราจึงขอให้บริษัทเสนอข้อเสนอในการรวบรวมจัดเก็บที่เป็นรูปธรรม และต้องการที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในการทำให้ข้อเสนอดังกล่าวบรรลุผล




Writer

โดย อุรศา ศรีบุญลือ

วิทยากรที่ปรึกษา ส่วนจัดการธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ