13 พฤษภาคม 2016

technology

ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการปรับปรุงและพัฒนาองค์กรมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กรที่จะขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เว็บไซต์ capgemini.com ได้เผยแพร่ผลการศึกษาแนวทางการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital transformation) ที่ศึกษาโดย THE MIT CENTER FOR DIGITAL BUSINESS และ CAPGEMINI CONSULTING ไว้ว่า การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการยกระดับผลการดำเนินงานอย่างก้าวกระโดดหรือขยายขอบเขตธุรกิจขององค์กร ซึ่งนับเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางทั่วโลก ผู้บริหารระดับสูงในทุกประเภทของอุตสาหกรรมต่างกำลังใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ชั้นสูง (Analytics) โซเชียลมีเดียและอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ รวมทั้งทำการปรับปรุงเทคโนโลยีดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นด้าน ERP เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่มีต่อลูกค้า กระบวนการภายในองค์กร และคุณค่าที่ส่งมอบแก่ลูกค้าก็ตาม ในขณะที่ผู้บริหารคนอื่นๆ เมื่อทราบถึงผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่ออุตสาหกรรมมีเดียในข่วงทศวรรษที่ผ่านมา ต่างก็ทราบถึงความจำเป็นที่พวกเขาต้องให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงนลักษณะเดียวกันนี้ต่ออุตสาหกรรมที่ตนดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย

ปัญหาคือผู้บริหารระดับสูงจะสามารถนำองค์กรของตนสู่การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างไร ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากต่างเรียกร้องบริษัทต่างๆให้ทำการเริ่มต้นดำเนินการทิศทางในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม มีองค์กรเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ทราบถึงวิธีการดังกล่าว การศีกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกได้แก่ Capgemini ได้พบว่า มีผู้บริหารระดับสูงกว่า 157 คน ขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกทั้ง 50 แห่ง กำลังดำเนินการในด้านนี้อย่างจริงจังและได้รับประโยชน์จากความพยายามดังกล่าว โดยการศึกษาได้สรุปเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งสามารถใช้ประเมินสถานภาพขององค์กรใดใดในการเข้าสู่การปฏิรูปนี้

การศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าองค์กรขนาดใหญ่ที่อยู่ในธุรกิจเป็นเวลายาวนานจะมีลักษณะที่แตกต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่ทำการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล องค์กรขนาดใหญ่เหล่านั้นกำลังเริ่มต้นปฏิรูปธุรกิจของตนและประสบความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีบทเรียนสำคัญ คือ

  1. บริษัทต่างๆ ล้วนเผชิญแรงกดดันจากที่มาจากลูกค้า พนักงาน และคู่แข่งให้เริ่มต้นหรือเร่งรัดการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม องค์กรเหล่านั้นมีจังหวะการปฏิรูปที่แตกต่างกันและได้รับความสำเร็จที่แตกต่างกันด้วย
  2. การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประสบผลสำเร็จไม่ได้มาจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดแต่เพียงอย่างเดียว แต่มาจากการปฏิรูปองค์กรของตนให้สามารถฉวยโอกาสจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ที่หยิบยื่นให้ ที่สำคัญคือ การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครั้งสำคัญๆ ล้วนแต่มุ่งเน้นการกำหนดมุมมองใหม่ของการสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้า กระบวนการดำเนินงาน และรูปแบบธุรกิจ องค์กรต่างๆ จำนวนมากจึงทำการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของหน่วยงานต่างๆ กำหนดวิธีการที่หน่วยงานต่างๆ ประสานงานกัน รวมทั้งเปลี่ยนแปลงขอบเขตการดำเนินธุรกิจขององค์กรด้วย
  3. การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประสบผลสำเร็จไม่ได้มาจากการทำงานมาจากระดับพนักงาน แต่จำเป็นต้องผลักดันมาจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น
  4. การมุ่งเน้น “วิธีการ” มากกว่า “สิ่งที่จะทำ” โดยการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลที่ประสบผลสำเร็จส่วนมากนั้นให้ความสำคัญกับวิธีการบริหารการเปลี่ยนแปลงเท่าๆ กับรายละเอียดของเนื้อหาของสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง การมีวิสัยทัศน์การปฏิรูปองค์กรที่จริงจัง รวมทั้งการสร้างความมุ่งมั่นในส่วนของพนักงาน การมีกลไกกำกับดูแล และตัวชี้วัดจะช่วยให้พนักงานทั่วทั้งองค์กรสามารถระบุสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ได้
  5. การปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประสบผลสำเร็จไม่ได้มาจากการมีโครงสร้างองค์กรใหม่แต่อย่างใด แต่มาจากการปรับโครงสร้างองค์กรให้สนับสนุนสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่องค์กรมีด้วยรูปแบบองค์กรใหม่ๆ
  6. องค์กรส่วนมากสามารถดำเนินการได้มากกว่านี้ได้เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการลงทุนในกิจกรรมด้านนี้ โดยใช้วิธีการทำงานใหม่ๆ
  7. ถึงแม้ว่าการมีกระแสด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่ในสังคมก็ตาม บริษัทต่างๆ ส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอีกยาวนาน ดังนั้นภาวะผู้นำของผู้บริหารจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าองค์กรจะใช้เทคโนโลยีแบบใหม่หรือแบบดั้งเดิมก็ตาม กุญแจสำคัญในการปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลก็คือ การมองภาพในอนาคตด้วยมุมมองใหม่ๆ รวมทั้งการผลักดันการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการดำเนินธุรกิจของบริษัท สิ่งนี้นับเป็นความท้าทายของทั้งผู้บริหารและพนักงานซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงเทคโนโลยีเท่านั้น

 

ที่มา: https://www.capgemini.com/resource-file-access/resource/pdf/Digital_Transformation__A_Road-Map_for_Billion-Dollar_Organizations.pdf

 

 




Writer

โดย มานะ ชัยวงศ์โรจน์

วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส ส่วนจัดการองค์กร
ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ