19 มกราคม 2016

 

012

“ทำทุกอย่างให้เหมือนกับงานของเราเอง อย่าคิดว่าได้รับคำสั่งมาแค่นี้ก็ทำแค่นี้ คนเราถ้าจะก้าวหน้า เจ้านายสั่งหนึ่งต้องได้สอง สั่งสองต้องได้สาม”

กาญจนา  สายสิริพร ประธานกรรมการ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน)

ลูกจ้างที่มีทัศนคติเช่นนี้ ย่อมเป็นที่ต้องการของผู้บริหารทุกคน แต่ก็ใช่ว่าจะหามาได้โดยง่าย

จากเด็กสาวที่จบการศึกษาเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เธอเริ่มต้นการทำงานที่บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ในตำแหน่งพนักงานขายเครื่องสำอางค์เพียซ ที่ห้างไดมารู ด้วยความตั้งใจในการทำงาน มีทัศนคติของความมุ่งมั่นไปสู่ความสำเร็จอย่างไม่ย่อท้อ ฝึกฝน เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้เธอก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของเครือสหพัฒนพิบูล ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักก็คือการเปิดตลาดเครื่องสำอางค์คัฟเวอร์มาร์ค โดยเฉพาะในฐานะ Make up Artist  ของวงการบันเทิง

ด้วยโปรแกรมการพัฒนาบุคลากร การสร้างแรงจูงใจ จะสามารถสรรค์สร้างบุคลากรเช่นนี้ขึ้นมาได้หรือไม่ ก็นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

แต่ถ้าองค์กรโชคดีที่สามารถสรรหาคนเช่นนี้เข้ามาในองค์กรได้ ก็เป็นเรื่องที่ง่ายกว่า แม้จะมีคนกล่าวว่ามันไม่ใช่ลักษณะของ Gen. Y แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น

Dr.Bruce Weinstein ผู้ให้คำปรึกษากับองค์กรต่างๆ เรื่องการจ้างงาน และเลื่อนขั้นพนักงาน รวมทั้งเป็นนักเขียน และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจริยธรรม ในรายการข่าวชั้นนำของสหรัฐอเมริกา อาทิ NBC’s Today , ABC’s Good Morining America, CNBC’s Fast Money , Fox News Channel’s เป็นต้น เขียนหนังสือชื่อ The Good ones นำเสนอ 10 คุณสมบัติสำคัญของพนักงานที่มีคุณสมบัติดีเลิศ (High character) ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและผลกำไรของบริษัท

ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคุณกาญจนา ที่ได้รับเกียรติจากท่านในการสัมภาษณ์เพื่อนำมาเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาของหนังสือ “คนผู้ขับเคลื่อนองค์กร” ขึ้นมาทันที

คุณสมบัติ 10 ประการดังกล่าวประกอบด้วย ความซื่อสัตย์ (Honesty) มีความรับผิดชอบ (Accountability) ห่วงใยผู้อื่น (Care) กล้าหาญ (Courage) ยุติธรรม ตรงไปตรงมา (Fairness) สำนึกในบุญคุณ (Gratitude) ความอ่อนน้อม ถ่อมตน (Humility) มีความจงรักภักดี (Loyalty) อดทน (Patience) และ มีสมาธิ จดจ่อกับงานที่ได้รับมอบหมาย (Presence)

Dr.Bruce กล่าวว่า พนักงานที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าว นอกจากจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจ ยังมีส่วนอย่างมากในการสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นภายในองค์กรด้วย

คุณกาญจนาเล่าให้ฟังว่าเพียงระยะเวลาแค่ 3 ปีจากพนักงานขายเครื่องสำอางค์ เธอก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้างานขาย ดูแลทุกสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 10 ปีต่อมานอกจากเครื่องสำอางค์เพี๊ยซ เธอก็ต้องรับผิดชอบสินค้าตัวใหม่ของสหพัฒนฯ ซึ่งได้พิสูจน์คุณสมบัติที่เป็นเลิศของเธอ จนได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของเครือสหพัฒนฯ จนถึงปัจจุบัน

การเริ่มต้นผลักดันสินค้าตัวใหม่ออกสู่ตลาดไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าโอเลียรี่ คัฟเวอร์มาร์คจะเป็นเครื่องสำอางค์คุณภาพจากประเทศญี่ปุ่น เพราะตลาดนี้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ด้วยความรับผิดชอบ อดทน มุ่งมั่นจดจ่อกับการทำงาน อย่างชนิดกัดไม่ปล่อย เป็นแบบอย่างที่ดีของทีมงาน ทำให้คัฟเวอร์มาร์คได้รับการตอบรับจากตลาดในที่สุด

ความซื่อสัตย์ อ่อนน้อมถ่อมตน มีส่วนสำคัญที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อทั้งลูกค้าและคู่ค้า ทำให้คัฟเวอร์มาร์คครองตลาดธุรกิจบันเทิง รายการโทรทัศน์ เวทีประกวด แฟชั่นโชว์และการแสดงบนเวทีเกือบทุกประเภท นั่นคือกลยุทธ์ที่ทำให้คัฟเวอร์มาร์ค เข้าถึงคนทุกกลุ่ม

และในสายตาของเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องและผู้บังคับบัญชาเธอเป็นที่รักของทุกๆ คน ด้วยความมีน้ำใจ มีความกล้าหาญเมื่ออยู่ในฐานะผู้บริหารที่ต้องเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติ มีความยุติธรรมต่อผู้ใต้บังคับบัญชา มีความสำนึกในบุญคุณและจงรักภักดีต่อองค์กร เธอยังคงทุ่มเทในการทำงานให้กับเครือสหพัฒนฯ แม้ว่าเธอจะมีฐานะมั่นคงพอที่จะสร้างธุรกิจของตนเอง

การแสวงหาผู้ที่มีคุณสมบัติที่เป็นเลิศดังที่กล่าวมา จึงไม่ต่างอะไรกับการแสวงหาเพชรน้ำหนึ่งมาประดับเรือนแหวนทองคำ

แต่ก็เป็นความคุ้มค่าที่จะแสวงหา นั้นคือ ไม่ได้มองแค่ความรู้ความสามารถ แต่ต้องมองไปถึงคุณสมบัติภายในที่จะมาเป็นแรงขับเคลื่อนองค์กรด้วย

คงเป็นเรื่องยากหากจะแสวงหาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 10 ประการ ผู้บริหารอาจลองลำดับความสำคัญของคุณสมบัติที่ต้องการขององค์กรก่อน เพื่อเป็นทางเลือก โดยกำหนดเป็น 6 ใน 10 หรือ 5 ใน 10 เป็นต้น แล้วลองศึกษาดูว่ามีวิธีการใดบ้างที่จะทดสอบเพื่อให้ได้คุณลักษณะอย่างที่ต้องการ

อย่าลืมว่าการแสวงหาเพชรน้ำหนึ่งมาสร้างมูลค่ากับองค์กรนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะการเจียรนัยให้เพชรมีเหลี่ยมงาม ทอประกายสูงค่านั้นอยู่ในมือผู้บริหารที่จะพัฒนา สร้างการเติบโตและรักษาพวกเขาหรือเธอไว้ในองค์กรด้วยความผูกพัน เพชรน้ำหนึ่งนั้นก็จะสร้างมูลค่าให้กับองค์กรตลอดไป

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น