18 มกราคม 2016

polution_sea

ใครจะคิดว่าขยะเพียงหนึ่งชิ้นที่ทิ้งลงทะเล จะกลายเป็นภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก! แต่อย่าลืมว่า 1 คน 1 ชิ้นก็เป็นสาเหตุของภัยดังกล่าวได้ อย่างที่  Dr Mae-Wan Ho ได้เขียนถึงภัยพิบัติพลาสติกในมหาสมุทรไว้ในเว็บไซต์ theecologist.org ว่า “ในปี 2015 มีแนวโน้มว่าโลกจะมีพลาสติก 3.3 หมื่นล้านตัน และมันจะกลายเป็นขยะในทะเล ซึ่งก่อให้เกิดสารพิษและความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ตลอดจนห่วงโซ่อาหาร”  ดังนั้นทางเลือกหนึ่งในการจัดการ คือ การจำแนกประเภทพลาสติกที่มีสารพิษเป็นของเสียอันตราย การใช้กระบวนการผลิตและการรีไซเคิลพลาสติกด้วยระบบปิด (Closed-loop system) เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่

จากการรวบรวมข้อมูลของคณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ชิลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ระหว่างปี 2007 ถึง 2013 ซึ่งได้เดินทางสำรวจบริเวณวงวนใหญ่ของมหาสมุทร 5 แห่ง  ที่เคลื่อนไหวไปมาในมหาสมุทรทั่วโลก ได้แก่ แปซิฟิคเหนือ แอตแลนติกเหนือ แปซิฟิกใต้ แอตแลนติกใต้ และมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงภูมิภาคชายฝั่งทะเลที่กว้างขวางและทะเลล้อมรอบ รวมทั้งอ่าวเบงกอลชายฝั่งออสเตรเลีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นการสำรวจที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด เพื่อประเมินระดับมลภาวะของพลาสติกในมหาสมุทร พบว่า มีขยะพลาสติกกว่า 5 ล้านล้านชิ้น ลอยอยู่ในมหาสมุทรและมีน้ำหนักกว่า 268,940 ตัน เป็นสาเหตุให้เกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อาหารในทะเล

ในปี 2012 ทั่วโลกผลิตพลาสติก 280 ตัน ซึ่งส่วนหนึ่งถูกฝังกลบและนำมาใช้ใหม่ แต่ส่วนที่เหลือประมาณ 150 ล้านตันกลายเป็นขยะทั้งที่ยังไม่ได้ใช้งาน และเป็นขยะในมหาสมุทร แนวโน้มของโลกแสดงให้เห็นว่าขยะพลาสติกที่ถูกสะสมอยู่มีปริมาณพอๆ กับแนวโน้มการผลิตพลาสติกใหม่ ซึ่งเพิ่มขึ้น 560 เท่าในเวลาเพียง 60 ปี

ขยะพลาสติกอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ประมาณการการสำรวจมลพิษจากพลาสติกทั่วโลกบนพื้นผิวทะเลคิดเป็น 0.1% ของการผลิตพลาสติกของโลกต่อปี เป็นการประมาณการที่ยากจะยอมรับได้ เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงพลาสติกจำนวนมากมายมหาศาลที่ถูกซัดขึ้นไปบนแนวชายฝั่ง จมอยู่ใต้น้ำ หรือพื้นดินใต้ทะเล ขยะพลาสติกในมหาสมุทร    จะถูกย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยผ่านรังสียูวี การสึกกร่อน การย่อยสลายทางชีวภาพ และการสลายตัว ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่กระจายไปในมหาสมุทรจะไปรวมกันบริเวณวงวนใหญ่ของมหาสมุทร ก่อให้เกิดการสะสมมลพิษจากพลาสติกในอ่าวและทะเลที่ล้อมรอบด้วยสิ่งมีชีวิตแนวชายฝั่ง และส่งผลกระทบต่อการบริโภครวมถึงสิ่งมีชีวิตทางทะเล ตั้งแต่แพลงก์ตอนจนถึงปลาวาฬ นกทะเลและสัตว์เลื้อยคลาน

 

พลาสติกในทะเลสาเหตุของความเสียหายของระบบนิเวศ

ทีมนักวิทยาศาสตร์โดย Chelsea Rochman จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส และ Mark Anthony Browne จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บาราในสหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็น      ใน Journal Nature ในปี 2013 ถึงความจำเป็นของการจำแนกขยะพลาสติกที่เป็นอันตราย พวกเขาชี้ให้เห็นว่าพลาสติกชิ้นเล็กชิ้นน้อยเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า และพลาสติกจำนวนมากเป็นอันตรายทางเคมี ส่งผลให้เกิดสารพิษ

ขยะพลาสติกทำลายระบบนิเวศวิทยา และความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิต  รวมถึงหอยแมลงภู่  หญ้าทะเล ปะการัง สัตว์เลี้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และนก ซึ่งได้รับอันตรายจากการบริโภคพลาสติก ในปี 2012 สำนักงานนโยบายและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา รายงานว่า          เต่าทะเลทุกสายพันธุ์ รวมถึง 45% ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล และ 21% ของสายพันธุ์นกทะเล จะได้รับอันตรายจากขยะพลาสติก ขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร โดยจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าปลาและจุลินทรีย์ จะกินสิ่งที่มีขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จากการสังเคราะห์ เช่น โพลีเอสเตอร์หรืออคริลิค เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่มีส่วนผสมของพลาสติก การศึกษาในมนุษย์และหอยแมลงภู่พบว่า การบริโภคและสูดดมพลาสติกขนาดเล็กจะมีอันตรายต่อระบบเซลล์และเนื้อเยื้อ

ความเป็นพิษของพลาสติก

พลาสติกผลิตจากโมโนเมอร์ (หน่วยเล็กๆ ของสารในพอลิเมอร์) และส่วนผสมต่างๆซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ตามระบบสากลการจําแนกประเภทและการติดฉลากสารเคมี จำแนกพลาสติกที่มีส่วนผสมของสารเคมีมากกว่า 50% เป็นพลาสติกอันตราย การศึกษาเพื่อสำรวจการถ่ายทอดสารเติมแต่งใน PVC          จากผู้ผลิตสินค้าทางการแพทย์สู่มนุษย์พบว่าสารเคมีสามารถสะสมในเลือด การทดสอบโมโนเมอร์และส่วนผสมของพีวีซี (PVC) โพลิสไตรีน (polystyrene) พอลิยูรีเทน (polyurethane) และโพลิคาร์บอเนต(Polycarbonate) ในห้องปฏิบัติการพบว่าส่งผลเป็นสารก่อมะเร็งและกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในเชิงฮอร์โมนเพศหญิง

โมโนเมอร์ เป็นส่วนประกอบของพลาสติกบางประเภท เช่น โพลีเอทิลีน (Polyethylene) ใช้ทำกระเป๋าถือ แต่วัสดุเหล่านี้ยังกลายเป็นสารพิษและทำให้เกิดมลภาวะอื่นๆ นอกจากนี้มลพิษจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารอินทรีย์ เช่น โพลีคลอริเนตไบฟีนิล (Polychlorinated biphenyls) ถูกพบในขยะพลาสติก และในน้ำทะเลมากกว่าในดิน

ความสำคัญของมลพิษจากสารเคมี ถูกควบคุมโดยหน่วยงานรัฐบาลร่วมกับสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US Environment Protection Agency (EPA)) เพราะสารพิษจะตกอยู่กับสิ่งมีชีวิตหรือห่วงโซ่อาหาร สารเคมีเหล่านี้สามารถทำลายกระบวนการแบ่งเซลล์และภูมิคุ้มกัน มีการวิเคราะห์ว่าอย่างน้อย 78% ของมลพิษที่มีความสำคัญที่ระบุโดย EPA และ 61% โดยสหภาพยุโรป มีสาเหตุจากชิ้นส่วนพลาสติก นกทะเลที่กินขยะพลาสติกจะมีโพลีคลอริเนตไบฟีนิลในเนื้อเยื้อมากกว่านกทะเลที่ไม่ได้กินขยะพลาสติกถึง 300%

การจำแนกความอันตรายของขยะพลาสติก

ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามลดขยะพลาสติกในมหาสมุทรมาหลายศตวรรษ และจากการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันมลภาวะทางเรือ (MARPOL) ซึ่งได้ลงนามเกี่ยวกับการห้ามทิ้งขยะพลาสติกในทะเล ในปี 1973 แต่จนกระทั่งปี 1988 ยังไม่มีการบังคับใช้ในเชิงกฎหมาย ถึงแม้จะมีประเทศที่เห็นด้วยกับการกำจัดขยะพลาสติกในทะเลถึง 134 ประเทศก็ตาม แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่และมีแนวโน้มแย่ลง

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า “อันตรายจากเศษพลาสติกมีให้เห็นมากพอสมควร และคำแนะนำเกี่ยวกับสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายเป็นสิ่งที่น่ากังวล ที่ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ในสหรัฐ ยุโรป และจีน ต้องรีบดำเนินการ โดยควรจำแนกระดับความอันตรายของขยะพลาสติก  รวมถึงไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่”              พลาสติกที่เป็นอันตรายมี 4 ประเภท คือ พีวีซี (PVC)  โพลิสไตรีน (polystyrene) พอลิยูรีเทน (polyurethane) และ โพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate)  ซึ่งทำจากวัสดุที่เป็นพิษและไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่

พีวีซีที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ท่อน้ำที่บรรจุน้ำดื่ม โพลิสไตรีน (polystyrene) ที่ใช้ในการบรรจุอาหาร

พอลิยูรีเทน (polyurethane) ใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ และโพลิคาร์บอเนต (Polycarbonate) ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์  ซึ่งด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค    ควรมีวัสดุที่มีความปลอดภัย คงทน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มาทดแทน เช่น พอลิโพรไพลีน (polypropylene) และอลูมิเนียม

แนวทางการจำแนกประเภทพลาสติกโดยบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์มีข้อเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตพลาสติกเป็นระบบปิด และนำกลับมาใช้ใหม่ แทนการฝังกลบในดิน เนื่องจากสารเคมีจากพลาสติกจะยังคงอยู่ในสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา: http://www.theecologist.org/News/news_analysis/2754036/ fighting_the_plastic_plague_in_our_oceans.html




Writer

โดย ศาตพร เผ่าสกุลทอง

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
เจ้าหน้าที่สนับสนุนธุรกิจ แผนกสนับสนุนธุรกิจ
สายงานธุรกิจ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ศาตพร 0-2619-5500 ต่อ 585
mailto: Saataporn@ftpi.or.th