25 พฤศจิกายน 2016

aepm

องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ Asian Productivity Organization (APO) เปิดตัวคลังข้อมูลออนไลน์ Asian Economic Productivity Map (AEPM) เป็นครั้งแรก รองรับผู้ใช้งานจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งสมาชิกองค์กรเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (NPOs) ผู้กำหนดนโยบายขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ฝ่ายวางแผนองค์กรและกลุ่มผู้ใช้อื่น ๆ ถือเป็นการริเริ่มเผยแพร่ข้อมูลการเพิ่มผลิตภาพให้แก่เหล่าประเทศสมาชิกทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ http://www.apo-tokyo.org/wedo/measurement/aepm/

AEPM เป็นแหล่งทรัพยากรความรู้ออนไลน์ด้านการเพิ่มผลิตภาพและเศรษฐกิจ   ซึ่งสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและเข้าใช้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลิตภาพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมข้อมูลระบบเศรษฐกิจของ 30 ประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งสามารถค้นหาเปรียบเทียบข้อมูลกับกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( ASEAN), กลุ่มภูมิภาคเอเชียใต้, คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council), สหภาพยุโรป (EU 15) และประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.สันติ กนกธนาพร เลขาธิการองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของคลังข้อมูลดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่อระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น “ประเทศสมาชิกด้านการเพิ่มผลิตภาพทั่วทุกมุมโลกล้วนแต่ต้องการแหล่งข้อมูลดิจิทัลอย่าง AEPM ด้วยการนำเสนอที่เรียบง่ายทว่าสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจน AEPM จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงซึ่งภาครัฐและองค์กรเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (NPOs) สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงเมื่อต้องการเทียบเคียงผลิตภาพ (Productivity Benchmarking) ระหว่างกัน”

Asian Economic Productivity Map (AEPM) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์อันโดดเด่นจากโครงการวิจัย Productivity Data Book และ Database ขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ด้วยความร่วมมือกับ Keio Economic Observatory นำโดยศาสตราจารย์โคจิ โนมูระ และทีมผู้ช่วยวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคโอ

ศาสตราจารย์โนมูระ ได้อธิบายถึงผลสำเร็จของคลังความรู้อย่าง Asian Economic Productivity Map (AEPM) เพิ่มเติมว่า “เราสามารถรวบรวมคลังข้อมูลความรู้ที่มีมายาวนานถึง 40 ปี ด้วยการวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน ผ่านความร่วมมือระหว่างองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียและมหาวิทยาลัยเคโอ AEPM เป็นเครื่องมือออนไลน์ในการแสดงตัวอย่างข้อมูลด้านผลิตภาพขององค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ประกอบด้วยตัวชี้วัดผลพื้นฐานด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งข้อมูลจะถูกเก็บรวบรวมจากระบบเศรษฐกิจของ 30 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย แบ่งเป็นประเทศสมาชิกองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย 20 ประเทศ ส่วนอีก 10 ประเทศเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้เป็นเกณฑ์การอ้างอิง (Reference Countries)”

“เมื่อพิจารณาจากแผนแม่บทวิเคราะห์การเติบโตทางบัญชี (Growth Accounting Framework) ข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจจะถูกแบ่งประเภทออกเป็นปัจจัยจากแรงงาน ทุน และผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity) ของประเทศสมาชิกและประเทศที่ใช้เป็นเกณฑ์การอ้างอิงอย่างสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ข้อมูลปัจจัยผลิตภาพโดยรวมจะช่วยวิเคราะห์ศักยภาพด้านต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยผู้ใช้งาน AEPM จะสามารถวิเคราะห์ ทิศทางด้านการเพิ่มผลิตภาพได้อย่างถูกต้องและแม่นยำด้วยข้อมูลที่เก็บสะสมมายาวนานถึง 40 ปี”

Asian Economic Productivity Map (AEPM) จะแสดงทิศทางด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มผลิตภาพในรูปแบบกระดานภาพกราฟิก การนำเสนอข้อมูลด้านผลิตภาพจะถูกแบ่งสัดส่วนออกเป็นหัวข้อผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคน (Per-worker Labor Productivity) ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อชั่วโมงทำงาน (Per-hour Labor Productivity) และอัตราการเติบโตของผลิตภาพโดยรวม (TFP Growth Rates)

อีกทั้ง การเติบโตของผลิตภาพแรงงานจะประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการเกษตร การผลิต การค้าส่งและค้าปลีก การขนส่ง และการสื่อสาร ส่วนข้อมูลตัวแปรด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ สามารถเข้าถึงเพื่อนำไปใช้อ้างอิงได้เช่นกัน ได้แก่ ผลผลิต ทุน อุปสงค์ กำไร ประชากร และระดับราคา




Writer