4 พฤศจิกายน 2016

woman

การมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตลาดแรงงานเป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันอยู่เสมอ ประเทศสมาชิกองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชียตระหนักถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ด้วยต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงวัยทำงาน ผ่านการวิเคราะห์และอภิปรายถึงข้อมูลจากนโยบายของรัฐบาลและแบบปฏิบัติที่ดีของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมไปถึงการศึกษาบริบทของสังคมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิง นำไปสู่การนำเสนอแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงต่อไป

แนวโน้มและรูปแบบการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรีที่ส่งผลต่อผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • ประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน

ประชากรชายมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2015 มีประชากร 127 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน 66 ล้านคน เป็นชาย 37 ล้านคน หญิง 28 ล้านคน มีการประกอบอาชีพ 56 ล้านคน ประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานของครอบครัว 7 ล้านคน อีกทั้งโครงสร้างตลาดแรงงานชายวัย 50-59, 60-64, และ 65 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะแรงงงานวัย 20-24 ลดลงต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานใหม่ๆ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ประชากรผู้หญิงในตลาดแรงงานของญี่ปุ่น จะออกจากงานช่วงอายุ 27-39 ปี ทำให้โครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ด้วยเหตุผลจากการมีครอบครัว ผู้หญิงจากที่เคยทำงานมีรายได้ ต้องออกไปดูแลบุตร ทำให้มีรายได้ทางเดียวจากฝ่ายชาย และกลับเข้าตลาดแรงงานอีกครั้งในช่วงอายุ 40-50 ปี หลังจากอายุ 50 ปี ผู้หญิงมีแนวโน้มทำงานเป็น Part-time มากขึ้น และออกจากตลาดแรงงานไปหลังอายุ 65 ปี ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ก็มีรูปแบบโครงสร้างแรงงานหญิงเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น นั่นหมายความว่าผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างแรงงานหญิงในตลาดแรงงานช่วงอายุระหว่าง 29-39 ปี ซึ่งมีลักษณะเป็น M Shape

apo

อีกทั้งค่านิยมสังคมที่ให้ความสำคัญต่อเพศไม่เท่ากัน ส่งผลผู้หญิงได้รับค่าตอบแทนเพียง 74% ของค่าตอบแทนผู้ชายในงานลักษณะเดียวกันและวุฒิการศึกษาเท่ากัน นอกจากนั้นผู้หญิงที่ทำงานในระดับบริหารมีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างน้อย ทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชน โดยเงื่ือนไขของการบริหารงานบุคคลของญี่ปุ่นนั้น หากผู้หญิงจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง จะต้องทำงานอย่างน้อย 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นับว่าแรงงานผู้หญิงมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากต่อผลิตภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระดับครัวเรือน องค์กรและประเทศ แต่ค่านิยมทางสังคมและแนวปฏิบัติในองค์กรต่อผู้หญิงกลับเป็นอุปสรรคที่สำคัญเช่นกัน

  • ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม

ถึงแม้ประชากรจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนของผู้หญิงในตลาดแรงงานยังน้อยกว่าผู้ชาย เนื่องจากความไม่เท่าเทียมในสังคม มีการกดขี่ การทำร้ายร่างกายและการล่วงละเมิดทางเพศ อีกทั้งเรื่องค่าตอบแทนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย สำหรับทั่วโลกนั้น ค่าตอบแทนสำหรับผู้หญิงน้อยผู้กว่าชายถึง 2.5 เท่า ส่วนประเทศในแถบเอเซียห่างกันถึง 3 เท่า รวมถึงเกิดการจ้างแรงงานเด็กมากถึง 40% ของคนไม่มีอาชีพที่อาศัยอยู่ในชนบท ผู้หญิงไม่สามารถเป็นตัวแทนหรือมีบทบาทในการตัดสินใจในระดับองค์กร อันเกิดมาจากทัศนคติ ค่านิยมของสังคม และผู้หญิงจำนวนมากอยู่นอกตลาดแรงงานหรือทำงานบ้าน

ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปถึง 42-47 พันล้านดอลล่าร์ต่อปี เป็นผลมาจากที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสในการทำงาน

  • ประเทศในแถบเอเชียใต้ ได้แก่ ประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ

ประชากรมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการย้ายถิ่นฐานมากขึ้น อัตราการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในประเทศแถบเอเชียใต้ ในปี 2556 สำหรับประเทศอินเดียอยู่ที่ 27% ปากีสถาน 25% และบังคลาเทศ 33.5% และสัดส่วนของหญิงในตลาดแรงงานเฉลี่ยอยู่ประมาณ 35% ซึ่งอยู่ในภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนมาก สำหรับในภาคอุตสาหกรรมแรงงานหญิงส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ผู้หญิงในตลาดแรงงานได้รับความสนใจน้อย ไม่เท่าเทียมกับแรงงานชายในเรื่องการดูแลเรื่องค่าตอบแทน สิทธิสวัสดิการ สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน แรงงานหญิงยังเผชิญกับปัญหาค่าตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับแรงงานชายแม้เป็นงานประเภทหรือลักษณะเดียวกัน มีปัญหาการล่วงเกินทางเพศ ทั้งยังไม่มีสิทธิการลาคลอดและดูแลบุตร

  • ประเทศสหรัฐอเมริกา

กฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติ และค่านิยม ยังเป็นอุปสรรคสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ซึ่งค่าตอบแทนของผู้หญิงยังอยู่เพียง 78% ของผู้ชายในงานลักษณะเดียวกัน มีผู้หญิงถึง 72% ทำงาน Part-time ในช่วงเย็นหรือวันหยุด ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มทำงานจนเกษียณ และคนหนุ่มสาวเข้าตลาดแรงงานช้าลง เนื่องจากใช้เวลาไปกับการศึกษามากขึ้น

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ผู้หญิงในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาสูงขึ้น เมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานจึงประกอบวิชาชีพชั้นสูงเพิ่มขึ้น เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ และนักกฎหมาย เป็นต้น ในปี 2014 World Economic Forum (WEF) รายงานว่า การที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการทำงานที่มีผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้ GDP ของสหรัฐอเมริกาโตขึ้นกว่า 5% และ Mckinsey รายงานไว้ในปี 2012 ว่าบริษัทที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูง มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 14%

ดังนั้น เมื่อเทียบกันแล้วจะเห็นว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงจึงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากกว่าประเทศในแถบเอเชีย โดยส่วนใหญ่จะทำงานในลักษณะ Part-time นอกเหนือจากงานประจำ อีกทั้งการศึกษาของผู้หญิงที่สูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา มีนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการเพิ่มการจ้างงาน สิทธิทางภาษี การออกกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับการลาคลอด การลาเพื่อดูแลบุตร เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการมีส่วนร่วมของผู้หญิง

  1. ค่านิยมและการยอมรับทางสังคม

    สังคมยังให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่งผลให้ขาดความเท่าเทียมกันในการจ้างงาน หากเป็นการทำงานในงานลักษณะเดียวกัน ค่าตอบแทนของเพศหญิงยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเพศชาย อีกทั้งบางตำแหน่งงานยังมีข้อกำหนดรับเฉพาะเพศชายเท่านั้น และผู้หญิงไม่สามารถเป็นตัวแทนหรือมีบทบาทในการตัดสินใจในระดับองค์กรอีกด้ว

  2. วัฒนธรรมการทำงาน

    ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผู้หญิงจะออกจากตลาดแรงงานในช่วงอายุ 27-39 ปี ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ดังเช่น ต้องออกไปดูแลครอบครัว ทำหน้าที่ภรรยา ดูแลบุตร และคนสูงอายุ เมื่อหมดภาระจึงกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้ง ทำให้การจ้างงานของผู้หญิงขาดความต่อเนื่อง

แนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง

  1. การออกกฎหมายคุ้มครองการทำงานให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ

    ประกาศใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิผู้หญิงให้มีความเท่าเทียมกับผู้ชายในทุกสาขาอาชีพ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิง เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำงาน การพัฒนาความรู้และทักษะ รวมถึงลดความรุนแรงทางเพศ

  2. การออกนโยบายให้ความช่วยเหลือแรงงานหญิงของรัฐบาล

    สำหรับประเทศไต้หวัน ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี รัฐบาลไต้หวันช่วยนายจ้างในการจ่ายค่าจ้างให้ 12,000 ดอลล่าร์ไต้หวันต่อเดือน หรือ 65 ดอลล่าร์ไต้หวันต่อชั่วโมง ต่อพนักงานหนึ่งคน ส่วนในประเทศมาเลเซีย รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งระดับบริหาร มีอำนาจในการตัดสินใจ จำนวนอย่างน้อย 30% ของจำนวนผู้บริหารทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน

  3. การเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรหรือ การตั้งหน่วยงานที่ส่งเสริมบทบาทสตรี

    ประเทศมาเลเซีย จัดตั้งเครือข่าย flexWorkLife.my Portal โดย TalentCorp Malaysia ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างนายจ้างและพนักงาน ดูแลให้ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวของพนักงานหญิงมีความสมดุลมากขึ้น สามารถกลับเข้ามาทำงานใหม่ได้หลังจากจำเป็นต้องลาออกไปดูแลบุตรและครอบครัว

โดยสรุปแล้ว อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง จะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ วัฒนธรรม ค่านิยมทางสังคม ตลอดจนความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทว่าในปัจจุบันผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการพัฒนาต่อไป

เรียบเรียงจาก รายงานเข้าร่วมโครงการเอพีโอ โดย คุณฉันทลักษ์ มงคล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมโครงการ Conference on Female Workforce Participation and Productivity Enhancement จัดโดยองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2559




Writer