26 ตุลาคม 2016

eco

กระแส “Eco-Life” ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบันเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการปรับตัวเพื่อสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน คำนึงถึงประโยชน์ของคนรุ่นหลังสืบไป องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในฐานะหน่วยงานเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย ได้จัดสัมมนานานาชาติหัวข้อ Asia EnviroEconomics Conference : Concerted Efforts for a Sustainable Future through 24-hour Eco-life ร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิด วิสัยทัศน์ แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับบทบาทและการปฏิบัติขั้นสูงของการเพิ่มผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) มุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกัน ทั้งในภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึง NGO ซึ่งสามารถแบ่งแนวทางปฏิบัติสู่ความยั่งยืนได้ ดังนี้

1. Imperatives for Forging Pathways to Sustainable Society and Life : เส้นทางของสังคมและชีวิตแบบยั่งยืน ตัวอย่างเช่น

  • Energy Innovation and New Lifestyle นวัตกรรมด้านพลังงานและวิถีชีวิตแบบใหม่
    Dr.Woodrow Wilson Clark ,ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Clark Strategic Partners ได้กล่าวว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial Revolution) เกิดขึ้นในแถบเอเชีย ยุโรป และทวีปต่างๆ โดยคำว่า “Green” หมายถึง “Renew” หรือหมุนเวียน ซึ่งในปี 2015 พบว่า ทั่วโลกมีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนถึง 286 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าปี 2004 ถึง 6 เท่า การปฏิวัตินี้ เพื่อการควบคุมและป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนโดยผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ด้วยการมีแผนพลังงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยี “Green and Blue” จากพลังงานหมุนเวียน (แสงอาทิตย์ ลม คลื่นมหาสมุทร) มาใช้ร่วมกับวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมโยธา ตัวอย่างของอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น รถไฮโดรเจน, รถเซลล์เชื้อเพลิง, Earth Accounting การสแกนบาร์โค้ดดูผลกระทบของผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อมหรือสังคม และดูค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น
  • Towards Zero Emission Life มุ่งสู่ชีวิตที่ปล่อยของเสียเป็นศูนย์
    Professor Gunter Arthur Martha Pauli ดำรงตำแหน่ง Economist Zero Emissions Research and Initiatives ได้กล่าวว่า นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือสิ่งจำเป็นสำหรับโมเดลทางธุรกิจ เช่น บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งในประเทศสเปน 18 ปีที่แล้ว ไม่มีน้ำ ไฟฟ้า งานหรือธุรกิจใดๆ แต่จากการพัฒนานวัตกรรม ทำให้ปัจจุบันมีน้ำใช้มากเป็น 2 เท่าในราคาถูก ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทำการเกษตรปลอดสารพิษ (Organic Agriculture) มีโรงงานขนาดเล็ก ฟาร์มแบบเปิด และมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านยูโร
  • Ethical Consumption การบริโภคอย่างมีจริยธรรม
    Professor Ryoichi Yamamoto จากUniversity of Tokyo กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า Ethical Consumption กำลังเป็นแนวทางใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบเชิงจริยธรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงสวัสดิภาพของสัตว์ มาตรฐานแรงงาน สิทธิมนุษยชน การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) การตลาดเพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามความหมายของ UNEP (United Nation Environment Program) คือ เศรษฐกิจที่สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ และความเสมอภาคทางสังคม โดยที่ยังสามารถลดความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาความขาดแคลนทรัพยากรได้
  • Agricultural Innovation นวัตกรรมเกษตร
    ดร.พงศ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ได้กล่าวถึงการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง เนื่องด้วยประเทศไทยใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรถึงร้อยละ 41 และมีผลิตผลทางการเกษตรเพื่อใช้ในการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออก การเปลี่ยนวิถีทางในภาคการเกษตรจึงถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความยั่งยืน การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนตาม “ทฤษฎีใหม่” สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจําวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองมากขึ้น ขั้นต่อมาคือ รวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันในด้านต่างๆ และสุดท้ายคือการนําผลิตภัณฑ์เข้าสู่ระบบธุรกิจ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคํานึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทําต่าง ๆ

2. How Businesses and Industrial Innovation Can Contribute to Sustainability : บทบาทของภาคธุรกิจต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น

  • Japanese Cooperation for Developing Thai Eco-town ความร่วมมือจากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาเมืองนิเวศน์ (Eco-town) Mr. Hitoshi Ikuma จาก Center for the Strategy of Emergence The Japan Research lnstitute, Limited ได้กล่าวว่า Japan Research Institute (JRI) ประเทศญี่ปุ่นร่วมพัฒนาเมืองนิเวศน์ในประเทศไทย โดยดำเนินการพัฒนา Amata Science City “เมืองวิทยาศาสตร์อมตะ” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ให้เป็น “Innovation Hub” หรือศูนย์กลางนวัตกรรม ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้เจริญเติบโตไปพร้อมกับความเจริญของชุมชนและการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างสมดุล เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

food1

food2

อีกทั้งมีการริเริ่มแนวคิด Smart City ดังเช่น เมืองคาชิวะ จังหวัดชิบะซึ่งได้ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คือ การนำแสงอาทิตย์ ลม น้ำพุร้อน และก๊าซชีวภาพ เชื่อมโยงกับอาคารบ้านเรือน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ด้านระบบการจราจรก็มีการเชื่อมโยงกับยานพาหนะ รถโดยสาร และอุปกรณ์มือถือเช่นเดียวกัน หรือแนวคิด Smart House เป็นบ้านอัจฉริยะที่ใช้ระบบแสงอาทิตย์ เซลส์เชื้อเพลิง แบตตารีลิเธียมไออนและระบบการบริหารพลังงานประเภทที่อยู่อาศัย (House Energy Management Systems : HEMS)   สามารถลดการใช้พลังงานลงเป็นศูนย์ได้

3. Eco Lifestyle : วิถีชีวิตแนวอีโค  ตัวอย่างเช่น

  • Eco Fashion ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวถึงแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล ใช้เนื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เส้นใยธรรมชาติ ย้อมสีธรรมชาติ Bio – Process นอกจากนี้ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากชีวภาพ องค์การมหาชน (Biodiversity-Based Economy Development Office—BEDO) ทำโครงการวิจัยพัฒนาวัตถุดิบที่ปลอดสารเคมี เช่น เส้นใยไผ่ ใยสับปะรด ใยบัว ซึ่งต้องนำมาผสมกับฝ้ายเพื่อผลิตเป็นผ้า เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว กระแสโลกกำลังตอบรับกับการมาถึงของ “Eco Life” โดยบรรดาประเทศชั้นนำทั่วโลกต่างมีแนวโน้ม ทิศทางการดำเนินงาน และความตื่นตัวเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีความก้าวหน้าในด้านศักยภาพสินค้า บริการ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปีนี้ ประเทศไทยโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และ Asian Productivity Organization ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานนานาชาติ Eco-Products International Fair หรือ EPIF 2016 ภายใต้แนวคิด ‘24 – Hour Eco Life’ หรือ “รักษ์โลกง่าย ๆ ทำได้ 24 ชั่วโมง” เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวันของเราสามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Productivity) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา : เรียบเรียงจาก รายงานเข้าร่วมโครงการเอพีโอ โดย นางสาวชนินทิตา วัชรมูล วิทยากรระดับ 9 ฝ่ายกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้เข้าร่วมโครงการ Asia EnviroEconomics Conference : Concerted Efforts for a Sustainable Future through 24-hour Eco-life จัดโดย องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization: APO) ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มที่ https://www.ftpi.or.th/wp-content/uploads/2016/08/14IN60CONHEPIF-ChanintitaW10Aug16.pdf




Writer