24 ธันวาคม 2015

001

ขณะที่รัฐบาลไทยกำลังสร้างฝันให้นักธุรกิจด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อตอบรับ AEC  ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกเกือบสิบปี ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) ก็รุกคืบอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจอาเซียนอย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือมีการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยไปที่เวียดนามทั้งบริษัทคนไทยและต่างชาติ โดยเวียดนามเองก็เร่งขยายระบบรถไฟความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน โรงไฟฟ้า สนามบิน และท่าเรือเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

TPP คือการเล่นเกมรุกของสหรัฐอเมริกาที่จะรักษาตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจนั่นเอง และถ้าสังเกตให้ดีแม้ว่าพฤติกรรมหลายประการไม่น่าไว้วางใจ แต่ต้องยอมรับว่าสหรัฐอเมริกาเป็นตัวเล่นเกมรุกกับโลกอยู่ตลอดเวลา จึงรักษาตำแหน่งแถวหน้าอยู่ได้

ในโลกของการแข่งขันเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าผู้เล่นเกมรุกย่อมเป็นได้เปรียบ แต่จะทำอย่างไรจึงจะเป็นผู้รุกได้ในเมื่ออนาคตคือสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

และนั่นคือความท้าทายของการเป็นผู้นำ  แม้ว่าในมหาสมุทรจะเต็มไปด้วยม่านหมอกที่มืดมิด จนมองไม่เห็นฝั่ง คลื่นลมก็กำลังคลุ้มคลั่งด้วยพายุ กัปตันก็ต้องทำหน้าที่กำกับทิศทางให้เรือแล่นไปให้ถึงเป้าหมาย

คุณสมบัติสำคัญของผู้ก้าวรุก คือ หนึ่ง กล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย สอง รับรู้อย่างเท่าทัน สาม มุ่งไปข้างหน้า และสี่ สร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง

การเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้น ไม่ใช่เรื่องของความกล้าเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกฝนตนเองให้พร้อมด้วยทักษะที่จำเป็น เช่น ความฉับไวในการเห็นความแตกต่าง การมองเห็นโอกาส ความกล้าที่จะเปลี่ยน กล้าที่จะไปยืนบนพื้นที่ใหม่ๆ สภาพแวดล้อมใหม่ ผู้บริหารที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อนมักจะชะล่าใจต่อการเปลี่ยนแปลง และความสำเร็จจะเป็นตัวลวงให้ตกอยู่ในความประมาทเสมอ

Nokia เป็นอุทาหรณ์ในประเด็นนี้ แม้จะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ของ I-Phone เกิดขึ้นในตลาดมือถือ แต่ผู้บริหารก็ยังคงมั่นใจในความแข็งแกร่งของแบรนด์และไม่คิดว่าบริษัทที่ทำธุรกิจคอมพิวเตอร์อย่าง Apple จะเข้ามาเป็นคู่แข่ง การเข้ามาเขย่าตลาดมือถือของ I-Phone ยังไม่น่าสนใจเท่าการส่งสัญญาณให้ตลาดนี้รับรู้ว่า I-Phone ได้ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่กับผู้บริโภคแล้ว ประสบการณ์นั้นทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้น สัญญาณนี้ ไม่ได้มีผลเฉพาะธุรกิจมือถือ แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่จะเห็นได้ว่ามีผลต่อรูปแบบธุรกิจอื่นๆ ด้วยในเวลาต่อมา เช่น การทำธุรกรรมด้วย Application บนมือถือที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น ผู้บริหารจึงไม่เพียงแต่เฝ้าดูสถานการณ์ต่างๆ แต่ต้องฝึกวิเคราะห์ถึงสาเหตุหลักของเหตุการณ์นั้น ซึ่งอาจจะพบว่าในเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะต่างกัน แต่อาจมาจากสาเหตุเดียวกันก็เป็นได้ เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งทางการเมือง ความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว หรือการถดถอยของสภาวะทางเศรษฐกิจ ความเข้าใจและการมองทะลุไปยังมูลเหตุที่แท้จริงจะทำให้การคาดการณ์ในอนาคตไม่มืดมนมากนัก ปัจจุบันการรวบรวมสถานการณ์ต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อมองไปในอนาคตของนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า Futurist จึงได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งผู้บริหารควรฝึกฝนคนในองค์กรให้มีทักษะในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะจะทำให้การรุกไปข้างหน้ามีความมั่นใจมากขึ้น

คุณสมบัติข้อสุดท้ายของผู้ก้าวรุก ที่เป็นงานหลักของผู้บริหารก็คือการเตรียมความพร้อมขององค์กรให้มีความแข็งแกร่งมากพอ การก้าวไปในพ้นที่ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ที่มีความไม่แน่นอน หรือไม่มีความชัดเจน ผู้บริหารต้องทำให้ทุกคนในองค์กรเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างไม่มีใครแตกแถว และทำลายทุกข้อจำกัดที่เกิดขึ้นออกไป

ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความคิดที่คับแคบ ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ผู้บริหารที่ให้ความสำคัญแต่งานของตนเอง รวมทั้งเรื่องของงบประมาณ ตัวชี้วัด ผลประโยชน์ ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าทั้งสิ้น

เพื่อให้องค์กรที่มีความกระฉับกระเฉงพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง นอกจากการบริหารจัดการอย่างมีระบบ ผู้บริหารต้องเปิด

พื้นที่การพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นจึงต้องสร้างสรรค์ขึ้นในองค์กรอย่างมีกระบวนการ โดยมีเครื่องมือที่ผู้บริหารเชิงรุกอย่าง Steve Job , Sam Walton ผู้บริหาร Walmart และ Alan Mullanly ผู้บริหาร Ford ใช้ในการปรับเปลี่ยนองค์กร เรียกว่า JPS หรือ The Joint Practice Session ซึ่งเป็นการประชุมที่จะสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายอย่างปราศจากความขัดแย้งโดยสิ้นเชิง

หลักการของ JPS เริ่มต้นที่ความโปร่งใสของข้อมูลที่ทีมงานใช้ร่วมกัน นั่นคือทุกคนต้องใช้ข้อมูลชุดเดียวกันเพื่อให้เห็นภาพตรงกัน ผู้บริหารหลายคนอาจมองข้ามความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ผู้ร่วมงานขาดความไว้วางใจ และอาจก้าวพลาดได้เมื่อมีการตัดสินใจบนข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทีมงาน JPS จะมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะมาคิดร่วมกันและขับเคลื่อนไปด้วยกัน

ในปี ค.ศ. 1997 ที่ Steve Job กลับมาเป็น CEO ของ Apple เขาใช้เวลา 4 ชั่วโมงทุกวันจันทร์ ประชุมถกเถียงเรื่องผลิตภัณฑ์ ด้วยการรับรู้ข้อมูลอย่างถี่ถ้วน และหาข้อสรุปร่วมกัน Walmart ตั้งทีมงานหลักที่มาจากงานจัดซื้อ คลังสินค้า โลจิสติกส์และงานโฆษณา เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้คือ การเป็นจำหน่ายสินค้าราคาถูกที่สุด ด้วยคำถามสำคัญในการประชุม เช่น สินค้าอะไรบ้างที่ลูกค้าต้องการแต่เรายังไม่มี มีอะไรคงค้างในคลังสินค้าที่ยังขายไม่ได้ ราคาสินค้าเปรียบเทียบกับคู่แข่งเป็นอย่างไร เป็นต้น

การรับรู้สัญญาณอย่างฉับไว ปักหมุดหมายสำหรับอนาคต กล้าที่จะก้าวล้ำไปข้างหน้าก่อนคนอื่น แสวงหาโอกาสในท่ามกลางม่านหมอกที่มืดสลัว ด้วยรูปแบบใหม่ๆ ความไม่แน่นอนที่รออยู่เบื้องหน้า จึงไม่มีอะไรที่ต้องพรั่นพรึงเพราะเชื่อมั่นว่ามีโอกาสที่งดงามรออยู่ข้างหน้าเสมอ เพียงหมั่นฝึกฝนองค์กรให้แข็งแรง และคุ้นเคยกับความไม่แน่นอนของอนาคต

คุณก็จะเป็นหนึ่งในผู้ก้าวล้ำด้วยการก้าวรุกได้เช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าภาพรวมของประเทศจะดูเหมือนก้าวไม่ทัน แต่นั่นก็คือหนึ่งในความท้าทาย

 

ที่มาของข้อมูล : The Attacker’s Advantage, Ram Charan เขียน

ที่มา : คอลัมน์ Productivity food for thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น