24 ธันวาคม 2015

think

ในหลักสูตรการสร้างแผนภาพอนาคต ผู้เรียนต้องตอบคำถามหนึ่งคือ “ท่านมีบทเรียนอะไรในอดีต ที่ควรลืม” ฟังดูง่ายๆ แต่คำตอบกลับส่งผลอย่างยิ่งต่อการกำหนดภาพความคาดหวัง หรือจินตนาการเรื่องราวที่ต้องการอยากเห็นในอนาคต เช่น พนักงานสาวโชคดี ได้เจอกับผู้หยั่งรู้อนาคต จึงตั้งคำถามถึงสิ่งที่อยากรู้ 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ “อยากรู้ว่าจะมีแฟนหรือไม่” แต่แล้วท่านผู้หยั่งรู้ก็บอกให้พนักงานสาวตอบคำถามนั้นด้วยตนเอง ซึ่งพนักงานสาวกลับตอบว่า “ไม่มี” ทั้งๆที่ อาจจะอยากเจอคู่ชีวิตสักคน แต่ด้วยอดีตที่ผ่านมา พนักงานสาวเจอแต่ผู้ชายแย่ๆ ไม่มีความจริงใจ ทำให้ ไม่กล้าจะคิดถึงภาพในอนาคตในแบบที่อยากเห็น หรือเปิดใจยอมรับเรื่องราวใหม่ๆ ส่งผลอย่างมากให้พนักงานสาวไม่คิดจะปรับเปลี่ยน หรือเตรียมตัวเองให้พร้อม จนถึงละเลยโอกาสดีๆ ลองคิดว่า หากวันหนึ่งพนักงานสาวเจอผู้ชายที่นิสัยดี เพรียบพร้อม แต่เขาก็ไม่เลือกเรา อาจไม่ใช่เพราะเขาแย่ อย่างที่เคยเจอในอดีต แต่เป็นเพราะเรา ที่ไม่เรียนรู้จะเปลี่ยนตัวเองเพื่ออนาคต

การปิดกั้นความคิดจากบทเรียนความผิดพลาดในอดีต และขาดความสามารถในการลำดับเหตุการณ์ และสร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเรื่องราว ซึ่งนำไปสู่การคิดจินตนาการ เป็นลักษะของ mental block ซึ่งสำคัญมากในการกำหนดวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ตัวอย่างบริษัทหนึ่งต้องการจะเห็นภาพตัวเองเป็นผู้นำในตลาด แต่กลับกำหนดวิสัยทัศน์เพียง “เข้าใจและตอบสนองได้ตามที่ลูกค้าต้องการ” โดยอาศัยการตลาดแบบบอกต่อมากกว่าการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในตลาดด้วยความกลัวการลอกเลียนแบบของคู่แข่งที่เคยสร้างความเสียหายให้กับองค์กร จึงปิดกั้นตัวเองที่จะไปเผชิญหน้ากับคู่แข่งในงานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้บริษัทไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มลูกค้า ทั้งๆที่มีความรู้ เทคโนโลยีทันสมัยและความเข้าใจในตัวสินค้าประเภทนี้สูงมาก หรือในอีกกรณีบริษัทต้องการวางแผนกลยุทธ์ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปี จึงพยายามปะติดปะต่อเรื่องราวจากข้อมูลในอดีตและแนวโน้วในอนาคต แต่กลับไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นให้เห็นภาพที่ต่อเนื่องชัดเจนได้ เนื่องจากองค์กรยังมีความคิดว่า “เดี๋ยวก็ขัดแย้ง จนประท้วงอีก” ทำให้เรื่องราวไม่สามารถสร้างความต่อเนื่องได้ ทำให้ไม่เกิดกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นองค์กรจึงมักยึดเอาแนวทางของบรรดากูรูทั้งหลายเป็นหลัก ทั้งๆที่ภาพในอนาคตอาจแตกต่างกันตามบริบทของธุรกิจและลักษณะขององค์กร

สมัยเด็กๆ เราคงคุ้นชินกับประโยคนี้บ่อยๆ “อย่าทำอีกน่ะ” เมื่อทำสิ่งผิดพลาด โดยไม่เคยเรียนรู้เหตุและผล ว่าความผิดพลาดนั้นเกิดจากอะไร ควรป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร และส่งผลในประเด็นอื่นใดอีกบ้าง แต่กลายเป็นบทเรียนที่จดจำมาว่า “ไม่ควรทำอย่างนั้นอีก” จนไม่กล้าที่จะทำอะไรในลักษณะเดียวกัน จนแม้แต่จะคิดทำอย่างอื่นก็ไปต่อไม่ถูก ด้วยยังค้างคากับความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น

ดังนั้นการปลดพันธนาการทางความคิด ทั้งเรื่องข้อผิดพลาด ความล้มเหลว ความผิดหวัง หรือการกำจัดบทเรียนที่เลวร้ายในอดีตจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตไปข้างหน้า และคงไม่ใช่แค่การ บอกให้ “ลืม” จะเพียงพอ แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นความคิดในส่วนของ ประสบการณ์ที่สะสมมาจนกลายเป็นความเชื่อ หรือที่เรียกว่า Intuition ซึ่งต้องใช้กระบวนการคิดรอบด้าน พิจารณาเหตุและผล อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในหลากหลายมุมมอง เนื่องจากเหตุผลของการเกิด mental block คือ ขาดความละเอียดรอบคอบ และการทำในเรื่องใดเรื่องหนึ่งซ้ำๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ตัวอย่าง พนักงานในองค์กรมักเกิด mental block  เมื่อทำงานในขอบเขตเดิมนานๆ ไม่มีกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ หรือทำงานบนสภาวะที่เร่งด่วน หรือยุ่งเหยิงตลอดเวลาจนไม่มีเวลาคิดรวบรวมและจัดเรียงงานอย่างเป็นระบบให้เห็นความต่อเนื่องเชื่อมโยงของแต่ละงาน รวมไปถึงการคิดคนเดียว ทำคนเดียวโดยขาดการมีส่วนร่วมของทีมงานที่หลากหลายให้สามารถมองเห็นประเด็นที่หลากหลาย  เช่น พนักงานขายในห้างสรรพสินค้าไม่สามารถทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง เพราะพนักงานไม่สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของลูกค้าอย่างชัดเจน และไม่พยายามทำความเข้าใจเหตุและผลที่ลูกค้าไม่ซื้อในแต่ละครั้งจากหลากหลายมุมมอง โดยยังรู้สึกผิดพลาดกับประสบการณ์ขายก่อนหน้านี้ จึงไม่สามารถค้นหาวิธีในการพูดคุยกับลูกค้าแต่ละรายไม่แตกต่างกัน เป็นต้น

ในการคิดกลยุทธ์ขององค์กรจึงควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอเรื่องราวที่เป็นบทเรียนในอดีต ซึ่งยังติดค้างในใจ เพื่อไม่ให้เรื่องราวเหล่านี้กลายมาเป็นอุปสรรคในการ กำหนดเป้าหมาย และสร้างสรรค์กลยุทธ์ จากนั้นให้ ลืม หรือ มองข้าม เรื่องราวเหล่านี้ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยง หรือสร้างสรรค์ความคิดโดยไม่กังวลกับอุปสรรคเหล่านั้น เช่น บริษัทผลิตอาหารทะเลกระป๋องต้องเลิกพะวงกับกฏหมายแรงงานที่ส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบที่ผ่านมา ก็จะมองเห็นลู่ทางในการขยายธุรกิจไปในธุรกิจอื่น หรือ มองภาพการขยายตัวของธุรกิจอาหารทะเลไปได้กว้างขึ้น โดยไม่คอยติดอยู่กับ “แล้วถ้ามีความเข้มงวดด้านกฏหมายอีก ธุรกิจคงแย่อีก” สุดท้ายก็จะเลือกวางแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด นั่นคือ ทำมาอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น ต่อไป

สุดท้าย การเรียนรู้ที่จะเข้าใจปัจจุบันอย่างชัดเจน ลึกซึ้ง ย่อมลดภาวะ mental block หรือการปิดตัวเอง ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาและเติบโตในอนาคต ซึ่งผู้นำทุกคนต้องพยายามอย่าสร้างภาวะนี้ให้เกิดขึ้นกับทีมงาน โดยเฉพาะการตัดสินอย่างไม่มีเหตุผล และปิดกั้นการนำเสนอเหตุผลเมื่อความคิดเห็นไม่ตรงกัน ด้วยเหตุนี้ การที่องค์กรพบว่า พนักงานเริ่มขาดศักยภาพเมื่อทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  เมื่อความคิดที่จะสร้างสรรค์ ถูกบดบังด้วยความรู้สึกที่ค้างคาอยู่ “คิดไปก็ไม่ถูกใจ” “ทำไปก็ไม่ถูกทาง” ดังนั้น เมื่อองค์กรต้องขับต้องเคลื่อนด้วยมันสมองของบุคลากร ก็อย่า สร้าง ปม ในจิตใจของเขา

ที่มา: คอลัมน์ Productivity food for thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ