3 ธันวาคม 2015

2050

หากกล่าวถึงเศรษฐกิจของโลกในอนาคต หลายคงอาจจะตั้งคำถามว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปจะเป็นใคร? จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แล้วจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด เพื่อที่องค์กรจะได้เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมถึงสามารถกำหนดอนาคตองค์กรตัวเองได้

สำหรับบทความนี้จะกล่าวถึง PricewaterhouseCoopers (PWC) ที่ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกจำนวน 32 ประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 84 ของ Global GDP) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพบประเด็นสำคัญดังนี้

เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 3 ต่อปีในช่วง 2014 – 2050 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2037 และขยายตัวเกือบ 3 เท่าในปี 2050 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัวหลังปี 2020 ซึ่งเป็นผลมาจาก

  1. จีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ต่างๆ (Emerging Economies) เริ่มมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่อัตราการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน (Sustainable Long-term Growth)
  2. ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศมีการขยายตัวของประชากรวัยทำงานในอัตราชะลอตัว

ในด้านการเปลี่ยนแปลงขั้วมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่นจะยังคงมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่อเนื่องไปจนถึงปี 2050 ในขณะที่จีนซึ่งไล่ตามสหรัฐทันแล้วเมื่อปี 2014 จะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลกในแง่ Purchasing Power Parity (PPP) ส่วนแง่ Market Exchange Rate (MER) จีนจะสามารถไล่ทันสหรัฐในปี 2028 ถึงแม้ว่า จีนจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงก็ตาม สำหรับประเทศที่มีศักยภาพอีกแห่งอย่างอินเดีย ยังจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องให้สำเร็จ อินเดียจึงจะมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่สุดอันดับ 2 ของโลกภายในปี 2050 ในแง่ PPP (และอันดับ 3 ในแง่ MER) ได้

นอกจากนี้ PWC ยังคาดหมายว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเม็กซิโก และ อินโดนีเซีย จะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่า อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ในปี 2030 (ทางด้าน PPP) ในขณะที่ตุรกีจะกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าอิตาลี ส่วนไนจีเรียและเวียดนามจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดจนถึงปี 2050 และประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ โคลัมเบีย โปแลนด์ และมาเลเซีย ซึ่งต่างมีศักยภาพในการมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน (Sustainable Long-term Growth) ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง

  อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่พบในรัสเซียและบราซิลทำให้เห็นว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำเป็นต้องมีการลงทุนอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาด้านทางเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย และสังคม ซึ่งต้องการเทคโนโลยี ไอเดีย และบุคคลที่มีความสามารถ (Talented People) เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปจะเป็นตัวขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจในบางประเทศ เช่น รัสเซีย ไนจีเรีย และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งต้องพยายามทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีความหลากหลายมากขึ้น

table

Source: ข้อมูลปี 2014 จาก IMF WEO database (October 2014) ข้อมูลปี 2030 และ 2050 จากการคาดการณ์ของ PWC

การประยุกต์ใช้ผลการวิจัยสำหรับการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ

ในการนำผลวิเคราะห์ไปประยุกต์ใช้ในการวางแผน Global Strategy ขององค์กรต่างๆ ต้องมีการพิจารณาประกอบกับบริบทและสถานการณ์ของแต่ละองค์กรอย่างระมัดระวัง และคำนึงถึงเรื่องดังต่อไปนี้

  1. E7 (กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 7 ประเทศ – ประกอบด้วย จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี) และตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ยากที่จะรักษาอัตราการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2000 – 2012 ทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจและความขาดแคลนในภาพรวม ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงทางการเมือง กฎหมายต่างๆ และมีมาตรการในการป้องกันหรือบรรเทาหากเกิดปัญหาขึ้น รวมทั้งจำเป็นต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่ซึ่งจะมีพัฒนาการ ประสบการณ์ ความสามารถทางดิจิทัลมากขึ้น
  2. ตลาดเกิดใหม่มีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกัน แม้แต่ในประเทศเดียวกันเองก็อาจมีความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมอย่างมากได้ การประเมินสถานการณ์ด้วยวิธีหลากหลายและการอัพเดทความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับท้องถิ่นแบบ Real-time เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมของตลาดเกิดใหม่ การเลือกคู่ความร่วมมือท้องถิ่นอย่างถูกต้อง (Right Local Partner) ที่จะช่วยองค์กรให้ผ่านอุปสรรคทางการเมืองและกฏระเบียบต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ การกำหนดและโปรโมทคนท้องถิ่นที่มีความสามารถ (Local Talent) ซึ่งเข้าใจธุรกิจและวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่าคนภายนอกจะเป็นการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กรอีกทาง
  3. สำหรับองค์กรตะวันตกขนาดใหญ่ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาตลาดเกิดใหม่ได้ คือ การลงทุนเชิงกลยุทธ์ในท้องถิ่น โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางเทคนิคและการให้คำแนะนำแก่ราชการท้องถิ่นในด้านต่างๆ เช่น การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) นโยบายทางการคลัง (Fiscal Policy) และทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการลงทุนทางด้านโครงการสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น โรงเรียน ถนน ทางรถไฟ พลังงาน และน้ำ โดยองค์กรควรมุ่งเน้นความช่วยเหลือไปยังปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้องค์กรสามารถประสบความสำเร็จในระยะยาวในภูมิภาคนั้น
  4. อย่าละเลยตลาดหลักอย่างอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งยังคงเป็นผู้เล่นที่สำคัญมากในเศรษฐกิจโลกในหลายทศวรรษจนกระทั่งปัจจุบัน ผลการวิเคราะห์พบว่า ในอนาคต รายได้เฉลี่ยของประเทศกลุ่มนี้จะยังคงสูงกว่าประเทศที่มีผลการดำเนินการที่ดีสุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงเป็นสถานที่ที่สามารถลงทุนง่าย มีความเสี่ยงต่ำจากปัจจัยการเมือง และมีจุดแข็งทางระบบเศรษฐกิจสังคม ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลงก็ตาม

 โดยสรุป แม้ตลาดเกิดใหม่จะมีศักยภาพในการเติบโตแต่ก็อาจกลับกลายเป็นเขตทุ่นระเบิดได้ ดังนั้น ผู้บริหารและนักลงทุนต้องมีความระมัดระวัง การออกแบบ Global Strategy จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนในประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจมั่นคงและมีความเสี่ยงต่ำ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว แต่มีความเสี่ยงสูงกว่า ซึ่งความสมดุลที่เหมาะสมสำหรับแต่ละองค์กรแตกต่างกัน ดังนั้น องค์กรจะต้องหาจุดสมดุลดังกล่าวให้พบ

หมายเหตุ: รายงานฉบับนี้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง Megatrends ซึ่งประกอบด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคม (Demographic and Social Change)
  • การเปลี่ยนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก (Shift in Global Economic Power)
  • การเร่งขยายตัวของสังคมเมือง (Rapid Urbanization)
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและความขาดแคลนทรัพยากร (Climate Change and Resource
  • Scarcity)
  • การพัฒนาเทคโนโลยี (Technological Breakthroughs)

ที่มา: URL: https://www.pwc.com/gx/en/issues/the-economy/assets/world-in-2050-february-2015.pdf

 

 




Writer

โดย นภัสวรรณ ไทยานันท์

นักวิจัย ส่วนวิจัยการจัดการองค์กร
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ