6 ตุลาคม 2015

ในยุคที่ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเช่นปัจจุบัน คุณรู้สึกว่าโลกของเรามีคนเยอะเกินไปมั้ย? แล้วในอีก 15 ปีข้างหน้า คุณคิดว่าประชากรโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด บทความนี้ได้นำเรื่องราวที่ Ana Swanson ได้เขียนไว้จาก World Economic forum เพื่อเปิดเผยให้คุณได้เห็นถึงข้อมูลด้านประชากรที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

ในอีก 15 ปีข้างหน้า คาดว่าโลกของเรา จะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอีกหลายพันล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประมาณการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรไว้ว่า กลางปี 2015 จนถึงปี 2030 จำนวนประชากรจะเพิ่มจาก 7.3 พันล้านคน ไปจนถึง 8.5 พันล้านคน ในปี 2050 เพิ่มเป็น 9.7 พันล้านคน และปี 2100 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 11.2 พันล้านคน

ปัจจุบัน มีประชากรที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชียประมาณ 60% แอฟริกา 16 % ยุโรป 10% ละตินอเมริกา และคาริบเบียน 9% อเมริกาเหนือและโอเชียเนีย 5% โดยกว่า 40% อาศัยอยู่ในประเทศจีนและอินเดีย

แต่นี่เป็นเพียงตัวเลขที่ประมาณการไว้ในระยะสั้น จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Tariq Khokhar นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล เขาได้สรุปออกมาในรูปแบบแผนภูมิ ซึ่งทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเราในอีกหลายปีข้างหน้าอย่างน่าตกใจเลยทีเดียว

1 ปี 2100 โลกต้องพร้อมรับกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอีก 4 พันล้านคน

จากแผนภูมิ จะเห็นว่า แม้จำนวนประชากรมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่ก็ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ปัจจุบันอัตราการเพิ่มประชากรได้ลดลงเหลือ 1.18 % ต่อปี จาก 1.24 % เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว โดยในแต่ละปี โลกมีประชากรเพิ่มถึง 83 ล้านคนหรือเทียบเท่ากับจำนวนประชากรของประเทศเยอรมนี

1-1

 

องค์การสหประชาชาติคาดว่า จะมีจำนวนประชากรค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในระยะสั้น แต่ก็มีโอกาส 1 ใน 4 ที่จำนวนประชากรโลกจะคงที่หรือจะลดลงก่อนปี 2100

สิ่งที่คาดการณ์เหล่านี้มีความแม่นยำหรือไม่? Khokar ชี้ประเด็นว่า ในอดีตที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ ได้บันทึกแนวทางการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรไว้เป็นอย่างดี โดยปี 1948 ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2000 จะมีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 6 พันล้านคน ซึ่งคลาดเคลื่อนเพียง 5 % ของจำนวนประชากรปีนั้น

แต่สิ่งที่คาดการณ์จากข้อมูลในอดีต ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป มีปัจจัยบางอย่างที่จะทำให้ผลเปลี่ยนไปปัจจัยหนึ่งที่ทางองค์การสหประชาชาติรายงานไว้ เช่น ในประเทศที่เคยมีบุตรมาก กลับมีอัตราการเกิดลดลง และคาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็ขึ้นกับการดูแลเอาใจใส่ปัญหาสุขภาพของผู้หญิงและการขยายการคุมกำเนิด

2อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่มากที่สุดมาจากทวีปเดียว – แอฟริกา

องค์การสหประชาชาติคาดว่า ทวีปแอฟริกาจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวในปี 2100 ปัจจุบันจำนวนประชากรในแอฟริกา คิดเป็นสัดส่วน 16 % ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 25 % ในปี 2050 และ 49 % ในปี 2100 ทั้งนี้เนื่องจาก ปี 2015 ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มสาวที่มีอายุต่ำกว่า 24 ปี ซึ่งเป็นวัยที่พร้อมจะมีครอบครัว และมีบุตรเพิ่มมากขึ้น ในทางตรงข้าม แผนภูมิยังแสดงให้เห็นว่า ประชากรของทวีปเอเชีย จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงสุด แล้วเริ่มลดลง เนื่องจากมีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ละตินอเมริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย จะมีจำนวนประชากรคงที่

2-2

3ประเทศไนจีเรีย จะกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก

องค์การสหประชาชาติเผยว่า ในปี 2050 ประเทศไนจีเรีย จะมีจำนวนประชากรแซงหน้าประเทศสหรัฐอเมริกา กลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และหากรวมกับ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา จะมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 300 ล้านคน

สถิติขององค์การสหประชาชาติ ยังแสดงให้เห็นว่าอนาคตอันใกล้ เกือบครึ่งหนึ่งของอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่จะเกิดขึ้นในปี 2050 จะมาจาก 9 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และยูกันดา

3-3

4ประเทศอินเดียจะมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นแซงหน้าประเทศจีน

อีกไม่นาน ประเทศอินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ปัจจุบันประเทศจีนมีประชากร 1.38 พันล้านคน เมื่อเทียบกับประเทศอินเดีย 1.31 พันล้านคน ซึ่งในปี 2022 ทั้งสองประเทศจะมีประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านคน หลังจากนั้น จีนจะมีประชากรลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ แต่ประเทศอินเดียจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 1.5 พันล้านคนในปี 2030 และ 1.7 พันล้านคน ในปี 2050

5ทวีปยุโรป จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ประชากรประมาณ 1 ใน 4 ของทวีปยุโรป มีอายุเฉลี่ย 60 ปี ขึ้นไป และจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ในปี 2050 และปี 2100 นอกจากนี้ อายุเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกยกเว้นในทวีปแอฟริกาจะเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2050 กว่า 1 ใน 4 ของประชากรทุกพื้นที่ในโลก จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่ประเทศต่างๆ อย่างประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บัลแกเรีย โครเอเชีย ฮังการี ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย สาธารณรัฐมอลโดวา โรมาเนีย เซอร์เบีย และยูเครน จะมีจำนวนประชากรลดลงมากกว่า 15 %

วิธีการหนึ่งที่จะวัดค่าเฉลี่ยอายุของประชากรโลก คือ อายุมัธยฐาน (median age) หรือ อายุกลางคงที่ โดยแบ่งประชากรในโลกออกเป็น 2 ส่วนเท่ากัน โดยอายุเฉลี่ยปัจจุบันจะอยู่ที่ 29.6 ปี แต่จะเพิ่มขึ้นถึงอายุ 36 ปี ในปี 2050 และ อายุ 42 ปี ในปี 2100

 

แหล่งที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/08/5-ways-the-world-will-look-dramatically-different-in-2100/?utm_content=bufferf72e8&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer




Writer

โดย ชญาภา สวรรคทัต

เจ้าหน้าที่ออกแบบและพัฒนาเว็บมีเดีย
แผนกวิเคราะห์และพัฒนาระบบสารสนเทศ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ