18 กันยายน 2015

IRCP-1

คุณฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล
ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์

หากพูดถึงกระแสของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มาแรงจนทำให้ผู้คนในโลกตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าว ทุกคนคงยังจำภาพยนตร์สารคดีที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2549 เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเรื่อง An Inconvenient Truth ซึ่งสร้างและนำแสดงโดย อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งความดีงามของภาพยนตร์ดังกล่าวส่งผลให้อัล กอร์ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งหากนับจากช่วงเวลาดังกล่าวถึงปัจจุบันประมาณ 10 ปี กระแสเรื่องภาวะโลกร้อนก็ส่งผลกระทบให้ผู้คนในโลกรวมถึงโลกธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และพัฒนาวิถีการทำธุรกิจสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development) มากขึ้นเรื่อย ๆ

และหากหันกลับมามองที่ประเทศไทย เป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทพลังงานไทยที่ดำเนินกิจการหลักคือธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมและจัดจำหน่ายผ่านเครือข่ายสถานีน้ำมันกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศนั้น เป็นบริษัทที่ก่อตั้งและมีวัฒนธรรมการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมายาวนานกว่า 30 ปี หรืออาจกล่าวได้ว่า บางจาก มีความตระหนักและมีแนวคิดการดำเนินงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมก่อนกระแสของภาพยนตร์ชืิ่อดัง อย่าง An Inconvenient Truth ถึง 20 ปี และในวันนี้คอลัมน์ Interview ได้รับเกียรติจาก คุณฉวีวรรณ เกียรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรและชุมชนสัมพันธ์ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะมาเล่าให้ฟังถึงวัฒนธรรมธุรกิจและกลยุทธ์ที่สามารถทำให้บริษัทมุ่งสร้างสรรค์ธุรกิจพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับอย่างสูงทั้งในและต่างประเทศ

ยืนหยัดด้วยวัฒนธรรมการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน
ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม

บางจาก นั้นมีภารกิจสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทยซึ่งการจะบรรลุภารกิจดังกล่าวได้นั้น คุณฉวีวรรณได้ปูพื้นฐานให้เราเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า แก่นการดำเนินธุรกิจของบางจากมุ่งไปสู่เรื่องดังกล่าวตั้งแต่แรกก่อตั้ง

“พี่ขอเล่าตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทบางจากก่อนนะคะ เราจดทะเบียนก่อตั้ง บางจาก ในปี พ.ศ. 2527 เริ่มดำเนินกิจการจริง ปี พ.ศ. 2528 ปีนี้ก็ครบ 30 ปีแล้ว และบริษัทเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า เราจะพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเรื่อง CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เราก็ทำตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง เนื่องจากท่านอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ท่านแรก คือ คุณโสภณ สุภาพงษ์ ท่านเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ไกลมาก ท่านมองว่าหลักการทำธุรกิจต้องดำเนินคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ทุกคนต้องได้รับประโยชน์ บริษัทจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะที่ธุรกิจส่วนใหญ่ในอดีตนั้นจะมุ่งเน้นแต่เรื่องการ Maximize Profit คือ ให้มีกำไรเยอะเพื่อเอาไปขยายธุรกิจ แต่บางจากจะไม่เน้นเรื่องผลกำไรอย่างเดียวมาตั้งแต่ต้น เราจะมุ่งเน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคมและการพัฒนาคนด้วย  อย่างวัฒนธรรมพนักงานของบางจาก เราต้องการทั้งคนเก่งและดี เมื่อได้คนดีเราก็สามารถมาพัฒนาให้เก่งได้ ซึ่งต้องเป็นทั้งคนดีและมีความรู้ ที่สำคัญเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และพอมาถึงยุคของการบริหารงานสมัยใหม่ก็เริ่มมีเรื่องของ Vision Mission เข้ามา ผนวกกับการดำเนินการในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะมีคำว่า “Green” เราก็เอาคำต่าง ๆ ที่เป็นแก่นสาระหลัก ๆ ของธุรกิจ เช่น คำว่า Energy, Excellence มาผสมผสานกันจนกลายเป็นวิสัยทัศน์องค์กร Greenergy Excellence บริษัทที่มุ่งสร้างสรรค์ธุรกิจพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“หลักการทำ ธุรกิจต้องดำเนินคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ทุกคนต้องได้รับประโยชน์ บริษัทจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน ”

นอกจากนี้ ด้วยความที่เราเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เราก็ต้องทำตามกฎ กติกา ระเบียบกฎหมายมหาชน ตามข้อปฏิบัติ แต่ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น บริษัทเราจะทำในสิ่งที่มากกว่ากฎหมายกำหนด หรือมากกว่ามาตรฐานทั่วไป ซึ่งสืบเนื่องจากช่วงปีแรกของการก่อตั้งบริษัท สมัยคุณโสภณ เราสามารถฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานจนบริษัทสามารถมีกำไรตั้งแต่ปีแรก เมื่อมีกำไรบริษัทก็หันมาใส่ใจดูแลสังคมรอบข้างซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของสังคมไทยอยู่แล้วในเรื่องการโอบอ้อมอารี เรื่องเหล่านี้ไม่ได้กำหนดอยู่ในกฎหมายแต่เป็นสิ่งที่บริษัทต้องการทำให้เหนือกว่ามาตรฐาน”

IRCP-2

เรื่องการทำเหนือกว่ามาตรฐานนั้น บางครั้งก็ส่งผลดีต่อบริษัทอย่างคาดไม่ถึง คุณฉวีวรรณ เล่าต่อว่า “การทำธุรกิจนั้นเราต้องรู้ทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำว่า แต่ละกระบวนการจะทำให้เกิดปัญหาต่อสังคม อะไรบ้างที่สามารถทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้ และความเสี่ยงอยู่ตรงไหน เมื่อรู้แล้วเราก็ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาจึงจะแก้ไข แต่ควรป้องกันก่อนเกิดปัญหา ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

พี่จะยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง คือ ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับมลภาวะอากาศ เรื่องนี้โชคดีที่เรามีป้ายแสดงคุณภาพน้ำและอากาศแบบ Real Time ติดตั้งที่ประตู 3 ทางเข้าโรงกลั่น พอลงสะพาน สุขุมวิท 64 จะเห็นป้ายเลยว่า คุณภาพน้ำและอากาศ เป็นอย่างไร ซึ่งมันจะแสดงสีเขียวเมื่อผ่านมาตรฐานกฎหมายตลอดทั้งคุณภาพน้ำและอากาศ ซึ่งการที่เราไปติดตั้งเครื่องวัดนอกโรงกลั่นเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่โปร่งใสว่า เราไม่มีการแก้ไขข้อมูลแล้วส่งผลไปแสดงที่หน้าจอแบบ Real Time โดยข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นว่าโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อชุมชน ตอนเกิดเหตุฉุกเฉินเราจึงสามารถปริ้นท์ค่าของมลภาวะอากาศออกมาเลยว่าไม่มีอะไรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัญหาจึงผ่านพ้นไปด้วยดี เพราะท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นสามารถใช้ข้อมูล Real Time นี้เป็นหลักฐานได้ซึ่งทุกคนสามารถเห็นได้พร้อมกัน พี่เชื่อเรื่องการ “ทำดีได้ดี” ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ถ้าเรากล้าลงทุนเรื่องเหล่านี้และมีความจริงใจ สุดท้ายทุกอย่างจะส่งผลดีมาที่ตัวเราจริง ๆ “นอกจากเหตุการณ์ที่กล่าวมา การดูแลเอาใจใส่สังคมอย่างจริงใจนั้น ยังส่งผลดีแก่บริษัทในเรื่องธุรกิจด้วย

คุณฉวีวรรณ เล่าให้ฟังว่า “ในเรื่องความยั่งยืนกับธุรกิจของเรานั้นสามารถเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่าง ปั๊มชุมชนหรือปั๊มสหกรณ์ที่เราเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นการแชร์องค์ความรู้หลักของเราไปให้ผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดอาชีพที่สามารถสร้างความยั่งยืนให้แก่เขาได้ ลักษณะธุรกิจคือ เรามีโรงกลั่นน้ำมัน เกษตรกรเขาก็มีพื้นที่ของเขาอยู่แล้ว เราก็เอาหัวจ่ายน้ำมันไปเพิ่มเป็น Business ให้เขา คือจ่ายน้ำมันตรงจากโรงกลั่นให้แก่เกษตรกรโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางแล้วเกษตรกรเขาก็เป็นสมาชิกสหกรณ์อยู่แล้ว คนที่เป็นสมาชิกก็จะมาซื้อน้ำมันจากสหกรณ์ของเขา เช่น ปั๊มน้ำมันศรีประจันต์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พอสหกรณ์มีกำไร เขาก็จะจ่ายเงินปันผล คือถ้าซื้อจากดีลเลอร์อื่นก็ไม่ได้เงินปันผล พอได้เงินปันผลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น พอมีรายได้เพิ่มขึ้นคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น ซึ่งการทำธุรกิจในลักษณะนี้ คือ ได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win) นั่นหมายถึงเกษตรกรมีรายได้เพิ่ม บางจากก็สามารถขยายฐานในการทำธุรกิจได้ ปัจจุบันเราก็จะสอนการบริหารธุรกิจแบบครบวงจรให้แก่เกษตรกรด้วย เพื่อให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตนเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน

IRCP-3

ภาพจาก : http://www.matichon.co.th/online/2012/11/13521712741352173857l.jpg

ส่วนประโยชน์ที่เราได้รับในเชิงธุรกิจ คือ เราสามารถทราบถึงความต้องการของตลาด สามารถสร้างสมดุลได้ทั้งเรื่องการผลิตและการขาย ตลอดจนเราสามารถควบคุมคุณภาพน้ำมันได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ลูกค้าอย่างปั๊มสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าที่แน่นอนของเราก็มีความสุขที่ได้น้ำมันที่มีคุณภาพ และพอทำธุรกิจแบบเอื้ออาทรกันนาน ๆ เราก็มีความผูกพันต่อกันเสมือนเพื่อน บางครั้งแม้คู่แข่งมาเสนอให้ค่าการตลาดแก่เกษตรกรมากกว่า เขาก็ยังยืนยันที่จะทำธุรกิจกับเราต่อ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นผลจากการทำความดีที่ต่อเนื่องกับชุมชนและสังคม อันเป็นสาระสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนที่สามารถเชื่อมเรื่องธุรกิจและสังคมได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม”

“แต่เดิมเราก็คิดเหมือนกันว่าการทำความดีต้องมี KPI ด้วยหรือ ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเราต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมอะไรก็ตาม เราก็ต้องมีเครื่องมือชี้วัด”

ความยั่งยืนที่เติบโตจากภายใน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับเป้าหมาย

เมื่อองค์กรมีวัฒนธรรมที่ชัดเจนในเรื่องการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมในแต่ละปีการวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทจึงต้องตอบโจทย์ดังกล่าวด้วย สำหรับการวางแผนกลยุทธ์และเป้าหมายของบริษัทบางจากนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพราะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานทั่วทั้งบริษัท

ซึ่งในเรื่องนี้คุณฉวีวรรณเล่าให้ฟังถึงกระบวนการ การวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทว่า “การวางแผนงานขององค์กรแต่ละปีนั้น ในช่วงปลายปี เราก็จะมีการวางกลยุทธ์ขององค์กร คือ เราจะเริ่มระดมสมองตั้งแต่ระดับผู้จัดการไปถึงผู้บริหารระดับกลางว่าเขามีแนวความคิดอะไรบ้างจากนั้นก็จะเสนอเข้าที่ประชุมระดับวีพี โดยแผนของเราจะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งมีการปรับให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง จากนั้นเราก็จะเสนอบอร์ด เมื่อบอร์ดอนุมัติเราก็จะมีการประชุมพนักงานทั้งหมดทุกคนทุกสายงานเพื่อให้รับรู้ว่าเป้าหมายและกลยุทธ์ขององค์กรคืออะไร ซึ่งในการประชุม พนักงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นได้ด้วย จากนั้นพนักงานทุกคนก็จะมาวาง KPI หรือตัวชี้วัดของตัวเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสายงาน ซึ่งทั้งหมดจะตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ขององค์กร การวางแผนกลยุทธ์นั้น เมื่อองค์กรมีทิศทางชัดเจน สุดท้ายทุกคน ทุกสายงานก็จะมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

IRCP-4

ยกตัวอย่าง KPI ระดับบุคคล วัฒนธรรมของเราบอกไว้ชัดเจนว่า เราพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น KPI รายบุคคลก็จะมีการทำงานเพื่อสังคมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่าหกครั้ง จึงจะได้ KPI ระดับห้า การที่เรามี KPI ในเรื่องดังกล่าวก็เพราะต้องการหล่อหลอมให้คนอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน แต่เดิมเราก็คิดเหมือนกันว่าการทำความดีต้องมี KPI ด้วยหรือ ซึ่งในความเป็นจริงถ้าเราต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมอะไรก็ตาม เราก็ต้องมีเครื่องมือชี้วัด”

ก่อนจากกัน คุณฉวีวรรณมีข้อคิดฝากถึงผู้ประกอบการที่กำลังมุ่งมั่นพัฒนาองค์กรสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืนว่า

“อยากฝากถึงผู้ประกอบการว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น แท้จริงไม่ใช่ภาระเลย  การลงทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้กระทบต่อชุมชนข้างเคียง ทำให้เราทราบต้นทุนที่ชัดเจน ลดความเสี่ยง และค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก หากเกิดปัญหาขึ้น  ส่วนความรับผิดชอบต่อสังคมก็เป็นเรื่องที่เราสามารถเริ่มได้ ตั้งแต่การดูแลพนักงานของตัวเองให้ดีก่อน โดย “การให้” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีของคนไทยอยู่แล้ว ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความมีเหตุมีผล และความพอประมาณ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง รู้จักใช้จุดแข็งและความรู้ของตนเองสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ การทำสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าต้องมีเงินมากมาย แต่ให้ทำจากสิ่งที่เรามีและรู้จักแบ่งปัน ด้วยการเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะสามารถช่วยกันสร้างสังคมที่ยั่งยืนได้ในที่สุด”

 




Writer

โดย ชนรดา อินเที่ยง

อดีตผู้ชำนาญการ ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ