9 กันยายน 2015

การทำงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่มีคุณภาพนั้น ไม่ได้เกิดจากคนทำงานขาดความรู้ ความเข้าใจ ไม่มีทักษะ แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือขาดจิตสำนึก ขาดความมุ่งมั่นที่จะสร้างงานที่ดี นักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งมีลูกศิษย์ทั่วประเทศกล่าวว่าคนในเจเนอเรชั่น X เป็นต้นมาขาดความทะเยอทะยานที่จะสร้างความเป็นเลิศ คิดเพียงแค่ “ทำให้เสร็จ” ก็เพียงพอ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามกับดักทางเศรษฐกิจไปได้ เพราะไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้

มองย้อนไปในอดีต เรามีเรื่องราวของบุคคลที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศชาติด้วยอุดมการณ์อยู่หลายท่าน เช่น อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันระดับประเทศ และในองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็มีเรื่องราวของบุคคลยุคบุกเบิกที่ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิดอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อสร้างให้องค์กรเจริญเติบโต บุคคลเหล่านี้มีอุดมการณ์เป็นแรงผลักดันให้สร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ มีความภาคภูมิใจเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งมีคุณค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง ท่านเหล่านั้นคือตำนานที่สร้างควรเล่าขานสืบทอดแบบอย่างที่ดีต่อไป

ในการบริหารจัดการองค์กรซึ่งมีเครื่องมือหลายชนิด ทั้งที่เป็นระบบ เช่น ISO, TPM, TQM ฯลฯ และเป็นการพัฒนาคุณภาพภายในตัวตน ซึ่งได้แก่ การคิดเชิงบวก การสร้างวัฒนธรรมองค์กร การคิดอย่างสร้างสรรค์ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้คนในองค์กรทำงานอย่างมีคุณภาพ แต่เครื่องมือเหล่านั้นยังนับว่าอยู่ในระดับพื้นฐานเมื่อเทียบกับการทำงานอย่างมีอุดมการณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ไปถึงความสำเร็จ แต่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศ

เมื่อเร็วๆ นี้ บทความชิ้นหนึ่งของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ กล่าวถึงความสำคัญของอุดมการณ์ไว้อย่างน่าสนใจ ท่านกล่าวว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าการทำงานที่ขาดอุดมการณ์ของเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ในภาครัฐมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น และยังเปิดช่องให้เกิดการคอรัปชั่นอีกด้วย

ท่านยังกล่าวอีกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ก้าวหน้าไปไกลกว่าเราก็เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ “มีอุดมการณ์ในการทำงาน มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการทำงานอย่างดีที่สุดในหน้าที่ของตนให้สมกับเงินเดือนที่มาจากภาษีอากรของประชาชน”

เมื่อสองปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปทำงานถอดบทเรียนการจัดการความรู้ให้กับองค์กรภาครัฐด้านสาธารณสุขแห่งหนึ่งซึ่งมีทั้งหน่วยงานกลางและหน่วยงานในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ได้รับฟังเรื่องราวของการทำงานด้วยอุดมการณ์ของข้าราชการประจำหน่วยงานในต่างจังหวัดที่น่าประทับใจหลายเรื่อง ขอยกตัวอย่างเรื่องราวของนายแพทย์นักบริหารผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการท่านหนึ่ง ท่านได้เปลี่ยแปลงความด้อยคุณภาพในทุกๆ ด้าน ของข้าราชการประจำหน่วยงานนั้นที่ส่วนใหญ่ทำงานแบบเช้าชาม เย็นชามอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ไม่เรียนรู้ และไม่มีมาตรฐานในการทำงาน ในฐานะผู้บริหารใหม่ท่านรู้ดีว่าการใช้อำนาจในการเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ง่าย แต่คงไม่ยั่งยืน เพราะต้องมีผู้ที่เสียประโยชน์ออกมาต่อต้านอย่างแน่นอน ด้วยความที่ท่านนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนจริง ที่มุ่งมั่นในการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ท่านเคยเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ได้รับความรักและนับถือจากประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อมาเป็นผู้บริหารของหน่วยงานนี้ ท่านจึงทำการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำเป็นตัวอย่างในการทำงานอย่างทุ่มเท แก้ปัญหาด้วยข้อมูลจริง เรียนรู้ด้วยตนเอง จนสามารถเปลี่ยนแปลงคนในองค์กรทีละน้อย จนในที่สุดหน่วยงานนี้กลายเป็นหน่วยงานที่ก้าวหน้ามากกว่าหน่วยงานอื่นๆ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ท่านเขียนโปรแกรมจากการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการ ภาพที่ท่านทำงานจนดึกดื่น บางครั้งก็ฟุบคาโต๊ะด้วยความเหน็ดเหนื่อย ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้ซึมซับอุดมการณ์ของท่าน ซึ่งนำไปสู่เปลี่ยนแปลงตนเองในที่สุด

คำว่า”อุดมการณ์” อาจฟังดูเชยราวกับนั่งดูภาพยนต์ย้อนยุค แต่ในความเป็นจริง องค์กรต่างๆ ก็มีแนวทางการสร้างจิตสำนึก ปลูกฝังค่านิยมองค์กร เพื่อนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะยกระดับไปสู่ความเป็นอุดมการณ์ ที่มีจุดหมายที่ยิ่งใหญ่นั่นคือการสร้างคุณค่าต่อสังคมที่เราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กร ชุมชน ประเทศชาติ ไปถึงสังคมโลก และนั่นเองคือที่จะกลับมาทำให้การมีชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง ไม่ใช่ความสำเร็จที่มีแค่ทรัพย์สินเงินทอง และยศฐาบรรดาศักดิ์ ซึ่งไม่ได้ทำให้สังคมนี้ดีงามขึ้นแต่อย่างใด

ที่มา: คอลัมน์ Productivity food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเดือนกันยายน 2558




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น