23 มิถุนายน 2015

กาล่าดินเนอร์

ข่าวร้อนในช่วงต้นเดือนมิถุนายนของเว็บไซต์ BBC และ The Guardian คือการปลดพนักงานทั่วโลก 25,000 คนของ HSBC หนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมไปถึงการขายธุรกิจที่อยู่ในบราซิลกับตุรกี และปรับลดมูลค่าทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงลงเกือบ 300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ Stuart Gulliver ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบอกว่าถึงเวลาที่จะต้องยอมรับว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่าข่าวยักษ์ล้มในวงการธุรกิจระดับโลกเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะโลกเริ่มหมุนเร็วขึ้น มีหลายเรื่องที่ไม่เคยคาดคิดเกิดขึ้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่บางครั้งเหมือนการเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

เช่น ใครจะคิดบ้างว่าการใส่รองเท้าข้างละสีจะกลายเป็นแฟชั่น โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญในชีวิตประจำวันที่ทำได้เกือบทุกอย่าง ทั้งเป็นกล้องถ่ายรูป เป็นธนาคาร เป็นบัตรเครดิต ฯลฯ สัญญาณดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาครัฐหรือองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรต้องตั้งคำถามกับตนเองแล้วว่าองค์กรจะอยู่รอดได้อย่างไรในความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งในท่ามกลางพายุของการเปลี่ยนแปลง นั่นคือเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งกำลังเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก ด้วยการเติบโตที่รวดเร็ว และมีข่าวร้อนเกือบตลอดเวลา เมื่อปี ค.ศ. 2014 Time ยกย่องให้ แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Alibaba เป็นหนึ่งใน The 100 Most influential people in the world จากการที่ทำให้ธุรกิจ E-commerce ของจีนกลายเป็นธุรกิจระดับโลก ด้วยมูลค่าหุ้นสูงที่สุดในตลาดหุ้นนิวยอร์คในช่วงเวลานั้น  แต่ไม่นานมานี้ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีนคือ ช่ายหงผิง ผู้บริหารทีมงานภูมิภาคเอเชียของ Deutsche Bank กลับประกาศว่า Alibaba ไม่ใช่อนาคตของจีนอีกต่อไป เพราะจีนกำลังก้าวไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยความร่วมมือกับประเทศเยอรมันที่ประกาศนโยบายนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ  2012 มีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเครือข่ายทั่วประเทศทั้งด้านบุคลากร เทคโนโลยี และการวิจัย

จะเห็นได้ว่าการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้เกิดขึ้นเร็วมาก ทิ้งช่วงห่างจากอุตสาหกรรม 3.0 ที่เริ่มปลายศตวรรษที่ 20 ไม่กี่ปี นั่นคือการนำเอาเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานคนเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น  เพราะที่ผ่านมาช่วงเวลาระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 ที่มีการนำเอาเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ กับการเปลี่ยนแปลงในครั้งที่ 2 คือการนำเอาพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในการผลิต ทำให้เกิดการผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภคได้ในลักษณะของ Mass Production นั้นห่างกันหลายศตวรรษ เพราะการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 นี่เอง

แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 20-21 รอบเวลาของการเปลี่ยนแปลงสั้นลงหลายเท่าตัว ดังนั้นแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของจีนเองจะยังคงอยู่ในบริบทของอุตสาหกรรม 2.0 คือใช้เครื่องจักรกลและแรงงานคนเป็นหลัก แต่เมื่อตระหนักถึงพายุหมุนของการเปลี่ยนแปลงของโลก จีนก็กล้าที่จะประกาศตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ในทันที

แนวคิดของอุตสาหกรรม 4.0 หรือเรียกกันว่า “The Internet of Things” นี้เป็นการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตกับเทคโนโลยีดิจิตัล ทำให้สามารถผลิตสินค้าจากการสั่งซื้อของผู้บริโภคโดยตรง นอกจากจะตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าได้อย่างสูงสุด ตามความต้องการที่หลากหลายแล้ว ยังลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมหาศาลถ้าเทียบกับกระบวนการผลิตในปัจจุบัน

แน่นอนว่าอิทธิพลของอุตสาหกรรมยุค 4.0 นี้จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนทั้งโลก

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ องค์กรสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือได้ตามกำลังของตนเอง แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือการเปลี่ยนแปลงที่ยังมองไม่เห็น นั่นคือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

แล้วองค์กรจะตั้งรับอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด บทเรียนจากการล้มหายตายจากของธุรกิจใหญ่ หรือผลิตภัณฑ์ระดับตำนานของโลกก็เพราะไม่สามารถจัดการกับความไม่แน่นอนนี้ ซึ่งคืบคลานเข้ามาเผชิญหน้าอย่างไม่รู้ตัว

การบริหารจัดการอนาคตที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้บริหาร จึงต้องมีการบริหารจัดการที่เรียกว่า Future Management เข้ามาเป็นตัวช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เช่น  Baldrige National Quality Award (BNQA) และ Thailand Quality Award (TQA) รวมทั้งระบบ ISO version ใหม่ต่างก็นำเรื่องดังกล่าวมาปรับใช้เช่นกัน

เครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการอนาคตนี้เรียกว่า “ Foresight” โดยนำมาใช้ศึกษาความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยมีกระบวนการที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์และจำลองภาพอนาคต (scenario) เป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้การวางกลยุทธ์เพื่ออนาคตขององค์กร  สิ่งที่สำคัญในนำเอา “ Foresight” มาใช้ในการบริหารจัดการอนาคตก็คือการรวบรวมข้อมูลที่เรียกว่า Big Data อย่างรอบด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี เพื่อดูแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อองค์กร

การทำ “ Foresight” จึงต้องเปิดโลกทรรศน์ให้กว้าง พร้อมกับเปิดมุมมองใหม่ มองออกนอกกรอบเดิม ๆ ในปัจจุบันมีความตื่นตัวในการนำเครื่องมือนี้มาใช้ในองค์กรใหญ่ๆ หลายแห่ง ที่นำมากล่าวถึงเป็นกรณีศึกษาก็คือบริษัท เชลล์ ที่ทำให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้  ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ก็จริงอยู่ แต่สำหรับผู้ที่เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตอยู่เสมอ คือผู้ที่ได้รับสิทธิที่จะอยู่รอด เหมือนที่ Charles Darwin กล่าวไว้ว่าผู้ที่จะอยู่รอดนั้น ไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก

หมายเหตุ : เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของการก่อตั้งสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จึงได้มีการจัด การบรรยาย “Thriving in the 21st Century World”  โดยเชิญ Dr. Michael Jackson ซึ่งเป็น Futurist ที่มีชื่อเสียงในชั้นแนวหน้า และมีกระบวนการเก็บข้อมูลจากทั่วโลกที่มากที่สุดแห่งหนึ่ง สำหรับนำมาใช้ในการสร้างภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต ผู้สนใจที่จะร่วมรับฟังการบรรยายติดต่อได้ที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 02-619-5500 ต่อ 433 (สุภารัตน์) e-mail : publicseminar@ftpi.or.th หรือwww.ftpi.or.th/futuremanagement

 

ที่มา: คอลัมน์ Productivity Food for Thought หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน 2558




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น