18 มิถุนายน 2015

edu

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา   Drew Faust , President of Harvard University  ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่อง 3  แรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะกำหนดรูปแบบของมหาวิทยาลัยในอนาคตไว้ที่  blog  ของ The World Economic Forum  ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ ดังนี้

การศึกษาระดับสูงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เจริญรุ่งเรือง นั่นหมายถึง การศึกษาระดับสูงเป็นบันไดการเรียนรู้ที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม    ปัจจุบันการเข้าถึงการศึกษาเป็นเรื่องยากกว่าแต่ก่อน  ซึ่งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในระดับโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยแรงขับเคลื่อน 3 ประการ อันเป็นตัวกำหนดอนาคตและความเชื่อมั่นต่อสถาบันการศึกษา

สำหรับแรงขับเคลื่อนสำคัญ 3  ประการในการกำหนดรูปแบบมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต มีดังนี้

  1. อิทธิพลของเทคโนโลยี

เทคโนโลยี่ในยุคปัจจุบันทำให้ นักวิจัย และนักวิชาการ ต่างสามารถเผยแพร่ผลงานวิจัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ผ่านโลกดิจิตอล รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงผู้เรียนจากทั่วโลกผ่านแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ ซึ่งจะเป็นการขยายอัตราบุคลากรที่มีการศึกษาระดับสูงเพิ่มขึ้นทั้งนี้ในด้านการประเมินและการวัดผลก็จะได้รับคำตอบง่ายขึ้นเช่นกัน ด้วยข้อมูลจำนวนมากที่ทำให้เราทราบรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทำอย่างไร เมื่อไร หรือที่ไหน ซึ่งทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น และข้อมูลเหล่านี้จะช่วยกำหนดวิธีการเรียนการสอน ทั้งในห้องเรียนแบบเดิมๆ หรือในสถานที่ต่าง

ตัวอย่างที่ยกมานั้นแสดงให้เห็นสิ่งที่สามารถทำได้จากระยะไกล โดยให้ความสำคัญในเรื่องความใกล้ชิด และความเป็นส่วนตัว อาทิ การศึกษาในที่พักอาศัย ซึ่งในความเป็นจริง การทำงาน หรือใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับเพื่อน หรือผู้สอนนั้น ไม่สามารถทำซ้ำแบบออนไลน์ได้  หากคุณพูดคุยกับศิษย์เก่า จะพบว่าบ่อยครั้งที่พวกเขามักจะสะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง อาทิ การเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับตัวเอง  และสถานที่ในโลก  ช่วงเวลาเหล่านั้นเกิดขึ้นในสถานที่ทั่วไป เช่น ห้องเรียน โรงอาหาร หอพัก ห้องปฏิบัติการ หรือห้องบรรยาย จากการอยู่ด้วยกันและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน

  1. รูปแบบความรู้ที่เปลี่ยนไป

ปลายศตวรรษที่ 19 มหาวิทยาลัยวิจัยจำนวนมาก จะถูกจัดรูปแบบให้มีสาขาวิชาและการฝึกอบรม ตลอดจนการเรียนการสอนและการทำวิจัย หากเราพิจารณาถึงสิ่งสำคัญที่เป็นความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญ จะทำให้เห็นว่า ประเภทของความรู้นั้นอาจสามารถปรับให้มีความยืดหยุ่น หรือ อาจทำให้ความรู้นั้นหายไปหมดเลยก็ได้ เช่น เมื่อครั้งที่ไวรัสอีโบลาระบาดในเซียร์ราลีโอน นักวิจัยด้านสุขพลานามัยที่ฮาร์วาร์ดสามารถร่วมมือกับชาวแอฟริกาตะวันตกได้อย่างรวดเร็วเพื่อเริ่มต้นวิเคราะห์จีโนม รวมทั้งพวกเขายังสามารถทำงานตลอดเวลาเพื่อที่จะหาต้นตอและการแพร่กระจายของไวรัส

ปัจจุบันบุคลากรเหล่านี้   ไม่ว่าจะเป็นแพทย์  นักเคมี และวิศวกร   กำลังรวมตัวกัน เพื่อสร้างสรรค์อุปกรณ์ตรวจสอบไวรัสที่เกิดขึ้น จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  ทำให้เราเห็นถึง  ขอบเขตความเชี่ยวชาญที่ไม่ธรรมดาของมนุษย์ที่แสดงออกด้วยการร่วมจิตร่วมใจทำงานแก้ปัญหา ตลอดจนคิดค้นวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ

  1. ความพยายามในการนิยาม “คุณค่าของการศึกษา”

ความรู้ทำให้เราสามารถตอบคำถามยากๆได้ การศึกษาระดับสูงเป็นการปูทางเพื่อสร้างโอกาสการจ้างงาน รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมักได้รับรายได้ที่มากกว่าผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษา นักเรียนในวิทยาลัยก็จะมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ได้เรียน และพวกเขามีแนวโน้มที่จะเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม มีชีวิตยืนยาว และมีสุขภาพแข็งแรง นี่คือผลลัพธ์ที่สำคัญของการศึกษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นี่คือสิ่งที่วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย ควรจะมอบสิ่งเหล่านี้แก่บุคคลและสังคม

นอกจากนี้ การศึกษาจะช่วยยกระดับมนุษย์ให้สูงขึ้นในแง่ของมุมมองและเป้าหมายของชีวิต        แม้ว่าการศึกษาในระดับสูงจะไม่สามารถวัดปริมาณประสบการณ์ได้ แต่การสื่อสารคุณค่าของประสบการณ์ผ่านข้อมูลข่าวสารนั้น   ได้ผลลัพธ์ในระดับสูงสุด  และดีที่สุด    เราจึงต้องเตรียมความพร้อมคนในรุ่นต่อไป ที่จะเป็น “นักคิด”  หรือ “นักทำ” เพื่อกำหนดทิศทางของโลกด้วยการใช้หลักฐานและเหตุผลในการชี้นำโลก เข้าใจงานของตัวเองในบริบทที่กว้างออกไปที่สุดเท่าที่จะสามารถจินตนาการและกำหนดวัตถุประสงค์ได้  โดยเราจะต้องช่วยให้มนุษย์ก้าวข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างฉับไว  และใช้เครื่องมือในการสำรวจหาอารยธรรมของมนุษย์ที่ผ่านมา รวมทั้งสิ่งที่จะดำเนินต่อไป

หลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์ทำแล้วประสบความสำเร็จนั้น ได้รับการจุดประกายและทำให้มีความยั่งยืนด้วยการวิจัยและการสอนที่เกิดขึ้นในทุกๆวันทั้งในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย   ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของความอยากรู้อยากเห็น    ความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดของคน   ในทางกลับกันก็จะทำให้ชีวิตและการดำรงชีวิตดีขึ้น ดังนั้น เราควรระมัดระวังที่จะปกป้องอุดมการณ์อันเป็นหัวใจของผู้ที่มีการศึกษาในระดับสูง  มีอุดมการณ์และร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาโลกให้ดียิ่งขึ้น

 อ้างอิง

https://agenda.weforum.org/2015/01/three-forces-shaping-the-university-of-the-future/?utm_content=buffer0b3bc&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer




Writer

โดย กนกกร ธีรกรรัชต์

เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ส่วนประชาสัมพันธ์
ฝ่ายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ