1 มิถุนายน 2020

“Digital Transformation เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส”
โดย ส่วนสื่อสารองค์กร สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

 

เป็นที่น่าจับตามองว่าองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน จะต้องปรับตัวอย่างไรกันบ้าง เมื่อมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ทั่วโลกมีการไหลผ่านข้อมูลข้ามพรมแดนเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) กำลังเข้ามายึดพื้นที่และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของ GDP มากกว่าการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม ดังนั้น เพื่อความสำเร็จขององค์กรที่พร้อมจะพลิกโฉม Digital Transformation อย่างมีผลิตภาพ ทักษะของทีมพัฒนาองค์กร รวมถึง การเตรียมความพร้อมขององค์กร จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถมองข้าม

Mr. Steve Landman ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร Kiu Global ซึ่งเป็นองค์กรที่พัฒนาระบบการบริหารจัดการธุรกิจด้วย Cloud ร่วมบรรยายพิเศษในงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success ได้ให้มุมมองถึงปัจจัยและองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถประสบความสำเร็จบนเส้นทาง Digital Transformation

“ในยุคปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธกระแสการปรับเปลี่ยนองค์กรให้ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล หรือ Digital Transformation แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า องค์กรส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ว่าการเปลี่ยนถ่ายองค์กรสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล คือการซื้อเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพียงเพื่อให้สังคมรับทราบว่าองค์กรเราได้มีเทคโนโลยีเหล่านี้แล้ว และเพราะความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องนี้นั่นเอง จึงก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ส่งผลต่อความล่าช้าและต้นทุนบานปลายในการพัฒนาองค์กร”

ดังนั้นเพื่อความสำเร็จขององค์กรบนเส้นทาง Digital Transformation อย่างมีผลิตภาพ องค์กรควรต้องมั่นใจว่าทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กรของท่านมี 4 ทักษะสำคัญ เพื่อเป็นฐานรากที่แข็งแรงในการสร้างความพร้อมของบุคลากร ให้สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้อย่างมีผลิตภาพ

 4 ทักษะสำคัญ

เพื่อให้บุคลากรในองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (Digital Quotients: QDs)
 สู่ความสำเร็จขององค์กรบนเส้นทาง Digital Transformation อย่างมีผลิตภาพ ดังนี้ 

 – 1 –

การสร้างเสริมวัฒนธรรมการใฝ่รู้ในองค์กร

สนับสนุนให้พนักงานกล้าคิด กล้าทดลอง และพัฒนาต่อยอดจากข้อผิดพลาดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว (Fail Fast & Fail Forward) รวมถึงสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจ (Collaboration) ประสานจุดแข็งของแต่ละทีม ร่วมมือกันเป็นหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน เพื่อมุ่งเน้นตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

– 2 –

การคิดเชิงกลยุทธ์

เปรียบเสมือนเรือหาปลาขนาดใหญ่ที่กัปตันเรือจะศึกษาปัจจัยต่างๆ ก่อนออกเรือ เช่น ดินฟ้าอากาศ ข้างขึ้นข้างแรม ลมบกลมทะเล ล่องน้ำลึกน้ำตื้น โขดหินน้อยใหญ่ รวมถึงศึกษาว่าแหล่งน้ำไหนมีปลาที่ตลาดต้องการอาศัยอยู่ชุกชุม และจะล่องไปทิศทางไหนเพื่อไปให้ถึงก่อนเรือลำอื่น ในทำนองเดียวกัน ทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กร ต้องศึกษาและทำความเข้าใจปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกับทิศทางขององค์กร และนำไปสู่การออกแบบแผนที่การเดินทางแบบองคาพยพที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

– 3 –

ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กร

เช่น ความสามารถในการคิดเชื่อมต่อจากจุดต้นทางไปจุดปลายทาง (Connectivity) ความสามารถในการใช้ระบบออโตเมชั่น (Automation) ความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล (Data & Analytics) เพื่อจัดทำเนื้อหาหรือสารสนเทศด้านการรณรงค์เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับบุคลากรภายในองค์กร ทั้งในแง่ของการแก้ไขและป้องกันปัญหา การตอบสนองที่เหนือกว่าความต้องการและความคาดหวัง

– 4 –

ความเข้าใจระบบองค์กร

ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงเกิดจากทุกคนในองค์กรเปิดใจยอมรับ ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น สามารถช่วยพวกเขาจากสถานการณ์ย่ำแย่ในอดีต ให้ทำงานสะดวกและง่ายขึ้น หากจะต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ควรมีตัวช่วยทำให้บุคลากรไม่รู้สึกว่าการเรียนรู้นั้นยุ่งยากจนเกินความสามารถ ดังนั้นทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กร ต้องสามารถวางโครงสร้างของหน่วยงานสำคัญ รวมถึงปรับกระบวนการปฏิบัติงานที่สะท้อนทิศทางและนโยบายขององค์กร สิ่งสำคัญคือไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยจะทำอย่างไรให้บุคลากรที่มีความหลากหลายนั้น สามารถเห็นภาพปลายทางแบบเดียวกัน และพยายามพัฒนาตนเองเพื่อร่วมเดินทางให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน

 

6 องค์ประกอบ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้ประสบความสำเร็จ

Digital Transformation


– 1 –

กระบวนการ (Process)

  • หากเป้าหมายที่อยากจะพลิกโฉมองค์กรนั้นไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ก็ควรเลิกคิดที่จะพยายามแบบไร้จุดมุ่งหมาย
  • Digital Transformation ไม่ใช่เพียงการพัฒนาระบบหรือการซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่มันคือโครงการการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น กระบวนการศึกษาความจำเป็นขององค์กร กระบวนการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม กระบวนการพัฒนาความสามารถของบุคลากรรวมถึงการวางขอบเขตการดำเนินการจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพื่อให้บุคลากรเห็นประโยชน์ เปิดใจยอมรับระบบการทำงานแบบใหม่ และสามารถเพิ่มผลิตภาพองค์กรด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านั้น ให้เต็มประสิทธิภาพ

– 2 –

การเตรียมความพร้อม (Preparation)

  • จำลองสถานการณ์หากองค์กรนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาทดลองกับระบบงาน กระบวนการต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาผลกระทบ ความรู้สึกของบุคลากร เพื่อเปิดรับข้อเสนอแนะ และเตรียมความพร้อมก่อนนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้จริงในองค์กร
  • ทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กรควรเตรียมแผนทั้งระยะสั้น และแผนระยะยาว เพื่อเป็นกรอบในการสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เช่น บุคลากรภายในองค์กร คู่ค้า รวมถึงลูกค้า รับทราบทิศทางการเปลี่ยนแปลงขององค์กรอย่างทั่วถึง

– 3 –

ราคา (Price)

  • สิ่งสำคัญที่ทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กรควรตระหนัก คือของแพงไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ดังนั้นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดของการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มผลิตภาพองค์กร คือการพิจารณาลงทุนกับเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจและบริบทต่างๆ ขององค์กรได้เหมาะสมอย่างแท้จริง

– 4 –

การพิจารณาความเสี่ยง (Potential Risks)

  • จำลองสถานการณ์หากองค์กรนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในองค์กร เพื่อศึกษาปัญหาและโอกาสความเสี่ยงต่างๆ ทั้งในส่วนของระบบงาน กระบวนการ รวมถึงบุคลากร เพื่อวางแผนรับมือให้รัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น หากเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นขึ้นจริง

– 5 –

กรอบเวลาของโครงการ (Project Timeline)

  • การกำหนดจุดหรือเหตุการณ์สำคัญพร้อมกำหนดผลที่คาดหวังเป็นระยะ (Milestone) เพื่อทวนสอบและติดตามประสิทธิผลของการดำเนินงานโครงการ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อให้เกิดการปรับปรุงอย่างทันเวลาหากเกิดปัญหาระหว่างการดำเนินโครงการ ป้องกันไม่ให้ปัญหานั้นบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ รวมถึงเพื่อให้ผู้บริหารและทีมงานมั่นใจได้ว่าโครงการจะบรรลุเป้าหมายและตัวชี้วัดตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ได้อย่างแน่นอน

 – 6 –

บุคลากร (People)

  • การปรับทัศนคติของบุคลากรให้เปิดใจในการนำดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการทำงานของตนเอง โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการยกระดับผลิตภาพองค์กรนั้น เป็นด่านแรกที่สำคัญที่สุด ที่ทีมผู้นำองค์กรและทีมนักพัฒนาองค์กรจำเป็นต้องผ่านไปให้ได้

ดังนั้น “หลุมพราง” ของด่านนี้ก็คือการสร้างความสมดุล ระหว่างการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับบุคลากรเพื่อให้พวกเค้าเปิดใจรับเทคโนโลยี กับ การยกระดับผลิตภาพของระบบงานให้สำเร็จและสอดคล้องกับทิศทางในอนาคตขององค์กร

องค์กรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทุกคนในองค์กร ควรให้ความสำคัญและมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้เท่าทันโลกเศรษฐกิจก่อนที่จะถูก Digital Disruption

 

สามารถรับชมวิดีโอการบรรยายย้อนหลังได้ที่
https://www.ftpi.or.th/25th/speakers

ที่มา : งานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success วันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้อง Grand Hall ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค



Writer