23 สิงหาคม 2023

 

ขับเคลื่อนเขยื้อนกรอบ

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
sureephan02@gmail.com

 

การพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงเป็นคำพูดที่ผู้บริหารเกือบทุกองค์กรกล่าวถึงในแง่มุมต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในแง่ของแนวคิดในการบริหารจัดการ การปลูกฝังค่านิยมให้คนในองค์กร หากพิจารณาให้ดี “การพร้อมรับ” คือการตั้งรับ
ซึ่งในสนามการแข่งขันที่ดุเดือด การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิตอล
การตั้งรับไม่ใช่ทางรอด แต่ผู้บริหารจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อนการเปลี่ยนแปลงจะมาถึง
ดังเช่นการแตกของเปลือกไข่ หากเกิดจากภายในคือชีวิตใหม่ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าแตกจากการกระทบจากภายนอกคือการแตกสลายแบบหายนะ

การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญ เพราะความรู้จะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีทิศทางที่ถูกต้องก่อนอื่นจึงต้องพิจารณาการจัดการความรู้ในองค์กรเป็นลำดับแรกว่ามาถูกทางหรือไม่ โดยดูง่ายๆ ที่ผลลัพธ์ของการดำเนินการที่ผ่านมาว่าส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรมากน้อยเพียงใด หากไม่มีคำตอบก็คงถึงเวลาในการเปลี่ยนแปลงวิธีการในการจัดการความรู้ได้แล้ว

 

I&DeA องค์กรที่ทำงานด้านการจัดการความรู้ให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นในประเทศอังกฤษให้นิยามการจัดการความรู้แบบสั้น กระชับว่า “KM is about building organizational intelligence by enabling people to improve the way  they work in capturing , sharing  and using knowledge” ด้วยความหมายนี้การจัดการความรู้จึงต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือความเป็นเลิศขององค์กร ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นอันดับแรกก็คือการจัดการความรู้ที่ผ่านมาส่งผลสำเร็จต่อองค์กรอย่างไร   นับเป็นเวลามากกว่า 20 ปีที่องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนในประเทศไทยมีการจัดการความรู้ และยังคงทำกันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่ดำเนินการในลักษณะของการจัดกิจกรรม เช่น เวทีแบ่งปันความรู้ การถอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การจัดเก็บความรู้เข้าสู่คลังความรู้ในระบบสารสนเทศ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการตามกรอบการจัดการความรู้ที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้น

 

กิจกรรมดังกล่าวจะสร้างคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อปรากฏผลสำเร็จทั้งในระดับบุคคลและทีมงาน ไม่ใช่เพียงแค่การจัดกิจกรรม นั่นคือการนำความรู้นั้นไปใช้ในการขยับเขยื้อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการถอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่นำไปสู่การแก้ปัญหา ลดต้นทุน ลดเวลาในการทำงาน หรือการร่วมกันคิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ เป็นต้น คลังความรู้ควรนำมาทบทวนดูว่าความรู้ที่จัดเก็บไว้ เป็นความรู้ที่มีคุณค่าหรือไม่ โดยวัดจากการมีผู้นำไปใช้เพื่อสร้างความสำเร็จในงานที่ทำ หากคลังความรู้ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้ที่ไม่ใครนำไปใช้ หรือแม้แต่เข้าไปดู คลังความรู้นั้นก็คงไม่ต่างอะไรจากห้องเก็บของเก่าที่ไม่มีประโยชน์

 

 

ในยุคดิจิทัลที่องค์กรต่างๆ ต้องทำงานบน Platform ใหม่ๆ บางองค์กรสามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านได้เกือบ 100% การจัดการความรู้ยิ่งมีความจำเป็น และต้องก้าวข้ามกรอบเดิมๆ ออกมาให้ได้ กิจกรรมการจัดการความรู้บางกิจกรรมอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ต้องหาวิธีการทำอย่างไรให้คนทำงานมีความรู้ในการทำงานบนระบบงานได้อย่างถูกต้อง มีเสถียรภาพ ปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับการก้าวทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน

 

ความรู้จึงต้องถ่ายทอดได้อย่างทั่วถึง ง่าย และสะดวกในการนำมาใช้ ผู้ที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต้องคำนึงถึงผู้ใช้ด้วยการออกแบบความรู้แบบพรัอมใช้และเหมาะสมกับผู้ใช้ เพราะความสำเร็จของผู้นำความรู้ไปใช้ก็คือความสำเร็จขององค์กรที่ทุกคนจะได้ผลประโยชน์ร่วมกัน

ด้วยการเขยื้อนกรอบการจัดการความรู้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรได้ เพราะการเรียนรู้ภาพอนาคตแม้จะพร่าเลือนหรือไม่มีความแน่นอน แต่หากมีความรู้ในการเปลี่ยนแปลงก่อนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เช่น การใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Foresight Management ก็ช่วยสร้างทางเลือกที่ดีกว่าการรอคอยโดยคาดเดาไม่ได้ว่าจะตั้งรับได้ดีเพียงใด

 

 

แนะนำหลักสูตร Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้) 👉 คลิก

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 

 

 

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น