23 มกราคม 2023

มองตนเพื่อข้ามพ้น

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
sureephan02@gmail.com

 

ผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งขององค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าก่อนที่จะได้รับรางวัลใดๆ ท่านเคยนั่งมองผู้บริหารองค์กรอื่นขึ้นรับรางวัลปีแล้วปีเล่าแล้วคิดไม่ตกว่าทำไมองค์กรของท่านจึงไม่ได้รับรางวัลทั้งๆ ที่ใช้เครื่องมือการบริหารจัดการไม่ต่างกัน

ในที่สุดท่านก็กลับมาบอกกับลูกน้องว่าอย่าไปสนใจว่าจะได้รางวัลหรือไม่  ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ เขียนในสิ่งที่ทำ และทำอย่างที่เขียน ในที่สุดองค์กรของท่านก็ได้รางวัลการบริหารจัดการหลายประเภทมาครอบครอง

การศึกษาองค์กรที่เป็นเลิศทุกองค์กรที่ผ่านมามีประสบการณ์เช่นนี้ไม่ต่างกัน นั่นคือการมองหาเครื่องมือต่างๆ มาพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเห็นความสำเร็จขององค์กรอื่น ก็มักพยายามเดินรอยตามโดยหวังว่าจะเป็นทางลัดไปสู่ความสำเร็จ

จากการเลียนแบบ แล้วพบว่าไม่สำเร็จตามที่คาดหวัง จึงหันกลับมามองตนเอง แล้วปรับใช้เครื่องมือ
หรือวิธีปฏิบัติที่เรียนรู้มาให้เหมาะสม ลองผิด ลองถูก ผ่านความผิดพลาด
ผ่านความกลัวจนก้าวพ้น พัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศได้

กรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจก็คือธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่าคำถามจากเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติทำให้ได้กลับมาทบทวนตัวตนขององค์กรและทำให้ได้รู้ว่าลูกค้าที่แท้จริงคือใคร หลังจากหลงทางไปหลายปี

การมุ่งเน้นความสำเร็จ (Focus on success) หนึ่งในค่านิยมและแนวคิดหลัก 11 ประการของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นจุดตั้งต้นที่ตั้งคำถามได้หลายประเด็น เริ่มต้นด้วยคำถามว่าความสำเร็จขององค์กรคืออะไร วิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง หากการกำหนดวิสัยทัศน์ปราศจากซึ่งการพิจารณาตัวตนขององค์กรว่าเกิดมาเพื่ออะไร และต้องการก้าวไปจุดไหน

หลายองค์กรจึงต้องกลับมาปรับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมใหม่เมื่อทบทวนดูแล้วว่าที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะนำไปสู่การวางกลยุทธ์

Best Practices ที่ได้พบในองค์กรที่เป็นเลิศ แม้จะใช้เครื่องมือการบริหารจัดการที่เหมือนกับองค์กรอื่นๆ แต่ที่ต่างกันก็คือตัวตนที่อยู่ในวิธีปฏิบัตินั้น ซึ่งมุ่งไปสู่ความสำเร็จด้วยความเป็นระบบที่เชื่อมโยงสอดคล้องไปทุกองคาพยพขององค์กรนั้นเอง

“ระบบการนำองค์กรที่ไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย”  หนึ่งในวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) องค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2562 จะได้เห็นการตกผลึกของระบบการนำองค์กรที่มีรูปแบบของตนเองคือ GHB SMART Leadership System (LDS) ที่ผู้บริหารกล่าวว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาหลายครั้ง จากการเริ่มต้นดูคนอื่นแล้วนำมากลับมาใช้ เมื่อพบว่ายังไม่ตอบโจทย์ความสำเร็จก็เรียนรู้ต่อไป แล้วหันกลับมาดูตัวเอง จนในที่สุดก็ได้ค้นพบวิธีปฏิบัติที่เหมาะสม นำไปสู่ความสำเร็จที่วัดผลได้

ระบบการนำองค์กรของธอส. เป็นกระบวนการที่มีวิธีปฏิบัติชัดเจนใน 4 ขั้นตอนคือ หนึ่ง การสร้างความเข้าใจตรงกันในทิศทางขององค์กร สอง การสร้างสภาพแวดล้อมในการขับเคลื่อนองค์กร สาม การกํากับติดตามการดําเนินการเพื่อความสําเร็จตามเป้าหมาย และสี่ การสร้างความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าในระบบการนำดังกล่าวจะไม่ได้มีเฉพาะบทบาทของผู้นำ แต่จะมีความเชี่อมโยงในทุกระบบงานขององค์กร ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ นั่นคือคุณลักษณะสำคัญของ Best Practices ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ผู้บริหารของธอส. กล่าวว่า GHB SMART Leadership System (LDS) พัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน โดยการบริหารงานไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ว่าใครก็ตามมาทำหน้าที่บริหารก็ต้องเดินตามระบบที่วางไว้ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง

ธอส. จึงก้าวไปสู่ความเป็นเลิศบรรลุพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” และวิสัยทัศน์ “ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน” ที่เป็นตัวตนของการก่อตั้งได้ในที่สุด

 

 

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก

 

 

ค้นหาหลักสูตรเพื่อเสริมแกร่งศักยภาพบุคลากรและองค์กร คลิก 

‘Capability Development Program 2023’   พร้อมแล้วที่จะนำพาบุคลากรและองค์กรไทยมาร่วมเรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกฝนประสบการณ์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงลิ่ว ด้วยหลักสูตรฝึกอบรมที่ครอบคลุมการพัฒนาทั้ง People – Process – Technology ผ่านรูปแบบ Public Training , e Training และ Intensive Program การันตีด้วยสาระความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเทคนิคในการประยุกต์ใช้ในการทำงานจริง

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น