30 มีนาคม 2022

สกัดแก่นให้แม่นยำ

โดย คุณสุรีพันธุ์  เสนานุช
sureephan02@gmail.com

ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพหลายท่าน ซึ่งผู้เขียนเคยสัมภาษณ์มีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหมือนกันก็คือความสามารถในการสรุปความคิดและถ่ายทอดได้กระชับ แหลมคม

มีข้อมูลในเว็บไซต์จำนวนมากเกี่ยวกับเทคนิคการจับประเด็น รวมทั้งมีหลักสูตรอบรมหลายสำนัก แสดงให้เห็นว่า

ความสามารถในการจับประเด็นนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงาน

 

เทคนิคการจับประเด็นโดยหลักการแล้วไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แค่เพียงสกัดแก่นของเรื่องนั้น ๆ ออกมาให้ได้ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน การฝึกฝนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้เทคนิค อาชีพนักข่าว นักเขียนเป็นกลุ่มวิชาชีพที่ต้องมีความสามารถนี้อย่างยิ่ง เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน ที่จะเคี่ยวกรำความสามารถนี้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

 

การถอดองค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกิจกรรม CoPs ผู้สัมภาษณ์หรือ Facilitator ต้องมีความสามารถในการจับประเด็นได้อย่างแม่นยำ เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ได้ตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่มักพยายามอธิบายเบื้องหลังความคิด ให้ผู้ฟังเข้าใจ ผู้สัมภาษณ์จึงต้องกุมประเด็นหลักให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการจากคำถามนั้น คำอธิบายนั้นได้ตอบคำถามแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้คำตอบก็ต้องถามซ้ำเป็นต้น

บทบาทของ Facilitator ในกิจกรรม CoPs ก็เช่นกัน ความสามารถในการจับประเด็นจะใช้ในการสะท้อนกลับในวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีความชัดเจน ตรงประเด็น เช่น เมื่อมีการพูดถึงวิธีปฏิบัติ ก็ต้องสามารถสรุปขั้นตอนที่ถูกต้องให้ทุกคนในวง CoPs เข้าใจตรงกันได้

การจับประเด็นมีเทคนิคง่าย ๆ เริ่มจากการกำหนดสติให้มีความจดจ่ออยู่กับเนื้อหานั้น ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่าน
ความสำคัญลำดับแรกก็คือการสกัดเนื้อหาที่กำลังรับรู้อยู่นั้นว่าคือ “อะไร” ตัวช่วยก็คือหัวข้อ หัวเรื่องที่จะนำทางไปสู่แก่นนั้น เช่น ชื่อบทความ หัวข้อข่าว หัวข้อการเสวนาหรือสัมมนา ซึ่งอาจพบว่าเนื้อหาไม่สอดคล้องอย่างที่ต้องการ ทำให้รู้ว่าไม่ควรเสียเวลากับเนื้อหานั้นต่อไป

ตัวการที่ทำให้จับ “ประเด็น” ไม่อยู่ ก็คือการเลื่อนไหลไปกับเนื้อหาที่เป็นองค์ประกอบ ซึ่งอาจเป็นข้อมูล สถานการณ์ ความคิดเห็น
ความสามารถในการจับประเด็นก็คือต้องแยกแยะให้ได้ว่าอะไรคือประเด็นหลักและอะไรคือองค์ประกอบ

การแยกประเด็นจากการรับฟังจึงยากกว่าการอ่าน เพราะผู้พูดมักจะพาผู้ฟังออกนอกประเด็นได้ง่ายที่สุด ยิ่งเป็นผู้พูดที่มีอารมณ์ขัน สอดแทรกมุขตลกเก่ง ผู้ฟังที่มีความแม่นยำในการจับประเด็นอาจพบว่าเนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักแทบจะหาไม่พบ นอกจากนั้นการฟังไม่สามารถย้อนกลับมาทบทวนได้โดยทันทีเหมือนการอ่าน ซึ่งหากไม่เข้าใจก็ย้อนกลับมาทบทวนได้ ผู้ที่ชอบการอ่านนวนิยาย หรือเรื่องสั้น จะพบว่าชื่อเรื่องจะบ่งชี้แก่นของเรื่องอย่างชัดเจนที่สุด ไม่ว่านวนิยาย หรือวรรณกรรมเรื่องนั้นจะยาวไปกี่ร้อยหน้า นักเขียนจะตั้งชื่อเรื่องด้วยการสรุปความคิดที่ต้องการสื่อสาร โดยสามารถอธิบายได้ใน 3-5 บรรทัด และนั่นคือแก่นของเรื่องนั่นเอง

การฝึกฝนเบื้องต้นในการจับประเด็นคือ

ความชัดเจนที่บอกได้ว่าสิ่งที่กำลังรับรู้อยู่นั้นคือ “อะไร” และเกี่ยวข้องกับอะไรบ้างที่เป็นสาระสำคัญ

ได้แก่ บุคคล สถานที่ หรือวิธีการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องครบถ้วนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่เป็นประเด็นหลัก

 

ความจำเป็นอีกประการหนึ่งของทักษะในการจับประเด็นก็คือ

จะช่วยในขั้นเตรียมการก่อนดำเนินการถอดองค์ความรู้ หรือที่เรียกกันว่า Before Action Review – BAR

ทำความเข้าใจกับบริบทเบื้องต้นให้ได้ความรู้เชิงลึกมากขึ้น

 

ในกระบวนการจัดการความรู้ทั้ง 7 ขั้นตอน ทักษะการจับประเด็นมีส่วนช่วยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบ่งชี้ความรู้ไปจนถึงการเผยแพร่ความรู้ โดยเฉพาะในการประมวลและกลั่นกรองความรู้ ซึ่งต้องมีการสรุปองค์ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อเขียน การจัดทำเป็นคู่มือการทำงาน การทำมาตรฐานการทำงาน ฯลฯ ทักษะในการจับประเด็นจะทำให้องค์ความรู้มีความคมชัด ง่ายสำหรับการเรียนรู้ต่อไป รวมไปถึงความสามารถในการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพอีกด้วย

แนะนำหลักสูตร
Knowledge Capturing (เทคนิคการถอดองค์ความรู้)
👉 คลิก




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น