1 มีนาคม 2021

เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณภาพชีวิตและสังคมที่ดีกว่า
มาร่วมเรียนรู้และเข้าใจบทบาทสำคัญผ่านการรับชมวีดิทัศน์ SDGs
“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยน สู่ความยั่งยืนของไทยและโลกเรา”

โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

“ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมปรับเปลี่ยน สู่ความยั่งยืนของไทยและโลกเรา”

 

ตอนที่ 1: ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

SDGs

ประเทศไทยและประเทศสมาชิกสหประชาชาติได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นกว่าเดิมและคุณภาพชีวิตของทุกคนในโลกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยวาระการพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วย 17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายย่อย ซึ่งเชื่อมโยงเกื้อหนุนกัน และกำหนดให้มีตัวชี้วัดเพื่อประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนา โดย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายหลัก สามารถจัดกลุ่มตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ คือ มิติการพัฒนาคน มิติสิ่งแวดล้อม มิติเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง มิติสันติภาพและความยุติธรรม และมิติความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ถึงเวลาแล้วที่เราจะจับมือกันเพื่อสร้างสรรค์โลกแห่งอนาคตที่สดใสทุกสิ่งจะเป็นจริงได้ เพียงลงมือทำ

ตอนที่ 2: SDGs ในทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action)

SDGs

นับตั้งแต่วันนี้ เหลือเวลาอีกเพียง 10 ปี ที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ดีกว่า การจะบรรลุ SDGs ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น ภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การดำเนินนโยบายภาครัฐ การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน ภายใต้บริบทของทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง หรือ The Decade of Action

ตอนที่ 3: SDGs กับเยาวชน

SDGs

เด็กและเยาวชนทุกคน จะต้องมีส่วนร่วมสร้างโลกในวันข้างหน้า ด้วยการลงมือทำปรับพฤติกรรม เพื่อสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า โดยเริ่มจากการสร้างค่านิยมในการใช้ซ้ำ ลด ละ เลิก และงดการแชร์ส่งต่อ การล้อเลียน หรือ Bully ด้วยการสร้างวาทกรรมเสียดสี หรือ Hate Speech และหันมาใส่ใจกับคนรอบข้างและคนใกล้ตัวให้มากขึ้น วันนี้คุณพร้อมแล้วหรือยังกับการนำพลังในตัวคุณ ออกมาเพื่อเปลี่ยนสู่สิ่งที่ดีกว่า เริ่มต้นง่าย ๆตามสไตล์ที่เป็นคุณ ร่วมแชร์เรื่องราวดี ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ เพราะเราเชื่อว่าการลงมือทำสิ่งที่ดีเพียงเล็กน้อยไปเรื่อยๆ จะสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

ตอนที่ 4: SDGs กับภาคธุรกิจ

SDGs

เมื่อพูดถึงธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เรามักให้ความสำคัญกับการทำกำไรสูงสุด โดยละเลยต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ และทางทะเล โลกร้อน การใช้แรงงานผิดกฎหมาย และการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Business จึงกลายมาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนได้

การดำเนินการตามหลัก “ธุรกิจที่ยั่งยืน” นั้น นอกจากจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ยังเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจเองด้วย เนื่องจากเป็นการดำเนินการตามเทรนด์ของตลาดตอบโจทย์นักลงทุน และยังเป็นที่ต้องการผู้บริโภค ซึ่งจะสร้างผลกำไรให้เกิดขึ้นได้ในระยะยาว

ตอนที่ 5: SDGs กับความหลากหลายทางเพศ

SDGs

ประเทศไทยมีประชากรกลุ่ม LGBTQI+ จำนวนกว่า 4 ล้านคน คิดเป็น 6% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด แม้ว่าในมุมมองของชาว LGBTQI+ ทั่วโลกจะเห็นว่าประเทศไทยค่อนข้างจะเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศ และให้การยอมรับชาว LGBTQI+ อย่างเต็มที่ แต่การวิจัยจากกลุ่มธนาคารโลก ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท Love Frankie ระบุว่ากลุ่มคนข้ามเพศ 77% หญิงรักหญิง 62.5% และชายรักชาย 49% ถูกปฏิเสธการรับเข้าทำงาน เนื่องจากความแตกต่างทางเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้มีเพียงแค่ในสังคมที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับชาว LGBTQI+ โดยทั่วไป จะดีกว่าไหม ถ้าคนไทยหันมาช่วยกันสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง

ตอนที่ 6: SDGs กับเกษตรกร

SDGs

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs เป็นเป้าหมายการพัฒนาเพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกษตรกร ก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาตามแนวทาง SDGs ได้เช่นกัน การทำเกษตรกรรมยั่งยืน จะเป็นแนวทางลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

เกษตรกรรมยั่งยืน คือ ระบบเกษตรที่ครอบคลุมวิถีชีวิตเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบเพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งการเปลี่ยนจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบเดิม ให้มีความหลากหลายมากขึ้น หรือการลดใช้สารเคมี จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำการเกษตรได้ SDGs ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องของเราทุกคนที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงให้โลกน่าอยู่มากขึ้น

ตอนที่ 7: SDGs กับชีวิตคนเมือง
SDGs

คุณยังมีวิถีชีวิตที่อยู่ในเมืองใหญ่ ติดอยู่กับความเร่งรีบ ต้องแข่งขันกับเวลา ทำงานหนักเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตแบบนี้อยู่รึเปล่า? คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ได้หมายถึงความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือการมีเงินทองเท่านั้น แต่หมายถึง การมีสุขภาพที่ดี สังคมที่ดี และสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย คุณภาพชีวิตที่ดี เริ่มได้ง่ายๆด้วยการจัดสรรเวลาในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เกิดความสมดุลในการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายด้าน เช่น มลภาวะทางอากาศ น้ำ ปัญหาขยะต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพของคนเมือง หากคนเมืองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง จะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

 

สามารถรับชมผ่าน YouTube Channel: https://www.youtube.com/channel/UCjMyIXHto5XgR2cSvX4I2xA/videos

SDGs




Writer

โดย ส่วนสื่อสารองค์กร