12 เมษายน 2019

 

ตั้งแต่ปี 2014 มาแล้วที่ Google ประกาศว่าการรับคนเข้าทำงาน เกรดหรือสถาบันไม่ใช่ตัวเลือกอีกต่อไป แต่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ การปรับตัว ความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหา

แนวโน้มของความต้องการทักษะมากกว่าปริญญาในตลาดแรงงานมีมากขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยของ The Bureau of Labor Statistics (BLS) ระบุว่าตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาในอนาคตต้องการทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน และการสื่อสารที่มีประสิทธิผล เช่นเดียวกับที่ Anthony P. Carnevale  ศาสตราจารย์นักวิจัยและผู้อำนวยการของ Center on Education and the Workforce  Georgetown University ระบุว่าแรงงานคุณภาพซึ่งเป็นที่ต้องการในอนาคตคือผู้ที่มีทักษะด้านลึก แต่กว้าง และต้องการเพียงคุณวุฒิระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่าพร้อมกับการอบรมเฉพาะให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

BLS  ยังระบุอีกว่าตำแหน่งงานในสายสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมมีแนวโน้มในการเติบโตสูง ในปี 2026 ด้านพลังงานทางเลือกมีความต้องการเพิ่มขึ้นในสายอุตสาหกรรม  ซึ่งต้องการเพียงคุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพพร้อมการอบรมเช่นกัน

การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพื่อเสนอแนะให้ระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคต เพราะการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์เป็นความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

การเรียนสายวิชาชีพดูเหมือนจะตอบโจทย์ด้านทักษะได้มากกว่าการเรียนสายสามัญในระดับอุดมศึกษาซึ่งใช้เวลามากกว่าอีกด้วย สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานตัวเลขคนว่างงานในเดือนธันวาคม 2017  จำนวน 364,000 คน สูงกว่าปี  2016 จำนวน  61,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ว่างงานที่จบระดับอุดมศึกษาจำนวนมากกที่สุดคือ  120,000 คน

ต้องยอมรับว่าทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ความสามารถในการแก้ไขปัญหา และทักษะด้านการสื่อสารนั้นไม่ได้รับการออกแบบมาในระบบการศึกษาไทยที่มุ่งเน้นไปที่ความรู้ทางวิชาการ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยมีช่องว่างด้านทักษะสูงมาก

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์  ผู้นำเสนอการศึกษาวิจัยนี้ระบุว่าตัวเลขจากธนาคารโลกเกี่ยวกับ“ธุรกิจที่ขาดแรงงานที่มีทักษะตามต้องการ” พบว่า ธุรกิจไทยขาดคนที่มีทักษะมากที่สุดในอาเซียน ร้อยละ 39  จำนวนแรงงานไร้ฝีมือ จบปริญญาตรีที่ไม่ตอบโจทย์นายจ้างสูงสุดในอาเซียนเช่นกันคือร้อยละ 84

นักวิชาการของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ยังระบุว่า นายจ้างมักปฏิเสธผู้ที่จบปริญญาตรี ต้องการแรงงานสายวิชาชีพเพราะมีทักษะมากกว่าในการปฏิบัติงาน และกล่าวถึงข้อมูลจาก WEF ที่แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการปรับตัวคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด เพราะงานในอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถจะสอนในกลุ่มสาระวิชาใดๆ

คุณสมบัติของคนที่ Google ต้องการตั้งแต่ ประกาศไว้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของทักษะที่ WEF ระบุว่าเป็นความต้องการในปี 2020  เช่นกัน

อย่างไรก็ตามแนวโน้มนี้เริ่มปลุกให้ระบบการศึกษาไทยเริ่มตื่นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว จากรายงานข่าวว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กำลังนำเสนอแผนปฏิรูปการศึกษาส่วนหนึ่งระบุถึงการปรับการศึกษาจากฐานเนื้อหาสาระไปเป็นฐานสมรรถนะกำหนดกรอบสมรรถนะหลัก 10 ด้าน ได้แก่ 1.การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยา 2.ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร 3.ทักษะชีวิตและความเจริญแห่งตน 4.ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ 5.ทักษะการคิดขั้นสูงและนวัตกรรม 6.การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล 7.การทำงานแบบรวมพลังเป็นทีมและภาวะผู้นำ 8.พลเมืองตื่นรู้ 9.ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและ 10.คณิตศาสตร์ ในชีวิตประจำวัน

เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าดูต่อไปว่ากรอบสมรรถนะหลัก 10 ด้านดังกล่าวจะตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ตรงตามความต้องการเพียงใด เพราะนับแต่นี้ไม่มีพรมแดนของการจ้างงานอีกต่อไปแล้ว การทำงานในท่ามกลางความแตกต่างทางภาษา แนวคิด วัฒนธรรมเป็นเรื่องปกติ เพราะองค์กรธุรกิจเกือบทุกองค์กรต้องก้าวออกไปสู่ความเป็น Multinational company  ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด และทักษะการทำงานร่วมกัน จึงกลายเป็นทักษะที่สำคัญ 3 ใน 10 ของทักษะของอนาคตในปี 2020 ที่นายจ้างและตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการตามที่ WEF ระบุไว้

การเปลี่ยนแนวคิดด้านการศึกษาจากเนื้อหาสาระมาสู่การสร้างสมรรถนะหลักด้านทักษะ คงอาศัยนักวิชาการด้านการศึกษากลุ่มเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แต่คงต้องแสวงหาศาสตร์ด้านอื่นเข้ามาช่วยด้วย เพราะเป็นการปรับทั้งวิธีคิดและพฤติกรรมเลยทีเดียว

และนี่คือความท้าทายระดับชาติที่จะตอบว่าเรามีศักยภาพในการแข่งขันระดับไหนของโลกในอนาคต

ข้อมูลอ้างอิง ; https://www.thairath.co.th/content/1178343 ;https://www.isranews.org/isranews-scoop/62873-economic-62873.html

;http://hechingerreport.org/without-changes-education-future-work-will-leave-people-behind/

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น