16 เมษายน 2018

ศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มีการนำมาอ้างถึงเสมอในงานพัฒนาชุมชน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงพระราชทานแนวคิดนี้ ทรงดำเนินพระราชกรณียกิจตลอดพระชนม์ชีพด้วยแนวคิดนี้ตลอดมา

กิจกรรมในโครงการ CSR ปัจจัยด้านความเข้าใจเป็นจุดตั้งต้นสำคัญที่คลาดเคลื่อนอยู่เสมอ เพราะคนทำงานใช้ความเข้าใจของตนเอง โดยที่ไม่ได้เข้าใจในบริบทพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชนที่จะเข้าไปทำงานด้วยแต่อย่างใด

ยกตัวอย่างกิจกรรมยอดนิยมอย่างการปลูกป่าชายเลน แม้ว่าปัญหาความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนจะมีอยู่จริง แต่การทำกิจกรรมเพียงแค่เข้าไปบุกน้ำ ลุยโคลนปลูกป่าชายเลน จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลน ตั้งเครือข่ายอาสาดูแลป่าชายเลน คำถามก็คือด้วยกิจกรรมเพียงเท่านี้จะมีผลอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ที่ป่าชายเลนจะคืนสภาพไปสู่ความสมบูรณ์ ในระหว่างนั้น คนในชุมชนใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร มีรายได้เพียงพอหรือไม่ เด็กๆ มีโอกาสทางการศึกษาหรือไม่ เพราะทั้งสองประเด็นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูป่าชายเลนทั้งสิ้น

การทำงานด้วยความเข้าใจจึงต้องหาความรู้ที่รอบด้านในเรื่องนั้นๆ ให้เพียงพอ และมองทะลุตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในแต่ละเรื่อง เช่น ในเป้าหมายสุดท้ายของการฟื้นฟูป่าชายเลน ก็คือการสร้างแหล่งอาหารแหล่งทำมาหาเลื้ยงชีพให้คนในชุมชน ทำอย่างไรที่จะให้คนในชุมชนดูแลป่าชายเลนอย่างเห็นเป้าหมายเดียวกัน ทำอย่างไรจะให้คนในชุมชนมีกำลังที่เข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมเพื่อมีแรงขับเคลื่อนในการฟื้นฟูป่าชายเลนให้กลับสู่สภาพอุดมสมบูรณ์ ทำอย่างไรที่จะให้เยาวชนในพื้นที่เห็นคุณค่าของป่าชายเลน มีความรู้ มีทักษะที่จะช่วยกันดูแลรักษา และสร้างคุณค่าจากป่าชายเลนนี้ได้ในอนาคต

เครื่องมือที่จะช่วยให้คนทำงานมีความเข้าใจในงานที่จะดำเนินการอย่างถูกต้อง รอบด้านและชัดเจนก็คือการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management (KM) ที่จะกลั่นกรองจากระดับข้อมูลมาเป็นความรู้ที่มีคุณค่าต่อการทำงาน (Valuable Knowledge) ทำให้ไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใว้ และความรู้นั้นเมื่อทำให้เกิดความสำเร็จก็จะกลายเป็นภูมิปัญญา (Wisdom) ที่ใช้ส่งต่อกันไปในที่สุด

KM เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานในทุกๆ งาน ถ้าใช้เป็น แต่ที่ผ่านมาองค์กรมักจะถูก KM ใช้จนเหนื่อยล้าแต่ไม่เกิดประโยชน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม ในการทำงานชุมชนจึงต้องวิเคราะห์ว่าเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมายต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง เช่น เริ่มต้นต้องรู้ว่าชีวิตของเกษตรกรเป็นอย่างไร เผชิญกับปัญหาอะไรบ้าง นำมาวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนงานสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นทุกๆ ด้าน

จากการเก็บข้อมูลเกษตรกรในชุมชนแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ทำให้เห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่สูงมากเกือบจะเท่ากับคนในชุมชนเมือง ยกตัวอย่างการเก็บข้อมูลเกษตรกรในพื้นที่แห่งหนึ่งเมื่อปี 2559 ครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมดเพียง 4 คนคือพ่อ แม่และลูก 2 คนที่อยู่ในวัยเรียนที่ยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายทางการศึกษา แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในบ้านก็ตกเดือนละ 9,200 บาท รวมรายรับทั้งปีในการปลูกข้าวโพดอยู่ที่ 303,408 มีรายจ่ายต่อปี รวมการลงทุนในการทำการเกษตรอยู่ที่ 220,080 บาท มีเงินคงเหลือ 83,328 บาทต่อปี ซึ่งแม้ดูเหมือนว่าจะมีเงินเหลือเก็บ เงินจำนวนนี้ยังไม่ได้รวมถึงกรณีมีหนี้สิน การเจ็บป่วย การซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตร การปรับปรุงพื้นที่ การซ่อมแซมบ้าน ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และด้านการศึกษาที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเมือลูกต้องเรียนในระดับที่สูงขึ้น เช่นในครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คนซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ ปู่ ย่า และลูก 2 คนเรียนในระดับที่ต้องมีค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุในบ้าน ปรากฏว่ามีรายจ่ายต่อเดือนถึง 23,619 บาท มีรายได้รวมทั้งปีทั้งการปลูกข้าวโพดและพืชเสริม 760,526 แต่ก็มีรายจ่ายรวมถึง 871,170  นั่นหมายถึงรายรับไม่สมดุลรายจ่ายอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างข้อมูลนี้คือสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจก่อนที่นำไปวางแผนในด้านการยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน ทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรมีเงินออม มีเงินหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ในยามจำเป็น เพราะพบว่าเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งที่เกษตรกรต้องพึงพาเงินกู้นอกระบบ และการปลดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงเป็นเรื่องยากมาก

การแก้ปัญหานี้ต้องใช้องค์ความรู้หลายด้าน รวมทั้งการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์แนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับชุมชนนั้นๆ ซึ่งหมายถึงคนในชุมชนต้องเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง

การเข้าใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าถึง ในจุดที่สามารถทำให้คนในชุมชนสามารถจัดการปัญหาด้วยตัวของเขาเองอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ด้วยการจัดการจากคนภายนอก เพราะหน้าที่ของคนทำงานชุมชนเป็นเพียงผู้เอื้ออำนวย หรือ Facilitator ไม่ใช่ Leader หรือผู้ชี้นำ

 

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

 




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น