19 มีนาคม 2018

“องค์กรต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคของความไม่แน่นอน”

คำถามจากเจ้าของธุรกิจท่านหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้บริษัทขยายตัวอย่างต่อเนื่องสวนทางกับบริษัทอื่นๆในธุรกิจเดียวกัน แต่ท่านก็ยังอยากทราบปัจจัยความสำเร็จที่เกิดขึ้น ผมจึงได้มีโอกาสทบทวนแนวทางการดำเนินธุรกิจของหลากหลายบริษัทที่ได้มีโอกาสร่วมงาน จึงพบว่า บริษัทเหล่านั้นมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ “พยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างและหลากหลาย” ด้วยการปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่น

เนื่องจากแนวคิดเดิมมุ่งเน้นการผลิตด้วยต้นทุนต่ำ จึงเน้นการผลิตจำนวนมาก ทำให้เครื่องจักรถูกออกแบบให้รองรับการผลิตแบบมาตรฐาน ซึ่งไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้มากนัก โดยเฉพาะการพยายามปรับปรุงเครื่องจักรให้เป็นแบบต่อเนื่องตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงกระบวนการบรรจุ บริษัทจึงต้องหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใหม่ทุกครั้ง ทั้งๆ ที่ใช้สินค้าเดียวกัน แต่หากขั้นตอนบรรจุภัณฑ์ถูกแยกออกมาก็จะเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้าตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างโอกาสในการแข่งขันเพิ่มขึ้น

การรู้ทิศทางตลาด และกำหนดกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกันจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ไม่ใช่มุ่งแต่เพิ่มเครื่องจักร เมื่อเห็นยอดขายของสินค้าใดสินค้าหนึ่งเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึง การออกแบบกระบวนการผลิตให้รองรับความต้องการของลูกค้าที่อาจเปลี่ยนไป จึงมักพบว่าหลายองค์กร ใช้เครื่องจักรไม่เต็มกำลังการผลิต เมื่อสินค้าเริ่มไม่ได้รับความนิยม หรือแม้แต่ในธุรกิจทัวร์เล็กๆของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่เพิ่มทีมงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มประเทศที่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง จนเมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ เพราะบริษัทไม่สามารถตอบสนองลูกค้าที่ต้องการสถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆได้

การมองเห็นการเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มของตลาด เป็นอีกปัจจัย ที่จะกำหนดเป้าหมายขององค์กรในระยะยาวได้อย่างชัดเจน เช่น การอยู่ร่วมกันของคนหลายรุ่น ย่อมส่งผลต่อการออกแบบที่อยู่อาศัย ร้านค้า หรือโรงแรม ให้สามารถรองรับความต้องการที่แตกต่างกันได้อย่างลงตัว หรือการเติบโตของร้านค้าออนไลน์ จนถึงการส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิตอล ทำให้พฤติกรรมการซื้อสินค้าไม่จำเป็น ง่ายขึ้น แต่จะให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของตราสินค้า และรูปลักษณ์ที่ตรงกับความต้องการ

การสร้างมุมมองใหม่ โดยไม่ยึดติดกับแนวคิดเดิม หรือตามกระแส จนมองข้ามโอกาสในการนำเสนอสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่นอกกระแส หรือกลุ่มลูกค้าใหม่ที่ยังต้องการสินค้ารูปแบบเดิมๆ เช่น ผู้ผลิตขนมไทยรายหนึ่งพยายามค้นหาสูตรลดปริมาณน้ำตาลด้วยวัตถุดิบและกระบวนการใหม่ๆ ทั้งๆ ที่หากนำเสนอขนมไทยรสหวานสำหรับลูกค้ากลุ่มต้องการพลังงาน ก็อาจสร้างโอกาส ในระหว่างรอการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรือบริษัทผู้ผลิตอาหารสำหรับเป็นของฝาก ต้องการพัฒนาสินค้าให้มีอายุนานขึ้น เพื่อลูกค้าจะได้ซื้อเยอะขึ้น แต่หากเปลี่ยนมุมมองด้วยการกระตุ้นให้ลูกค้ารับรู้รูปแบบการนำอาหารไปรับประทานได้หลากหลาย และสามารถนำไปเป็นของฝากแทนความห่วงใย ลูกค้าก็อาจซื้อเพิ่มขึ้นโดยไม่กังวลเรื่องอายุสินค้าก็ได้

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวขององค์กรในยุคสมัยนี้ ต้องสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปลักษณ์ ขนาด และปริมาณ รวมถึงทั้งรูปแบบมาตรฐานและปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องเน้นการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถรองรับ พฤติกรรมลูกค้าที่แตกต่างกันให้มากที่สุด จึงจะสามารถสร้างจุดแข็งดึงดูดนักลงทุนให้มาสนใจ รวมถึงกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เช่น แอพพลิเคชั่นส่งอาหาร ที่มีอยู่มากมายต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้าที่ต้องการร้านอาหารแนะนำ กลุ่มลูกค้าที่ต้องการทราบราคาอาหาร หรือกลุ่มลูกค้าที่เน้นความรวดเร็ว นอกจากนี้ยังต้องสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต้องการให้จัดหาสินค้าที่อยากได้ กลุ่มลูกค้าที่อยากแลกเปลี่ยนสินค้า หรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการฝากขายสินค้า เป็นต้น แต่ถึงองค์กรจะรู้ว่าต้องปรับตัวอย่างไร ก็ต้อง “กล้าที่จะเปลี่ยน” จึงจะได้รับโอกาสดีๆที่รออยู่

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ