9 มีนาคม 2018

เทคโนโลยี Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ถูกพูดถึงเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคธุรกิจแห่งอนาคต และคงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจมากเท่าใดนัก ที่เรามักจะเห็นการนำเทคโนโลยีนี้มาให้ในภาคเอกชน ที่มุ่งมั่นเดินหน้าเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร แต่ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็หันมาให้ความสนใจกับการประยุกต์ใช้ AI มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานราชการจะทำอย่างไรที่จะไม่ตกขบวนแห่งการพัฒนานี้ โดยผู้เขียนได้กล่าวถึงในบริบทจากสังคมประเทศแคนาดาเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้ในหน่วยงานราชการเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเครื่องมือล่าสุดในบรรดาการพัฒนาเทคโนโลยีที่กำลังถูกนำมาใช้เพื่อสนองตอบความต้องการของพลเมืองในยุคดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้น ความแพร่หลายของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในเวทีระดับนานาชาติเกี่ยวกับผลกระทบจากการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง และ AI ที่มีต่อสังคม และสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อปรับตัวให้ทันกับยุคที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป กระนั้น ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว กลับมีการถกเกี่ยวกับการนำเครื่องมือด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการภาครัฐน้อยมาก

การวิเคราะห์ข้อมูลและ AI ต่างเป็นเทคโนโลยีที่จะเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงพลเมืองที่มีความหลากหลายได้อย่างมาก เช่น การให้บริการแบบเฉพาะเจาะจงกับความต้องการของพลเมืองแต่ละกลุ่ม หรือแม้กระทั่งเป็นเครื่องมือคาดการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพและสวัสดิภาพความปลอดภัย หรือปูทางไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับภาคธุรกิจ เป็นต้น

จากศักยภาพของเทคโนโลยีข้างต้น ก็เพียงพอที่จะยกระดับบริการของภาครัฐไปอีกขั้น เป็นต้นว่าการให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองต่อความต้องการได้อย่างฉับไว และเพื่อค้นหาแนวโน้มและโอกาสใหม่ๆ โดยที่มนุษย์อย่างเราๆ ไม่อาจสามารถทำได้มาก่อน โดยเราสามารถนำการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ในการให้บริการกับประชาชน และระบบอัตโนมัติที่มาช่วยทำงานในกระบวนการภายในที่ใช้เวลามากในการให้บริการประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงการให้บริการในภาครัฐเริ่มมีให้เห็นทั่วโลก เช่น ในออสเตรเลียและสิงคโปร์ที่มีการใช้โปรแกรม chatbot เป็นผู้ช่วยในการยื่นภาษีให้กับประชาชน ในสหรัฐอเมริกา นำมาใช้นำร่องระบบตรวจคนเข้าเมือง หรือใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับภาคธุรกิจ ขณะที่ ในแคนาดา มีการใช้ AI ในการคาดการณ์เกี่ยวกับการฟักตัวและแพร่เชื้อของโรคระบาด

เทคโนโลยีดังกล่าว ยังมาในช่วงจังหวะพอเหมาะพอดีสำหรับหน่วยงานภาครัฐไม่เฉพาะที่แคนาดาแต่หมายรวมทั่วโลกซึ่งความน่าเชื่อถือกำลังเสื่อมถอยลงในแง่ของการส่งมอบบริการให้กับประชาชน หรือเทคโนโลยีของระบบไอทีที่สู้กับภาคเอกชนไม่ได้ และถึงแม้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ จะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะช่วยกอบกู้ชื่อเสียงให้กับภาครัฐ อย่างน้อยหากมีการนำมาใช้ให้ถูกกับงาน ก็จะสามารถช่วยได้อย่างมาก ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ย่อมหมายถึงการต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมที่จะตามมาด้วย หาไม่แล้วเทคโนโลยีที่นำมาใช้ก็จะไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ตั้งใจ

ก้าวสู่อนาคตอย่างรับผิดชอบ

ในการนำระบบวิเคราะห์ข้อมูลและ AI  มาใช้ สิ่งที่มาคู่กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ประเด็นด้านจริยธรรม ระบบชุดคำสั่งที่ใช้ในการแก้ปัญหา หรือ Algorithm ที่ใช้ทั้งในภาครัฐและเอกชนกำลังเข้ามามีผลต่อชีวิตประจำวันของผู้คน เช่น การทำทัณฑ์บน  การพิจารณาให้สินเชื่อ และการพิจารณาการจ้างงาน การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ต้องอาศัยข้อมูลที่อาจมีโอกาสเก็บรวบรวมและนำไปใช้ด้วยอคติ ยกตัวอย่างในปี 2015  มีผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในสหรัฐอเมริกาว่า หากเทียบกับเพศชายแล้ว เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเห็นงานที่ให้ค่าจ้างสูงน้อยกว่าจากระบบโฆษณาหางานในกูเกิล ดังนั้น หากว่าระบบ Algorithm ที่มีอคติเช่นกรณีนี้ถูกนำไปใช้ในบริการและกระบวนการตัดสินใจอื่นๆ ก็อาจเป็นปัญหาต่อพลเมืองส่วนน้อยก็เป็นได้ หรือกรณีของวิธีการวิเคราะห์ของ AI ที่นำมาสู่ผลการตัดสินใจหนึ่งที่ยากต่อการตีความ ก็อาจกลายเป็นประเด็นว่าการตัดสินใจนั้นๆ เพียงพอต่อการพิจารณาคดีความในศาลหรือไม่

จากประเด็นข้างต้น นำไปสู่การเรียกร้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถาบัน AI Now Institute ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ให้มีการจำกัดการใช้ AI สำหรับสถานการณ์การตัดสินใจที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่อาจสร้างผลกระทบต่อสุขภาพ สวัสดิภาพ และเสรีภาพ โดยในการพิจารณาว่าความทั่วโลกได้ออกกฎข้อบังคับให้พลเมืองของตนมีสิทธิโดยชอบที่จะอธิบาย แก้ต่าง ผลการตัดสินที่ออกโดย AI  สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า แทนที่จะเร่งรีบนำ AI มาใช้โดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วน การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ควรเป็นไปอย่างรอบคอบและระมัดระวังในทุกๆ ขั้นตอน แต่ก็มิใช่ว่าจะเพิกเฉยหรือรอดูเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นและปล่อยผ่านไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร การนำ AI มาใช้ในหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างสองขั้วที่แตกต่างกัน ระหว่างนวัตกรรมกับเสถียรภาพความมั่นคง การสุ่มทดลองกับความครอบคลุม บริการที่ดีกับโปรแกรมความน่าเชื่อถือ แม้ว่าการสร้างความสมดุลจะไม่ง่ายนัก แต่การคงรักษาเอาไว้นั้นยากยิ่งกว่า หากเราให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการตัดสินใจที่มาจากระบบ Algorithm น้อยเกินไป ก็เสี่ยงที่สร้างระบบที่ไม่น่ายอมรับและไร้ประสิทธิภาพโดยที่การตัดสินที่มีต่อบุคคลๆ หนึ่งยังยากต่อการท้วงติง ในทางตรงข้าม หากมีการให้ข้อมูลมากเกินไป ระบบ Algorithm ที่นำมาใช้เพื่อการตัดสินใจอาจถูกบิดเบือนจากบุคคลที่ตั้งใจฉ้อราษฎร์บังหลวงได้

เปลี่ยนหน่วยงานภาครัฐและธรรมาภิบาล

การนำ AI มาใช้อย่างรับผิดชอบจะช่วยให้หน่วยงานภาครัฐ มีการพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบในการนำเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปใช้งาน ทั้งยังผลักดันให้ข้าราชการทั้งหลายมีความรู้เท่าทันข้อมูลและรู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และยังทลายกำแพงที่แบ่งแยกระหว่างนักนโยบายและผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ซึ่งต่อจากนี้ ทุกๆ ฝ่ายและทุกๆ ระดับของหน่วยงานจะต้องหันมาร่วมมือและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และการให้ความสำคัญกับความหลากหลายของชาติพันธุ์ และเพศจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดทั้งในด้านการเป็นแนวทางป้องกันการสร้างข้อมูลที่มีอคติและยังช่วยปรับปรุงฐานข้อมูลนำไปสู่สร้างนวัตกรรมมที่เกิดจากความหลากหลาย

การใช้ AI ในหน่วยงานภาครัฐจะสำเร็จหรือล้มเหลวไม่ได้ขึ้นกับการบริหารโครงการได้ดีแต่จะเกิดจากการบริหารจัดการกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีมากกว่า การทำงานที่เป็นอัตโนมัติจะช่วยลดภาระงานที่คนต้องเข้าไปจัดการ การฝึกอบรมและเครื่องมือด้านทรัพยากรมนุษย์ที่มีความยืดหยุ่น จะมีความจำเป็นยิ่งขึ้นเนื่องจากงานของหน่วยงานภาครัฐเปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำงานในหน่วยงานภาครัฐได้มากขึ้น

การนำ AI มาใช้ นอกจากจะมีผลต่อระบบราชการแล้ว ยังส่งผลต่อสถาบันกำกับด้านธรรมาภิบาล เช่น สภานิติบัญญัติ หน่วยงานด้านกฎหมาย ศาล และพรรคการเมือง เป็นต้นว่า ฝั่งที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามจะมีเครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ตรวจสอบโครงการของภาครัฐที่คิดและดำเนินการผ่านระบบ Algorithm เพียงบางส่วนหรือไม่ หรือศาลและผู้พิพากษาจะพร้อมรับฟังคดีที่เกี่ยวข้องกับระบบ Algorithm ที่มีอคติและเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

ในขณะที่ AI เป็นเครื่องมือที่มีประโยขน์อเนกอนันต์ การนำมาใช้ย่อมไม่ควรกลายเป็นการสั่นคลอนต่อองค์กรประชาธิปไตย ทั้งระบบและนักวิเคราะห์ที่แปลผลการประมวลจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันเพื่อให้สามารถทำงานสนองตอบงานของภาครัฐได้อย่างเป็นธรรม เพื่อให้สามารถให้คำแนะนำที่ชัดเจนและวิเคราะห์แล้วแก่รัฐมนตรีได้และนำคำแนะนำไปปฏิบัติได้โดยไม่ล่าช้า เช่นเดียวกับภาคประชาสังคมและพรรคฝ่ายค้านจำเป็นต้องเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยให้สอบทานการทำงานของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องหนึ่งๆ ต้องเป็นนักสื่อสารที่ดีในการย่อยแนวคิดเชิงเทคนิคที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย เพื่อส่งต่อข้อมูลที่ชัดเจนและวิเคราะห์แล้วให้กับฝ่ายนโยบายได้นำไปใช้ต่อไป

ประโยชน์จาก AI มีมากมายขณะเดียวกันก็มีความสุ่มเสี่ยง แต่หากเราทำงานอย่างเปิดกว้าง ออกกฎข้อบังคับที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เทคโนโลยีดังกล่าวจะเปิดโอกาสสร้างบริการของภาครัฐที่เป็นเลิศ การตัดสินใจในวันนี้ของเราจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของธรรมาภิบาลของประเทศต่อไป

ที่มา: http://policyoptions.irpp.org/magazines/february-2018/deploying-ai-responsibly-in-government/ By Michael Karlin




Writer

โดย กรรณิกา คุณากรเวโรจน์

เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์ ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ