2 มกราคม 2018

บทความที่แล้วเราทิ้งคำถามไว้ว่า จะมีเครื่องมือใดที่จะเอาชนะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความได้เปรียบในการได้มาซึ่งข้อมูลที่ในอดีตจะนำมาใช้ในการวางกลยุทธ์ดูเหมือนจะลดความสำคัญลงไปเพราะทุกองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูลตามช่องทางต่างๆ ได้อย่างมหาศาล (Big Data) ดังนั้น ความได้เปรียบทางการแข่งขันจะไปวัดกันที่ความสามารถในการสังเคราะห์และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ (Data Analytic and Synthesis) ทำให้ Data Scientist เป็นอาชีพที่มีเสน่ห์ที่สุดตอนนี้ ซึ่งเราเคยพูดถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ในครั้งนี้เราจะแนะนำเครื่องมือที่ชื่อว่าการวาดภาพเหตุการณ์จำลองอนาคตหรือ Scenario Building ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นักวิเคราะห์อนาคตใช้ในการวางแผนตั้งแต่ระดับองค์กรจนถึงระดับประเทศ มีคำกล่าวหนึ่งของ CEO ของหน่วยงานวางยุทธศาสตร์ชาติแห่งอนาคตของประเทศสิงคโปร์ หรือ The Centre for Strategic Future ได้กล่าวไว้ในงาน IRAHSS 2017 ว่า “Scenario Building เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการศึกษาและวิเคราะห์ภาพอนาคตที่มีอยู่ในขณะนี้” การกล่าวอ้างถึงประเทศสิงคโปร์เนื่องจากเป็นประเทศในอาเซียนที่มีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนี้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและยังเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนจากข้อมูลการจัดอันดับของสำนักงานต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับไม่ว่าจะเป็น IMD, WEF หรือ Ease of Doing Business ของธนาคารโลก หน่วยงาน CSF ข้างต้นเป็นหน่วยงานภายใต้ Strategic Policy Office (SPO) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Public Service Division (PSD) โดยอยู่ในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในเรื่องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่มีความคล่องตัวให้แก่ภาครัฐเพื่อให้พร้อมในการจัดการกับสภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อกำหนดทิศทางให้กับรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อค้นหาความท้าทายเชิงกลยุทธ์ใหม่ๆ และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น หน่วยงานนี้จะวางตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการเพื่อให้ประเทศสิงคโปร์มีความโดดเด่นในเวทีโลก

Center for Strategic Future (CSF) ประเทศสิงคโปร์ ได้พัฒนาเครื่องมือในการวิเคราะห์อนาคต (foresight tools) เป็นของตนเอง ซึ่งเหนือไปกว่าการทำ Scenario Planning ที่ใช้จัดการกับเหตุการณ์ฉุกเฉินและแนวโน้มที่เกิดขึ้นแบบไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเรียกว่า “Scenario Planning Plus” (SP+) โดยเครื่องมือนี้ยังคงมีการทำ Scenario Planning เป็นหลัก แต่เพิ่มเติมในส่วนของการวิเคราะห์หาสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะอ่อนแอ และมีการคิดเกี่ยวกับ black swans และ wild cards หรือแรงขับเคลื่อนที่มีโอกาสเกิดได้น้อยแต่หากเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบที่รุนแรงมาก

โดย SP+ จะประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลักดังนี้

  1. Defining Focus – เพื่อหาลักษณะของปัญหา เครื่องมือที่ใช้ เช่น Dave Snowden’s Cynefin Framework Problem Definition ซึ่งกรอบแนวคิดนี้จะแบ่งปัญหาของเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ง่าย, ซับซ้อนเล็กน้อย, ซับซ้อนปานกลาง, ซับซ้อนมาก และมีความผิดปกติ เพื่อใช้ในการจัดหมวดหมู่ของปัญหาและหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม
  2. Environmental Scanning – เป็นระบบตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายนอก เพื่อให้เข้าใจถึงสภาวะที่เป็นปกติ และสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำมากำหนดความท้าทายและโอกาสที่จะเกิดขึ้น เครื่องมือนี้จะรวมถึงการวิเคราะห์หาประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้น และการรวบรวมความคิดเห็นของผู้นำที่หลากหลายในแต่ละสาขา เพื่อนำมากำหนดเป็นหัวข้อหรือประเด็นสำคัญต่อไป
  3. Sense Making – ใช้ข้อมูลดิบแต่ละชิ้นมาประกอบกันเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและทำให้เห็นภาพของปัญหา เช่น เราใช้ Driving Forces Analysis และการจัดลำดับความสำคัญ ซึ่งเป็นเครื่องมือตรวจสอบว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญจะกระตุ้นให้แนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลง จากนั้นการให้ความสำคัญจะขึ้นอยู่กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ยังมีอีกเครื่องมือหนึ่งคือ การวิเคราะห์ SWOT ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อระบุว่าเราต้องให้ความสนใจกับเรื่องอะไรมากที่สุด
  4. Developing Possible Futures – สร้างเรื่องเล่าและรูปแบบที่ทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เครื่องมือที่ใช้คือ Scenario Planning ซึ่งเป็นการเล่าถึงภาพเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ว่าจะเกิดในอนาคต ซึ่งจะทำให้เราเห็นโอกาสและความท้าทาย อีกทั้งยังทำให้สามารถกำหนดแนวทางในการจัดทำแผนกลยุทธ์ระยะยาวได้ ช่วยให้เรากำหนดทิศทางที่จะก้าวต่อไปในอนาคตได้
  5. Designing Strategies – การจัดทำกลยุทธ์ โดยการใช้ข้อมูลเชิงลึกในอนาคต มีลักษณะเช่นเดียวกับการเล่น War-Gaming ที่มีการกำหนดกลยุทธ์และความขัดแย้งภายใต้สถานการณ์สมมุติ แล้วต้องสร้างภาพจำลองในการเล่นเกมส์
  6. Monitoring – การติดตามตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับอนาคตหรือคาดว่าจะนำมาใช้ในจัดทำกลยุทธ์ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้คือ Early Warning Systems โดยจะใช้วิเคราะห์ความเสี่ยง ติดตาม และเตือนภัยคุกคามสำคัญที่อาจเกิดขึ้น และเตรียมความพร้อมที่จะตอบสนองภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

ในปัจจุบันมีหน่วยงาน Foresight ในต่างประเทศที่มีส่วนช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติสำหรับอนาคตอยู่ในหลายประเทศ โดยประเทศที่มีการนำผลการวิเคราะห์อนาคตไปใช้ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ประสบความสำเร็จและเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการวิเคราะห์อนาคตมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Finnish Foresight System: FFS ของประเทศฟินแลนด์, Policy Horizons Canada ของประเทศแคนาดา, UK Foresight Office ของประเทศอังกฤษ, The National Intelligence Council ของประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศไทยมีการกล่าวถึงความจำเป็นของการมี Future Lab และ Policy Lab เพื่อใช้ในการวางแผนและมองผลกระทบของการดำเนินนโยบายก่อนนำไปปฏิบัติจริงและหน่วยงานที่จะต้องมีดำเนินภารกิจนั้นก็คือหน่วยงาน Foresight นั่นเอง

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย นันทพร อังอติชาติ

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ