22 พฤษภาคม 2017

ท่ามกลางการแข่งขัน แม้ว่าการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่สิ่งนั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าคุณไม่ใช่คนที่ใช่ และไม่มีคนที่ใช่ที่จะก้าวไปในโอกาสนั้น

ในยุคที่เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง จนสามารถมาแทนที่คนในหลายงาน แต่คนก็ยังคงมีความสำคัญมิได้ลดน้อยลง เพียงแต่ว่าไม่ใช่ทุกคน เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาท้าทายความสามารถ คนจึงต้องมีความสามารถที่เหนือกว่า ในเว็บไซต์ของ World Economic Forum ได้ระบุถึงคนที่องค์กรต่างๆ ในโลกกำลังแสวงหาไว้ดังนี้

หนึ่ง ผู้นำที่ไม่เพียงแต่มีความสามารถในการบริหาร แต่ต้องมีภาวะของการเป็นผู้นำ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนพร้อมที่จะก้าวไปด้วยกัน มีความสามารถในการพัฒนาทีมงานให้มีความสามารถ มีความสามารถที่จะประสานพลังขององค์กรทั้งในแนวราบและข้ามสายงานเข้าด้วยกัน  ซึ่งนิยามของผู้นำคุณภาพระบุไว้ว่า ต้องมีพลังในโน้มน้าว และมีความชัดเจนเมื่อต้องตัดสินใจ ซึ่งจะต้องทำให้ทีมงานยอมรับด้วยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่สร้างสมมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมแสดงความรับผิดชอบ ยอมรับเมื่อเกิดผิดพลาด

สอง ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการ Social Media สามารถวิเคราะห์ทิศทาง นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะสามารถสร้างพื้นที่ได้ด้วยตนเอง และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่อื่นๆ ทักษะในการเขียน การนำเสนอที่สร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญงานนี้

สาม ผู้ที่มีความสามารถในการโน้มน้าว เพื่อที่จะทำงานกับลูกค้า ผู้ร่วมทุน ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ การเรียนรู้ลูกค้า การเจรจาต่อรอง มีบุคลิกภาพที่น่าเชื่อถือ มีความมั่นใจ

สี่ ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ทักษะและประสบการณ์ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้นำองค์กร และผู้ที่จะเข้ามาเป็นทีมงานของการบริหารการเปลี่ยนแปลงร่วมกับผู้นำ เพราะโลกที่เคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างรรวดเร็วในอนาคต มีแต่สิ่งที่ยากจะคาดเดา คนในองค์กรจึงต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีความท้าทายใหม่ๆ ที่ต้องการวิธีการที่แตกต่าง เมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป รูปแบบการบริหารจัดการองค์กรจะต้องปรับตัวอย่างไร ให้เข้ากับบริบทใหม่ของโลก การเปลี่ยนแปลงขององค์กรจึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ แต่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ค่านิยม พฤติกรรมในการทำงานด้วย ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงจึงมีบทบาทสำคัญมากสำหรับองค์กรยุคใหม่

ห้า นักกลยุทธ์การสื่อสาร ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าที่สร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ ผ่านโลกออนไลน์ไปยังกลุ่มลูกค้า Social Media ที่มีบทบาทสูงในการสื่อสารนำไปสู่แนวโน้มของการเล่าเรื่องในรูปแบบ Story Telling มากขึ้นเรื่อยๆ การผูกเรื่องราวที่มีคุณค่าทางใจ จะส่งผลต่อมูลค่าของแบรนด์โดยตรง จึงเห็นได้ว่าในขณะที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทักษะด้านภาษา สังคม ศิลปะ ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือศาสตร์ ศิลป์และความรู้ด้านเทคโนโลยีไม่ได้แยกส่วนอีกต่อไป แต่ต้องนำมาเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้น

ประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก อย่างฟินแลนด์ มองเห็นถึงแนวโน้มนี้ จึงมีการปรับระบบการศึกษาครั้งใหญ่ โดยไม่เรียนแบบแยกรายวิชาอีกต่อไป แต่จะเรียนแบบบูรณาการ โดยเชื่อมโยงศาสตร์หลายสาขาเข้าด้วยกัน ตามความต้องการของผู้เรียน การเรียน การสอนก็จะมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติ การเรียนรู้ที่เป็นการทำงานร่วมกัน ถกเถียงเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อฝึกการคิด วิเคราะห์และนำเอาความรู้ที่หลากหลายสาขามาประยุกต์และนำไปใช้ได้จริง โดยระบบการศึกษานี้จะนำมาใช้อย่างสมบูรณ์แบบในปี คศ. 2020

รัฐบาลไทยประกาศนโยบายการเข้าสู่ Thailand 4.0 เต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 2032 คำถามก็คือเรามีคนที่ใช่อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ในแต่ละภาคส่วน จะมีวิธีสร้างอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยอยู่ในแถวหน้าอย่างที่คาดหวัง เราจะพิจารณาวางตำแหน่งของตนเองไว้ตรงไหน

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมัน Prof. Dr. Wolfgang  Mauerer ได้มาบรรยายและแบ่งปันประสบการณ์การเตรียมตัวเข้าสู่ Industry 4.0 ของเยอรมันที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในหัวข้อ “Implementing Smart Factory of Industry 4.0: Strategic Initiatives and Inspired Case Studies“ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือกระบวนการวิเคราะห์และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในแต่ละอุตสาหกรรม หรือในบางส่วนของอุตสาหกรรมบางกลุ่มซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนไปแบบพลิกฝ่ามือ

ทักษะในการเรียนรู้ คิด วิเคราะห์ เลือกใช้ ประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบท คือคุณสมบัติของคนที่ใช่ ซึ่งต้องยอมรับว่าระบบการศึกษาบ้านเรายังไม่ถึงจุดนี้ แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่ปรับตัวให้อยู่ในกลุ่มผู้ที่ได้สิทธิ์ในการไปต่อ

ที่มา: คอลัมน์ Think Foresight  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น