28 มีนาคม 2017

“ทำไมระบบการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ให้เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำทีมงานดำเนินการปรับปรุงกระบวนการ จึงไม่สามามารถผลักดันให้เกิดผลงานได้ตามที่องค์กรคาดหวัง ทั้งๆ ที่รูปแบบมีความชัดเจนและได้รับการความร่วมมือจากหน่วยงานอย่างดีในการสนับสนุนพนักงานให้ได้รับการพัฒนา” คำถามที่ทีมงานของศูนย์การเรียนรู้ในองค์กรหนึ่งใช้เวลานั่งขบคิด เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทบทวนโครงการหลังการดำเนินงาน หรือที่เรียกว่า After Action Review (AAR) ซึ่งเป็นการค้นหาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการทั้งส่วนเป็นบทเรียนดีๆให้นำไปปฏิบัติเป็นแบบอย่าง และความผิดพลาดที่ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง ด้วยการซักถามผ่านผู้ดำเนินการกิจกรรม (Knowledge Facilitator) หรือที่เรียกว่า คุณอำนวย ในแนวทางของการจัดการองค์ความรู้ โดยคุณอำนวยต้องกระตุ้นให้เจ้าของโครงการ หรือคุณกิจ (Knowledge Practitioner) บอกเล่าเรื่องราวผ่านประเด็นหลัก ที่ถูกเรียงร้อยอย่างเป็นระบบ ทำให้คุณกิจรู้สึกสนุกกับการนำเสนอที่เป็นกันเอง และสามารถถ่ายทอดลงลึกในรายละเอียดที่คาดไม่ถึง เช่น การบอกเคล็ดลับในการดูแลทีมงาน หรือวิธีการติดตามงานแบบเข้าถึงและเข้าใจ เป็นต้น แต่ต้องไม่ถามเชิงชี้แนะ หรือแนะนำ หรือบ่งชี้ถึงการละเลยและปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ หรือใช้วิธีนั้น ทำไมไม่พิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ เพราะผู้ตอบจะรู้สึกเป็นคนผิด จนไม่กล้าบอกเล่าข้อเท็จจริง แต่ควรถามด้วยความใส่ใจ เช่น ยังมีวิธีใดอีกบ้างที่คิดว่ามีประโยชน์ หรือ ต้องนึกถึงเรื่องสำคัญๆ อะไรบ้างเมื่อต้องตัดสินใจ นอกจากนี้กระบวนการสำคัญของการทบทวนโครงการคือจะต้องนำองค์ความรู้ที่ได้มาประมวลเพื่อนำไปใช้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินโครงการต่อๆไป ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนำไปสู่นวัตกรรมการดำเนินงานที่แตกต่าง มีลักษณะเฉพาะองค์กร อย่างที่เรามักได้ยินหลายๆ บริษัทมีแนวทางของตนเอง จนกลายเป็นความภาคภูมิใจ

การทบทวนโครงการ ยังถูกนำเป็นตัวสะท้อน ผลการขับเคลื่อนกิจกรรมในภาพใหญ่ เช่น การทบทวนโครงการของกลุ่มพนักงานที่ผ่านระบบการพัฒนาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำให้เข้าใจ จุดเด่น จุดด้อยของแต่ละขั้นตอนในการพัฒนาบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงอย่างแท้จริง หรือการทบทวนกิจกรรมตามแผนกลยุทธ์ที่ถูกถ่ายทอดจากระดับองค์กรสู่ระดับหน่วยงาน ก็ทำให้มองเห็นประสิทธิภาพของแนวทางสื่อสารที่ทำให้ทีมงานเข้าใจความต้องการและความคาดหวังขององค์กรอย่างชัดเจน รวมถึงมองเห็นโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ในการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ

ตัวอย่างองค์กรข้างต้นที่เกิดคำถาม สะท้อนจากการทบทวนโครงการในโปรแกรมการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ จนต้องมีการระดมสมองค้นหาช่องว่าง และแนวคิดใหม่ เพื่อให้สามารถยกระดับศักยภาพของบุคคลากรไปถึงจุดที่องค์กรคาดหวัง ซึ่งกรณีนี้ทำให้ได้รูปแบบการ สร้างผู้เชี่ยวชาญเชิงบูรณาการ ที่เรียกกันเก๋ๆ ในองค์กรนี้ว่า Co-Co ซึ่งมาจากการสร้างเป็นชุมนุมให้สามารถบริหารจัดการร่วมกันระหว่างทีมผู้เชี่ยวชาญ (Co-coach) ในการรับผิดชอบโครงการในลักษณะพึ่งพา อาศัย ทั้งความรู้ ความคิด และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ด้วยรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทำให้โปรแกรมหลักในการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญต้องปรับให้สอดคล้องโดยเน้นการพัฒนาวิธีคิดควบคู่ไปกับองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ

รูปแบบการนำผลสะท้อนทบทวนโครงการมาค้นหาองค์ความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรม บุคคลากร และสภาพแวดล้อมจริงขององค์กร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ให้ความสำคัญกับศึกษาเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ดั่งแนวพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้หลายโอกาส  อาทิ พระราชดำรัสความตอนหนึ่ง

“การมีความรู้ถนัดทฤษฎีประการเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้บุคคลสามารถปฏิบัติงานได้เต็มที่ ผู้ที่ฉลาดสามารถในหลักวิชาโดยปกติวิสัยจะได้แต่เพียงชี้นิ้วให้ผู้อื่นทำซึ่งเป็นการไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่อาจทำให้ผู้ใดเชื่อถือหรือเชื่อฟังอย่างสนิทใจได้ เหตุด้วยไม่แน่ใจว่าผู้ชี้นิ้วเองจะรู้จริง ทำได้จริงหรือ ความสำเร็จทั้งสิ้นทำได้เพราะลงมือกระทำ” (18 ตุลาคม 2517)

หรือ

“วิชาการทั้งปวงนั้นถึงจะมีประเภทมากมายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใดก็ต้องใช้ด้วยกัน หรือต้องนำมาประยุกต์เข้าด้วยกันเสมอ อย่างกับอาหารที่เรารับประทาน กว่าจะสำเร็จขึ้นมาให้รับประทานได้ ต้องอาศัยวิชาประสมประสานกันหลายอย่างและต้องผ่านการปฏิบัติมากมายหลายอย่างหลายตอน ดังนั้นวิชาต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ถึงกันและมีอุปการะแก่กันทั้งฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายศิลปศาสตร์ ไม่มีวิชาใดที่นำมาใช้ได้โดยลำพัง หรือเฉพาะอย่างได้เลย” (3 สิงหาคม 2521)

หรือแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา

“…ผู้ที่มุ่งหวังความดีและความเจริญมั่นคงในชีวิตจะต้องไม่ละเลยการศึกษา ความรู้ที่จะศึกษามี 3 ส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริง อีกประการหนึ่งจะต้องมีความจริงใจและบริสุทธ์ใจไม่ว่าในงานในผู้ร่วมงานหรือในการรักษา ระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้องทุกอย่าง ประการที่สามต้องฝึกฝนให้มีความหนักแน่นทั้งภายในใจ ในคำพูด …” (24 มกราคม 2530)

จะเห็นได้ว่า เราได้รับพระราชทานแนวทางการปฏิบัติล้ำค่าจากพระองค์ท่านที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดคุณค่ามากมายต่อองค์กรและตัวเรา โดยเฉพาะการค้นหาความรู้ปฏิบัติที่เกิดจากการลงมือจริงด้วยการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันจนเกิดการบูรณาการ ย่อมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างมากให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน แต่ที่สำคัญ

ความรู้ปฏิบัติ คือ ต้องปฏิบัติจริง มิใช่ปฏิบัติตาม

 

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ