18 กุมภาพันธ์ 2017

Banner_Cover-01

กระแสการทำกิจกรรมตามแนวทาง Corporate Social Responsibility หรือ CSR กำลังได้รับความนิยมในองค์กรชั้นนำของไทยเป็นอย่างมาก และได้ถูกบรรจุรวมไว้ในแผนการดำเนินธุรกิจขององค์กรต่าง ๆ ไว้อย่างแพร่หลาย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทรนด์ดังกล่าวทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น รวมทั้งใกล้ตัวทุกคนในสังคมมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดงานสัมมนา Productivity Think Tank ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะต่อยอดความรู้สู่การพัฒนาองค์กร ผ่านมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญและจากประสบการณ์จริง ในหัวข้อ Productivity CSR ร่วมเปลี่ยนมุมคิด พลิกมุมทำ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ยั่งยืน ร่วมรับฟังเรื่องราวจากคุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร A Day นักคิด นักเขียน นักสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนสังคม ผู้ซึ่งเริ่มแรกทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากนั้นจึงหันมาร่วมงานกับ World Wide Fund for Nature (WWF) ประเทศไทย เต็มไปด้วยประสบการณ์จากการทำงานทั้งในประเทศและระดับโลก รวมทั้งคุณอังสนา ธนังกูล ส่วนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม ในฐานะ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างคนในองค์กรให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะ ปตท.เชื่อว่า “องค์กรมุ่งมั่น สร้างสรรค์ นวัตกรรม ด้วยความดี และรับผิดชอบต่อสังคม” ผ่านกิจกรรมที่พนักงานภายในองค์กรร่วมมือกันการสร้างสรรค์ขึ้น

เข้าใจ สื่อสาร และเรียนรู้เพื่อสร้างสังคมที่รับผิดชอบต่อสังคม

คุณทรงกลดมองเห็นว่า “การสร้างความเข้าใจ” ให้ทุกคนในสังคมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ถูกละเลย “จุดเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ ในสังคมไทย คาดว่ามาจากการขาดความเข้าใจ และขาดการรับรู้ในสิ่งรอบตัว ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน เน้นการสอนเฉพาะวิชาที่ใช้สอบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น ถัดมาในระดับมหาวิทยาลัยก็จะสร้างบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ได้สร้างมนุษย์ที่จะเข้าใจชีวิตเข้าใจโลก จึงทำให้กลายเป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติและสิ่งรอบๆ ตัวน้อยมาก”

ดังนั้น บทบาทที่จะสร้างให้คนเข้าใจ ก็ต้องหา Insight ของ Individual ให้เจอ ซึ่งเป็นศาสตร์ของการเข้าใจมนุษย์และเข้าใจในพฤติกรรม ทำให้เข้าใจในตัวคนมากขึ้น ตอบสนองได้ตามสิ่งที่คนต้องการ

เมื่อเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในสังคมแล้ว การสร้างความเข้าใจจะทำได้อย่างไร “การสื่อสาร” จึงเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการโยงปัญหาสังคมเข้ากับ Insight ของคนให้เจอ สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างปัญหากับผู้คน ตลอดจนวิธีการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อพัฒนาสังคม คุณทรงกลดได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากประสบการณ์ตรงในฐานะสื่อมวลชน ตั้งแต่การเริ่มต้นเข้าใจปัญหา การสื่อสารไปยังผู้คนถึงปัญหาผ่านช่องทางต่างๆ จนถึงการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิ่งที่ A Day ลงมือทำแล้วประสบผลสำเร็จ คือการริเริ่มโปรเจคเรื่องประชากรกลุ่มเฉพาะของ สสส. ได้แก่ กลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ไร้สัญชาติ หรือกลุ่มคนไร้บ้าน โดยต้องมองหาว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร และสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคืออะไร และต้องทำให้คนในสังคมเข้าใจคนกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ โดยเริ่มแรกคือการสื่อสารออกไปผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การสร้างPage Youtube และคลิปวิดีโอ หากพิจารณาจากยอด View และยอดกด Like ที่เพิ่มมากขึ้น ก็แสดงให้เห็นว่ามีคนรับรู้เยอะขึ้น จากนั้นจึงมองหาวิธีการอื่น ๆ ที่จะทำให้คนในสังคมเข้าใจกลุ่มคนไร้บ้านด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมองให้เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นเพื่อน ด้วยการจัดทริปทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมการสอดแทรกเล่าประสบการณ์ของแต่ละกลุ่ม ตลอดจนพูดคุยกันถึงปัญหาที่พบเจอ จึงทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อน จนก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมที่อยากให้ความช่วยเหลือและนำเรื่องราวไปเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการแก้ไข กระบวนการเหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดมิตรภาพความเป็นเพื่อนและความอยากช่วยเพื่อนก็จะตามมา

สำหรับประเด็น CSR ในระดับองค์กร คุณทรงกลดเน้นย้ำถึงการแยกแยะระหว่างการลงมือแก้ปัญหากับการแสดงออกด้วยการกระทำเพื่อการโฆษณาให้ได้ผลอย่างรวดเร็วเพียงอย่างเดียว โดยยกตัวอย่างองค์กรในระดับโลก ซึ่งสิ่งที่องค์กรต้องทำเริ่มจากการมองหาว่าธุรกิจขององค์กรสร้างปัญหาอะไรให้กับโลก และจากนั้นก็คิดว่าจะแก้ไขอะไรก่อนหลังที่มีผลกระทบ จะมองถึงการแก้ปัญหาที่แท้จริง และสิ่งที่สำคัญคือเมื่อธุรกิจมีผลประโยชน์มีผลกำไรมากแล้ว ธุรกิจก็ควรจะ Distribute บางอย่างคืนกลับสู่สังคมด้วยเช่นกัน

คุณทรงกลดยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงแนวทางการคิดสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้แก่สังคมว่า

เริ่มเรียนรู้ไปพร้อมกันกับการทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงในปัญหานั้นๆ และที่สำคัญผู้บริหารต้องให้ความสำคัญและมีส่วนร่วม เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ให้มอง CSR ว่าเป็นการทำสิ่งใหม่ๆ ทำสิ่งที่มีประโยชน์ ต้องหา Insightให้เจอ ไม่ต้องทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่แต่ทำแล้วให้มีความสุข

ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืน

หลังจากที่ได้พิจารณามุมมองในการปรับเปลี่ยนความคิดเพื่อสร้างสรรค์สังคมไปเรียบร้อยแล้ว ได้เวลาพูดคุยถึงอีกหนึ่งความสำเร็จในการดำเนินแนวคิด Corporate social responsibility  ในระดับองค์กรจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยคุณอังสนา ธนังกูล ส่วนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม

บริษัท ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่ต้องจัดหาแหล่งพลังงานสำรองให้ประเทศ จำหน่ายทั้งในประเทศและอาเซียน จึงต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและทำประโยชน์คืนกลับให้สังคม ดังที่คุณอังสนาได้บอกเล่าถึงความเข้มข้นในการลงมือทำ CSR ไว้ว่า “องค์กรแบ่งระดับการทำ CSR ออกเป็นหลายระดับ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ระดับ CSR In Process คือการศึกษาหาผลกระทบของการทำธุรกิจ เช่น การผลิตตามแนวท่อและการขนส่ง ต่อมาคือ After Process หลังจากทำธุรกิจแล้ว ดำเนินการตามแนวทางมวลชนสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมหลักขององค์กร ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

“อีกทั้ง ปตท. ยังดำเนินงานกรอบกลยุทธ์การดำเนินงาน 3 ด้าน ในการเป็นองค์กรที่ดีของสังคม (Corporate Citizenship) ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมให้เยาวชนให้เป็นคนดีและคนเก่งของสังคม สร้างโอกาสทางการศึกษา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การสร้างอาคารเรียน ห้องสมุด 2) ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชน กิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นดูแลเรื่องวิถีชีวิตของชุมชน ด้วยการเรียนรู้ไปพร้อมกับชุมชนและรับฟังในสิ่งที่พวกเขาต้องการ 3) ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยโครงการปลูกป่า โครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น และทำการวัดผลด้วยการวัดความพึงพอใจ”

การดำเนินแนวทาง CSR จนประสบความสำเร็จได้อย่างชัดเจนนั้น เกิดจากความร่วมมือของพนักงานทุกคนในองค์กร ที่พร้อมกันเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ดังที่คุณอังสนาได้ยกตัวอย่างวิธีการขององค์กรไว้ว่า “องค์กรดำเนินกิจกรรมรวมพลคนมี RIT โดย R หมายถึง Responsibility for societyความรับผิดชอบต่อสังคม จะมีกิจกรรมในทุกบ่ายของวันศุกร์ โดยมองว่ากิจกรรมจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พนักงานได้ใช้เวลาร่วมกัน เช่นการทำตุ๊กตาคุณช้างจับมือเพื่อคนเป็นอัมพาต โครงการ Read for the Blind การร่วมอ่านหนังสือเสียงเพื่อจัดทำห้องสมุดหนังสือเสียงให้แก่ผู้พิการทางสายตา โครงการ Type for the Blind การพิมพ์หนังสืออักษรเบลล์เพื่อมอบให้แก่ผู้พิการทางสายตาที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนคนตาบอด โครงการสอนทำเบเกอรี่แม่บ้านเพื่อการต่อยอด ส่วน I คือ Integrity ื และ T คือ Trust รวมทั้งยังมีการจัดกิจกรรมจิตอาสา โดยการรวมกลุ่มกันออกไปทำประโยชน์เพื่อสังคม ทั้งนี้ผู้บริหารระดับตั้งแต่ Vice President ต้องเป็น Role Model ให้กับพนักงานในการมีส่วนร่วม และการเปิดพื้นที่ให้พนักงานทำในสิ่งที่รัก รับฟังทุกความคิดเห็น ก็จะสามารถดึงพลังความดีของพนักงานออกมาสู่สังคมภายนอกได้”

 




Writer