23 สิงหาคม 2016

 

ปลูกจิต

รุ่นพี่ที่ทำงานเล่าถึง วิธีคิดจัดการปัญหา ของพนักงานขับรถแท็กซี่เจ้าประจำ เมื่อไม่สามารถมาให้บริการได้ในเช้ามืดวันหนึ่ง ด้วยการพยายามช่วยจัดหา แท็กซี่คันอื่นมาให้บริการแทน โดยไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องวุ่นวายกับการมองหาแท็กซี่เอง ซึ่งทำให้รุ่นพี่รู้สึกประทับใจในความใส่ใจลูกค้า และมั่นใจว่าจะยังคงเรียกใช้บริการแท็กซี่ท่านนี้ไปเรื่อยๆ อีกทั้งยังแนะนำคนใกล้ชิดให้เรียกใช้บริการอีกด้วย

หรือเรื่องความประทับใจของรุ่นพี่สูงวัย ขาประจำสภากาแฟโบราณใกล้ๆ ที่ทำงาน เล่าถึงพนักงานในร้านคนหนึ่งที่สามารถจดจำเมนูของกลุ่มลูกค้าหน้าเดิมๆได้อย่างแม่นยำ เพียงแค่เห็นลูกค้าในกลุ่มนี้เดินเข้ามาในร้านก็ชงกาแฟเสริฟได้ทันที ยิ่งกว่านั้นยังส่งต่อความใส่ใจนี้ให้กับพนักงานคนอื่นๆทำให้เมื่อไม่อยู่ร้านพนักงานคนอื่นๆก็สามารถดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้ดีเช่นเดียวกัน จนทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจว่าถ้ามาถึงร้าน ยังไงก็ต้องได้ทานกาแฟรสชาติที่ชอบ จึงไม่เคยคิดไปทานที่อื่น ทั้งยังคอยเป็นกระบอกเสียงชักชวนคนสนิทให้มาลองใช้บริการ

จากเรื่องเล่าข้างต้น แสดงให้เห็นวิธีคิดจัดการปัญหาในอนาคตที่มองเป้าหมายคือ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบาย และเกิดความสุขจากการมารับบริการ โดยไม่ได้มองแค่ภายในกรอบความรับผิดชอบและผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ แต่พยายามคิดในมุมมองของลูกค้าจนอาจเลยไปถึง คิดแทนลูกค้า ตัวอย่างเช่น แม่บ้านของบริษัท คอยเตือนผู้บริหารเสมอให้ระวังการดื่มกาแฟปริมาณมากๆ ในแต่ละวัน จนในบางวันก็ไม่ชงเพิ่มให้ซ่ะอย่างนั้น หรือข่าวที่แชร์กันในโลกโซเชียลเกี่ยวกับพนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ช่วยหั่นชิ้นเนื้อให้ลูกค้าสูงอายุสามารถรับประทานอาหารได้ง่าย โดยทำไปเพราะความห่วงใย และอยากเห็นผู้อื่นมีความสุข ซึ่งเป็นคุณลักษณะส่วนหนึ่งของ “ผู้มีจิตสาธารณะ” ที่ไม่คิดเห็นแก่ตัว มีความปราถนาที่จะช่วยแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่น สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความเต็มใจ รวมถึงรู้จักใช้สิทธิควบคู่ไปกับทำหน้าที่รับผิดชอบต่อทรัพย์สินของส่วนรวม

จิตสาธารณะ จึงเป็นคุณลักษณะทางจิตใจที่องค์กรควรปลูกฝังในตัวพนักงาน ให้รู้จักคิดคำนึงถึงผู้อื่น หรือส่วนรวม โดยกระตุ้นให้เห็นคุณค่าที่จะได้รับเมื่อเห็นผู้คนมีความสุข และสิ่งของรอบตัวอยู่ในสภาพที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างดี ซึ่งจะช่วยลดอัตตาของพนักงานให้น้อยลง เช่น คิดถึงประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภาพรวมทุกครั้งที่ปฏิบัติ 5 ส จากที่เคยคิดว่าเป็นพื้นที่ของตัวเองจะจัดวางอย่างไรก็ได้ ให้ถูกต้องตามหลักสะสาง หรือสะดวก ก็เพียงพอ โดยไม่สนใจว่าจะกีดขวางการทำงานของผู้อื่น หรือทำให้ภาพรวมดูไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน แม้แต่การปรับปรุงกระบวนการทำงานก็ต้องคิดถึงประโยชน์ที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับ ไม่ใช่คิดถึงแต่ผลงานของตัวเอง

ดังนั้นการทำให้พนักงานมีจิตสาธารณะ ควรเริ่มต้นจากสร้างระบบการดำเนินงานทุกกิจกรรมต้องระบุ “ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อม องค์กร และสังคมอย่างชัดเจน” รวมถึงการปฏิบัติงาน และประพฤติตัวของพนักงานต้องคิดเสมอว่า “จะสร้างความเดือดร้อนให้ใครบ้าง” เช่น พนักงานนำอาหารมารับประทานบริเวณโต๊ะทำงานของตนเอง โดยไม่สนใจว่ากลิ่นของอาหารจะรบกวนเพื่อร่วมงานคนอื่นๆ หรือกรณีพนักงานคนหนึ่งใช้โทรศัพท์มือถือยืนรอรับกาแฟจากร้านชื่อดังริมฟุตบาท โดยไม่สนใจว่าตัวเองยืนกีดขวางการสัญจรไปมาของคนรอบข้างอย่างมาก เป็นต้น

จากนั้นสนับสนุนกลุ่มพนักงานอาสาดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทั้งภายในและภายนอกขององค์กร และสื่อสารเรื่องราวดีๆนี้ให้รับรู้ทั่วทั้งองค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างแรงบันดาลใจกระทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับสาธารณะ โดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ แม้ต้องเสียสละทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจ นอกจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับโอกาสดีๆ หรือบรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้น เช่น การนำอุปกรณ์การเรียน เครื่องเล่นกีฬา เสื้อผ้าไปมอบให้กับนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุน หรือการระดมตุ๊กตาน่ารักๆไปมอบให้กับน้องๆในโรงพยาบาลเด็ก รวมไปถึงการร่วมดูแลความสะอาดของชุมชนรอบข้าง หรือแหล่งช้อบปิ้งบริเวณอาคารสำนักงาน เป็นต้น

สุดท้ายต้องให้กลุ่มพนักงานอาสาแบ่งปันความรู้สึกของการให้และการไม่ยึดติดกับความคิดของตนเองจนสามารถเข้าใจว่าผู้อื่น ซึ่งจะทำให้พนักงานในองค์กรได้เรียนรู้ถึงกระบวนการคิดลด ละ และเลิกความเห็นแก่ตัว เช่น แม้เราเหนื่อยจากการทำงานมากจนคิดอยากกลับถึงบ้านเร็วๆ แต่ก็ไม่คิดแย่งขึ้นรถไฟฟ้า ด้วยเราก็เข้าใจว่าคนอื่นๆก็คงอยากรีบกลับไปพักผ่อนเช่นกัน ดังนั้นเราจึงเข้าแถวรอคอยอย่างสบายใจเมื่อเห็นทุกคนต่างได้รับสิ่งที่ตนเองคาดหวังไปด้วยกัน

จากแนวทางส่งเสริมให้พนักงานในองค์กรมี “จิตสาธารณะ” ด้วยการไม่คิดทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ และคอยหยิบยื่นความสุขให้ผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต้องตระหนักและสนับสนุนให้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กร เพราะความยั่งยืนขององค์กรในอนาคตต้องอาศัย “จิตสาธารณะ” ช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่ากับผู้มีส่วนสนับสนุนการเติบโตขององค์กร ทั้งลูกค้า พันธมิตร สังคม และโลกกลมๆ ใบนี้ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ