19 พฤษภาคม 2016

เกาหลี

เศรษฐกิจของแต่ละประเทศมีสถานะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้นๆ ประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจไม่ดีจะกลายเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ส่วนประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็จะกลายเป็นประเทศมหาอำนาจและทำให้มีพันธมิตรมากขึ้น หากมองถึงเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียคงหนีไม่พ้นเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มีธุรกิจที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง นั่นอาจหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนั่นเอง แต่ในอนาคตจะยังคงเป็นเช่นนั้นหรือไม่…

บทความในเว็บไซต์ World Economic Forum กล่าวถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาของเกาหลีใต้ที่เติบโตได้อย่างน่าผิดหวัง หลังจาก 40 ปีที่ผ่านมาที่ GDP เติบโตได้อย่างมากถึงปีละ 7.9% แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยลดลงถึง 4.1% ในปี 2000-2010 และกลับมายืนอยู่ที่ 3% ตั้งแต่ปี 2011 จึงมีหลายคนสงสัยว่าเกาหลีใต้จะก้าวไปสู่ภาวะเงินฝืดยืดเยื้อ ดังเช่นญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ทศวรรษที่หายไป” หรือไม่ ซึ่งเกาหลีใต้ในวันนี้และญี่ปุ่นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีความคล้ายคลึงกัน และในความเป็นจริงเศรษฐกิจเกาหลีใต้มักจะคล้ายประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในกรณีนี้ผู้นำเกาหลีใต้สามารถนำบทเรียนของญี่ปุ่นไปใช้ได้

ย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญเติบโตมาก บริษัทญี่ปุ่นเป็นผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ และบริษัทใหญ่ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ค่าเงินเยนยังอ่อนค่า ทำให้สินค้าญี่ปุ่นสามารถส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกได้โดยง่าย เพราะราคาถูก และมีคุณภาพ ส่งผลให้ญี่ปุ่นได้เปรียบดุลการค้าอย่างมาก ในที่สุดญี่ปุ่นก็โดนกดดันให้ปรับค่าเงินเย็นให้แข็งขึ้น ในประชุมของกลุ่ม G5 ที่โรงแรมพลาซ่า กรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 22 กันยายน 1985 ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการแทรกแซงตลาดการเงินเป็นครั้งแรกของโลก และถูกขนานนามว่า The Plaza Accord หลังจาก Plaza Accord ค่าเงินเยนแข็งค่าซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีปัญหาอันเกิดจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับการกระตุ้นจากรัฐบาลโดยการเพิ่มปริมาณเงิน เพื่อกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ จึงทำให้ในช่วงปี 1990 เกิดฟอ​​งสบู่แตก ทำให้ภาคเอกชนที่มีหนี้สินจำนวนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นญี่ปุ่นประสบปัญหาผลิตภาพเติบโตลดลง ความต้องการภายในประเทศลดต่ำลง และประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์ของประเทศญี่ปุ่นเลวร้ายลง

ในช่วงแรกภาครัฐของญี่ปุ่นหันมาใช้นโยบายการขยายตัวการเงินและการคลัง แต่นโยบายการคลังไม่ประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะโครงการต่างๆ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชนบท นอกจากนี้ระบบธนาคารยังมีความอ่อนแอ ซึ่งทำลายประสิทธิภาพมาตรการกระตุ้นทางการเงินเป็นผลให้เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 1.1% ในช่วงปี 1990 ต่ำกว่า 4.5% ในช่วงปี 1980 อย่างไรก็ดี ในช่วงต้น 2000 รัฐบาลนายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi ใช้มาตรการที่เด็ดขาดที่จะแก้ไขปัญหาในภาคการเงินและองค์กรเอกชน ซึ่ง GDP ญี่ปุ่นก็ยังขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 0.75% ต่อปีตลอดทศวรรษ

นายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2012 และเปิดตัวกลยุทธ์ธนูสามดอก หรือ “Abenomics” ซึ่งเน้นการผ่อนคลายทางการเงิน การขยายตัวทางการคลังและการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน มีผลทำให้ราคาหุ้นในประเทศญี่ปุ่นสูงขึ้นมากกว่า 80% รวมถึงค่าเงินเยนอ่อนค่าลงจาก 78 เยน เป็น 123 เยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้า เพิ่มกำไรของบริษัท ก่อให้เกิดการจ้างงานและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันอาเบะเตรียมที่จะขยายนโยบายดังกล่าวไปอีก เพื่อดึงเศรษฐกิจหลักๆ ของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “Abenomics 2.0” รายละเอียดของนโยบายเป็นการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ (การศึกษาก่อนวัยเรียนฟรี ช่วยสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์ การให้ความช่วยเหลือสำหรับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น) และลดปัญหาเกี่ยวข้องประชากรสูงอายุ (การส่งเสริมสวัสดิการสังคม และการให้โอกาสการจ้างงานมากขึ้นกับผู้เกษียณอายุ)

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่เติบโตนัก ในทางตรงกันข้าม GDP ก็ยังหดตัว 0.1% ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโตเพียง 0.6 % ในปีนี้ นอกจากนี้ แม้จะมีการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องถึง 80 พันล้านเยนต่อปี ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เงินเฟ้อ 2% ได้ รวมถึงหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ที่ 240% และยังคงสูงที่สุดในโลก

Abenomics 2.0 อาจจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะคนหนุ่มสาวยังไม่มั่นใจว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงมีการแต่งงานและมีลูกช้าลง ด้วยปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้ หลายคนเชื่อว่าการป้องกันไม่ให้ประชากร 127 ล้านคนในปัจจุบันลดลงไปต่ำกว่า 100 ล้านคน ญี่ปุ่นต้องมีนโยบายยอมให้มีผู้ย้ายถิ่นเข้าไปอยู่อาศัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นก็ยังคงมีความหวังอยู่บ้าง ซึ่งถ้าเกาหลีใต้ไม่ระมัดระวังก็จะจบลงไม่ต่างไปจากญี่ปุ่น

ประเทศเกาหลีใต้ได้รับการจับตาเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมาตลอด 4 ทศวรรษ ทั้งในการดำเนินกลยุทธพัฒนาต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน เช่น เน้นการส่งออก หรืออุตสาหกรรมการผลิต ถึงแม้ว่ารายได้ต่อหัว (ที่เทียบอำนาจการซื้อแล้ว) จะเป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 ของประเทศญี่ปุ่นในปี 1970 และขึ้นมาเกือบเท่ากับ 95% ในปัจจุบัน ในขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดโลกจาก 0.3% เป็น 3% ใกล้เคียงกับประเทศญี่ปุ่น 3.6% อย่างไรก็ดี สองประเทศนี้ยังคงมีความแตกต่างกัน เกาหลีใต้ยังคงล้าหลังญี่ปุ่นในเรื่องคุณภาพและการแข่งขัน เกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับที่ 26 ของโลก จากดัชนีการแข่งขันของ World Economic Forum ในขณะที่ญี่ปุ่นได้อันดับที่ 6

นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังประสบหลายปัญหาเหมือนกับญี่ปุ่นในช่วงต้น 1990 ซึ่งรวมถึงหนี้ของครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชน ตลาดการเงินและตลาดแรงงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ และภาคบริการที่มีผลิตภาพต่ำ เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดเพียง 1.2 คนต่อผู้หญิง 1 คนซึ่งเป็น 1 ในประเทศที่จัดว่ามีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก ซึ่งทำให้กำลังแรงงานของเกาหลีใต้จะหดตัวลงในปี 2050 ปัจจุบัน ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอยู่ประมาณ 35% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 13 % ซึ่งทำให้ต้องใช้งบประมาณภาครัฐจำนวนมากในส่วนนี้ ถ้าหากเกาหลีใต้ต้องการหลีกหนีจากชะตากรรมเดียวกับญี่ปุ่น จะต้องเริ่มลดหนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคเอกชนอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงเกาหลีใต้ควรดำเนินการปฏิรูปตลาดการเงินและตลาดแรงงานให้มีความเข้มแข็ง ปรับปรุงคุณภาพองค์กร และเพิ่มผลิตภาพในภาคบริการและองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก

รวมถึงจากนโยบาย Abenomics 2.0 เกาหลีใต้ควรสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเกิดของประชากร และการเลี้ยงเด็ก ซึ่งรวมถึงสถานที่ทำงานที่มีความยืดหยุ่นและค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กต่ำ การดูแลเด็กเล็กและหลังเลิกเรียนที่มีคุณภาพดี การจ่ายเงินชดเชยให้พ่อและแม่ รวมถึง การสนับสนุนทางการเงิน เช่นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับคู่บ่าวสาวซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแต่งงานและการมีบุตร “ทศวรรษที่หายไป” ของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นความสำคัญของการเยียวยาเศรษฐกิจด้วยการให้ยาที่ถูกขนานก่อนที่จะเกิดโรคเรื้อรังเกินจะรักษา ในขณะที่เกาหลีใต้หากใช้บทเรียนนี้ในการใช้นโยบายและปฏิรูปที่ถูกต้องก็อาจจะไม่ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เป็นได้

ที่มา: https://agenda.weforum.org/2015/11/will-south-korea-share-japans-economic-fate/


Tags:


Writer

โดย พัชรศรี แดงทองดี

นักวิจัย ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ