27 พฤศจิกายน 2015

future

ปี พ.ศ. 2552  IPCC (Intergovernmental Panel and Climate Change ) ออกมาส่งสัญญานเตือนภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าปัญหาใหญ่ที่โลกต้องเผชิญก็คือการขาดแคลนน้ำและการผลิตอาหารไม่เพียงพอ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด เช่น หิมะตกที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 แผ่นดินถล่มและน้ำท่วมในอินโดนีเซีย จนต้องมีการอพยพคนออกจากพื้นที่จำนวนมาก  ปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ และในปีนี้กำลังเผชิญกับภาวะภัยแล้ง

ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังบอกให้ทุกคนรู้ว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการเพื่อที่จะอยู่รอดในอนาคต

แนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้น้ำ ประหยัดพลังงานที่เป็นรณรงค์กันอยู่ทั่วไปในองค์กรต่างๆ ถ้าทำเพียงแค่นั้น ไม่ทันการณ์แล้ว

บทความ The Resilient Company ซึ่งเขียนโดย Andrew Winston ตีพิมพ์ใน Harvard Business  Review เดือนเมษายน ปีพ.ศ. 2554 นำเสนอว่าองค์กรธุรกิจต้องมีกรอบแนวคิดใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ การปฏิบัติการ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต

การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ที่ลดการใช้พลังงาน ทรัพยากร และสามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรืออย่างน้อยซากของผลิตภัณฑ์จะต้องไม่สร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมอีกต่อไป และถ้าจะให้ดีเยี่ยมก็คือซากผลิตภัณฑ์กลายเป็นธาตุอาหารคืนสู่ดินได้ ตามแนวคิด Cradle to Cradle ที่เคยนำเสนอไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าตลาดกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้  ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานน้อย และสามารถหมุนเวียนด้วยตัวของมันเอง จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่สร้างพลังงานได้ด้วยตัวของมันเองดังนั้นในระบบการปฏิบัติการตลอดห่วงโซ่อุปทานจึงต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือทุกขั้นตอนจะต้องใช้พลังงาน และทรัพยากรในระบบการหมุนเวียน

แต่การที่องค์กรจะมีผลิตภัณฑ์และระบบการปฏิบัติการดังกล่าวได้ ต้องเริ่มตั้งแต่กรอบแนวคิดในการดำเนินการ ที่จะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่งเป็นเรื่องยากหากผู้บริหาร ยังมองไม่เห็นผลกระทบ เพราะปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กรยังคงเป็นที่ต้องการของตลาด และองค์กรก็ประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง แต่การติดกับดักความสำเร็จนี่เองที่ทำให้หลายองค์กรและผลิตภัณฑ์ระดับตำนานหลายผลิตภัณฑ์ต้องพบกับจุดจบอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แม้ว่าอนาคตจะเป็นสิ่งที่ไม่มีอะไรแน่นอน แต่การติดตามภาวะแนวโน้มของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องแล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุหลักหรือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น เพื่อเตรียมการสำหรับอนาคต จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ มีสิทธิ์ในการเลือกว่าจะอยู่อย่างไรในอนาคต ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Foresight

องค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลก หันมาใช้เครื่องมือนี้กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งองค์กรใหญ่บางองค์กรในประเทศไทย เพื่อปั้นอนาคต (Shaping Tomorrow ) ขององค์กรและในบรรดาความไม่แน่นอนของอนาคตนั้น สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมนับว่าเป็นแนวโน้มที่เห็นชัดเจนที่สุด หากองค์กรต่างๆ ยังไม่เร่งลงมือปรับเปลี่ยนตนเองในวันนี้ ก็อาจจะสายเกินไป ผู้บริหารควรเริ่มต้นตั้งคำถามกับคนในองค์กรว่าในปรากฏการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทรัพยากรธรรมชาติที่เหลือน้อยลงไปทุกวันจะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อองค์กรในระยะยาว เปิดมุมมองให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่แม้จะวัดผลทางการเงินไม่ได้ แต่มีผลต่อคุณภาพชีวิตมหาศาล เช่น อากาศและน้ำที่สะอาด อาหารและยารักษาโรคจากธรรมชาติ จะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การสร้างคุณค่าใหม่ของผลิตภัณฑ์และบริการ

การใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ อีกด้านหนึ่งก็คือการถนอมสิ่งที่เป็นคุณค่าตามธรรมชาติให้คงอยู่เพื่อขัดเกลาจิตวิญญาณมนุษย์ให้คงความงดงามและอ่อนโยน ซึ่งไม่ว่ามนุษย์จะแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงใด ก็ยังคงโหยหาธรรมชาติอยู่นั่นเอง

บ้านเราในวันนี้ยังคงมีแผนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินท่ามกลางการคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ขณะที่เยอรมันประกาศแผนปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหินเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 40% ในอีกห้าปีข้างหน้า พร้อมกับการเดินหน้าเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั่นแสดงให้เห็นว่ากรอบแนวคิดของภาคอุตสาหกรรมเยอรมันนั้นจะให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

เรายังมีปัญหาของนายทุนใหญ่ที่สนับสนุนการตัดไม้ ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเกิดปัญหาวิกฤติน้ำให้เห็นอยู่ตำตา เราจะรอเวลาเผชิญหน้ากับวิกฤติที่สาหัสมากกว่าเดิม หรือหันมาเปลี่ยนและปั้นอนาคตเพื่อความอยู่รอด เป็นโจทย์ที่องค์กรทุกภาคส่วนต้องตอบตนเอง

 

ที่มา: คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 24-26 สิงหาคม 2558




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น