6 พฤศจิกายน 2015

STEEP-Social-Ratikorn

สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ หรือ UN คาดการณ์ว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในช่วงปี 2001-2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยแต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของประเทศนั้นๆ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์ การโภชนาอาหาร เป็นต้น

(อ้างอิง: http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html)

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น หลายประเทศกำลังเข้าสู่ยุค Aging Society ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ซึ่ง Patrick Kung ได้เขียนบทความถึงวิธีการดูแลประชากรสูงอายุของจีน ดังนี้

ผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจและสังคมของจีน แต่ก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประชากรของจีนที่เปลี่ยนไปด้วย ในประเด็นที่ว่าผู้สูงอายุจะต้องได้รับการดูแลโดยใครและอย่างไร เพื่อจะรักษาประเพณีดั้งเดิมนี้ไว้ จีนจึงต้องการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลทางการแพทย์ให้กับคนกลุ่มนี้ เพื่อเชื่อมโยงอดีตให้เป็นรากฐานของปัจจุบัน และก้าวต่อไปสู่อนาคต

ความรักและเคารพต่อผู้สูงอายุถือเป็นคุณธรรมที่สำคัญของจีน เด็กถูกคาดหวังให้ต้องดูแลครอบครัวของเขาเมื่อยามแก่เฒ่า และมีแนวโน้มว่าปู่ย่าตายายจะเป็นผู้ดูแลหลักของหลานๆ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในจีนที่สามช่วงอายุคนจะอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน ช่วยให้คู่หนุ่มสาวที่มีลูกสามารถออกไปประกอบอาชีพในเวลาเดียวกันได้

ปัจจุบันประเพณีที่มีคุณค่าเช่นนี้กำลังถูกคุกคาม จำนวนผู้สูงอายุมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดและอายุเฉลี่ยของพวกเขาก็เพิ่มขึ้น มีการคาดการณ์ว่าประชากรที่มีอายุ 65+จะเพิ่มขึ้นเป็น 167 ล้านคนในปี 2020 ประมาณ 11.5% ของประชากรทั้งหมด หรือเกือบสองเท่าของผู้สูงอายุในปี 1995 การเพิ่มขึ้นนี้จะสูงสุดในปี 2030 และความกดดันนี้จะตกอยู่กับผู้ใหญ่ของจีน ที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี เพราะเป็นเรื่องยากที่จะดูแลครอบครัวได้ ขณะที่ระบบการดูแลคนวัยเกษียณ และสถานพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุยังมีไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชนบทที่การสาธารณสุขพื้นฐานยังไม่พร้อม

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่เมืองและอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว การเสียชีวิตจากโรคเรื้อรังเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วน 85% ของผู้เสียชีวิตในจีน และยังมีความต้องการรักษาอีกถึง 70% ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพโดยรวม และมีความชัดเจนว่าระบบการดูแลสุขภาพต้องมีการปรับตัว

รัฐบาลจีนเองมีความพร้อมที่จะพัฒนาเรื่องดังกล่าวให้ดีขึ้น มีการเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยขยายไปถึงระบบประกันสุขภาพตนเอง และการเพิ่มทุนในการฝึกอบรมพยาบาล นอกจากนี้ยังดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เชิญชวนให้สร้างโรงพยาบาลเอกชน หรือมีความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์ ตัวอย่างเช่น Philips กำลังทำงานร่วมกับสังคมโรคหัวใจของจีน เพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลโรคหัวใจและหลอดเลือดแห่งชาติจีน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทำการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจในจีน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 27 ล้านคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การตัดสินใจของยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ ก็เป็นบทบาทที่สำคัญของภาคเอกชนอีกเรื่อง โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่และความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ระบบคลาวด์ เพื่อนำเสนอวิธีแก้ปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตความเชี่ยวชาญและระบบการดูแลสุขภาพจะต้องถูกบูรณาการเข้าด้วยกันทั้งหมด เริ่มต้นจากการดูแลสุขภาพ การป้องกันโรค การวินิจฉัย การรักษา และในที่สุดก็รับการรักษาอยู่ที่บ้าน

การบูรณาการดังกล่าวในประเทศจีน แสดงให้เห็นถึงคุณภาพที่เพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาและประสิทธิภาพในการจัดการกับค่าใช้จ่าย อย่างในสหรัฐอเมริกา การวิเคราะห์ การตั้งสมมติฐาน และการจำลองข้อมูลช่วยลดระยะเวลาการเข้าพักรักษาตัวของผู้ป่วยหนักได้ โดยการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากอุปกรณ์ที่สวมใส่ เช่น จี้ห้อยคอสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ การวิเคราะห์ดังกล่าวช่วยระบุปัญหาสุขภาพในขณะที่เกิดขึ้นจริง (Real Time) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังสวมใส่อุปกรณ์การวินิจฉัย ซึ่งจะส่งข้อมูลของผู้ป่วยไปบนระบบคลาวด์ช่วยให้แพทย์ตรวจรักษาได้โดยไม่ต้องมาพักรักษา ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องพักในโรงพยาบาลได้

ในอนาคต การดูแลสุขภาพของจีนต้องการมากกว่าแค่เทคโนโลยี ประเทศจีนซึ่งให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในสังคม จึงต้องหาวิธีการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเพราะไม่ใช่แค่เป็นการจัดการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หากเมื่อประเทศมีการเชื่อมต่อความร่วมมือด้านการดูแลสุขภาพถึงกัน ก็จะทำให้ประเพณีการให้ความเคารพและดูแลผู้สูงอายุสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แหล่งที่มา : https://agenda.weforum.org/2015/09/how-can-china-care-for-its-ageing-population/

 




Writer

โดย รติกร บัวคำ

- นักวิชาการเพิ่มผลผลิต ส่วนรณรงค์ส่งเสริมการเพิ่มผลผลิต สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
- มีความเชี่ยวชาญ ในด้านการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในองค์กร เทคนิคการรณรงค์และการจัดการความรู้เพื่อการเพิ่มผลิตภาพ และการให้คำปรึกษาแนะนำในองค์กรต่างๆ อาทิ บมจ.พรีเมียร์ โพรดักส์ บมจ.ไทล์ท้อป อินดัสตรี้ เป็นต้น
- ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ส่วนงานพัฒนากระบวนการผลิต บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)