21 กันยายน 2015

Cuture-1

“วันนี้ยังมีโอกาส เริ่มเปลี่ยนแปลงภายในกันก่อน ดีกว่าจะถูกสถานการณ์ภายนอกบังคับให้ต้องเปลี่ยน
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายไปแล้วก็ได้”

ระบบเศรษฐกิจในสังคมโลกยุคโลกาภิวัตน์ในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น Creative Economy, Digital Economy หรือ Knowledge-Based Economy เป็นต้น เป็นระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการแข่งขันอย่างเสรี โดยใช้วัฒนธรรมของชาติ หรือขององค์กรที่เรียกว่า “วัฒนธรรมนวัตกรรม” เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้ใช้วัฒนธรรม K-Pop ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันของความบันเทิง เพลง ดนตรี ภาพยนตร์ มารังสรรค์เป็นสินค้าและบริการ สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล ประเทศเยอรมนีมี Engineering Culture ที่เป็นวัฒนธรรมเด่นในการผลิตสินค้าที่เน้นในเรื่องของคุณภาพ ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ประเทศไทยของเราใช้วัฒนธรรมของความเป็นไทย (Thainess) ที่มีความอ่อนน้อม โอบอ้อมอารี มีน้ำใจยิ้มแย้มแจ่มใส สุภาพเรียบร้อย พิถีพิถันในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาหาร มาสร้างเป็นจุดเด่นในการทำธุรกิจด้านบริการประเภทต่าง ๆ เป็นต้น ในระดับองค์กรที่ประสบความสำเร็จอยู่ในปัจจุบัน เช่น Google, Apple, Facebook, 3M, Samsung และ Huawei ฯลฯ ต่างก็ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จขององค์กรทั้งสิ้น แต่องค์กรเหล่านี้ก็ตระหนักอยู่เสมอว่าการกินบุญเก่า ได้แก่ ชื่อเสียงเก่า ๆ สินค้าแบบเดิม ๆ การบริการแบบเก่า ๆ จะเป็นอุปสรรคในการอยู่รอดขององค์กรในระยะยาวเพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรในปัจจุบันมีความคาดหวังความต้องการและความพึงพอใจ ที่หลากหลายแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ถ้าองค์กรต้องการอยู่รอดอย่างยั่งยืนก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการออกแบบ สื่อสาร รณรงค์ ให้องค์กรมีวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้น ดังแนวคิดที่ว่า “วันนี้ยังมีโอกาส เริ่มเปลี่ยนแปลงภายในกันก่อนดีกว่าจะถูกสถานการณ์ภายนอกบังคับให้ต้องเปลี่ยน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายไปแล้วก็ได้”

CuttureInnovation

ความหมาย และคุณลักษณะของ
วัฒนธรรมนวัตกรรม

ในศาสตร์แต่ละสาขาวิชาชีพได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “วัฒนธรรม” ในมิติที่แตกต่างกัน นักมานุษยวิทยาให้ความหมายว่า เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนานในสังคมหนึ่ง ๆ หรือกลุ่มชนหนึ่ง ๆ และได้มีการถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ไปสู่คนรุ่นหลังสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นจนเกิดเป็นวัฒนธรรม

นักสังคมวิทยาให้ความหมายว่า เป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานของสังคม ที่มีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ให้มีคุณลักษณะของพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน หรือเป็นพฤติกรรมเดียวกัน ในศาสตร์ของพฤติกรรมองค์กรให้ความหมายว่า เป็นกระบวนการในการบริหารองค์กร เริ่มตั้งแต่ วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ขององค์กร ค่านิยม โครงสร้างองค์กร กระบวนการปฏิบัติงาน บรรยากาศในสถานที่ทำงาน ภาวะผู้นำที่ส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนในองค์กร

จากความหมายของวัฒนธรรมในหลาย ๆ ศาสตร์ พอจะสรุปสาระสำคัญของความหมาย “วัฒนธรรม” ได้ว่า เป็นวิถีชีวิต พฤติกรรม เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความดี ความงาม ความเจริญแก่หมู่คณะ ที่กลุ่มชน สังคม ผลิตหรือสร้างขึ้นมา ด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยึดถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ส่วนคำว่า “นวัตกรรม” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง สิ่งใหม่ที่เกิดจากการใช้ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ ที่มีประโยชน ์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

หรือ Michael E. Porter กูรูทางด้านการบริหารกลยุทธ์ระดับโลก ให้ความหมายว่า “นวัตกรรม” เป็นการสร้างสิ่งใหม่ ๆ หรือการทำให้แตกต่างจากคนอื่น ๆ โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงมาสร้างเป็นโอกาส ต้องมีความชัดเจน มุ่งมั่นในการพัฒนา และต้องมีการลงมือทำ ถ้ารวมความหมายของวัฒนธรรมและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน จะสรุปความหมายของวัฒนธรรมนวัตกรรม ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมขององค์กรที่สนับสนุน ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ดีงาม โดยการสร้างบรรยากาศให้คนคิดนอกกรอบ เปิดใจรับฟังความคิดเห็นคนอื่น กล้าแสดงความคิดเห็น กล้ารับความเสี่ยงในการทดลองสิ่งใหม่ ๆ ส่งเสริมการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีการยกย่องชมเชย เชิดชูเกียรติและให้รางวัลแก่คนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนารังสรรค์นวัตกรรม

Cuture-3

จากความหมายของวัฒนธรรมนวัตกรรม ซึ่งก็ยังเป็นนามธรรมค่อนข้างมาก จึงมีประเด็นสงสัยกันว่าจะสังเกตได้อย่างไรว่า องค์กรใดมีวัฒนธรรม องค์กรในลักษณะที่เป็นวัฒนธรรมนวัตกรรม หรือถ้าจะออกแบบวัฒนธรรมนวัตกรรมให้กับองค์กรจะต้องออกแบบอย่างไร มีคุณลักษณะอย่างไร จากการเข้าไปศึกษาองค์กรที่มีวัฒนธรรมนวัตกรรมพบว่า องค์กรที่มีวัฒนธรรมนวัตกรรม จะมีบุคลิกลักษณะขององค์กรดังต่อไปนี้

1 มีความเป็นสากล

องค์กรที่มีนวัตกรรมจะมีกระบวนการปฏิบัติงานในลักษณะ Outside-in Approach หรือ Think Globally, Act Locally ที่จะต้องเข้าใจ ติดตามสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรอย่างใกล้ชิด ประเมินสถานการณ์แล้วเตรียมความพร้อม หรือปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม กระบวนการปฏิบัติงาน บรรยากาศในการทำงานให้สอดคล้อง ทันเวลากับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และสิ่งที่จะทำให้องค์กรแตกต่างจากองค์กรอื่น ๆ ก็คือการคิดล่วงหน้าอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมขององค์กรสู่สังคม

2 ใฝ่ถาม

องค์กรจะต้องเปิดโอกาสให้เสรีภาพ ในการทำงานด้วยการตั้งคำถาม เพราะก่อนที่คนจะมีคำถามต้องใช้ความคิดเสียก่อน คนขี้สงสัยจะชอบถาม คำถามจะนำมาซึ่งโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาปรับปรุงงานซึ่งในระยะยาวจะพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้

3 ช่างสังเกต

องค์กรนวัตกรรมจะต้องใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ ของกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กรที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ ส่วนที่เป็นสิ่งดีและสร้างความพึงพอใจ ความประทับใจ จะต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้อีก และส่วนที่เป็นปัญหาต้องใส่ใจขวนขวายหากระบวนการใหม่ ๆ มาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม

4 สร้างเครือข่าย

โลกปัจจุบันเป็นสังคมของเครือข่ายที่มีการเชื่อมโยงติดต่อถึงกันอย่างกว้างขวางและตลอดเวลา เครือข่ายจะช่วยให้องค์กรทราบถึงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีความคิดเห็นอย่างไร พึงพอใจหรือไม่ต่อกระบวนการปฏิบัติงานขององค์กร ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีมีประโยชน์ต่อการใช้จินตนาการในการพัฒนาปรับปรุงงานใหม่ ๆ

5 เปิดโอกาสให้ทดลอง

การทดลองมาก ทดลองบ่อย จะทำให้เห็นอะไรแปลกใหม่ ความคิดที่ดี ๆ ต้องนำมาทดลอง มิฉะนั้นจะไม่สามารถรู้ได้ว่าความคิดนั้น ๆ มีศักยภาพพอที่จะพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้หรือไม่ ถ้าองค์กรปิดโอกาสการทดลองของพนักงานในระยะยาวจะทำให้พนักงานหยุดใช้ความคิดทำอะไรแต่สิ่งเดิม ๆ ซึ่งจะเป็นการปิดโอกาสของการใช้ความคิดสร้างสรรค์

6 มีการติดต่อสื่อสารแบบแนวราบ

การติดต่อสื่อสารในทุกรูปแบบ ควรจะเป็นการติดต่อสื่อสารที่เน้นความเท่าเทียม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ลดการใช้สายการบังคับบัญชา เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำความคิดเห็นต่าง ๆ มาบูรณาการกัน ความคิดบางความคิดอยู่โดด ๆ จะไม่มีคุณค่า แต่เมื่อนำมาบูรณาการกับความคิดของคนอื่น ๆ จะพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมได้

7 กล้ารับความเสี่ยง

การทำงานที่อยู่ใน Comfort Zone มากเกินไป ระยะยาวการพัฒนางานขององค์กรจะไม่เกิด ผู้บริหารจึงต้องแสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนให้คนอื่น ๆ เห็นว่าเขาพร้อมที่จะกล้าเสี่ยงและกล้ารับความเสี่ยงที่จะเกิดตามมาในการทำอะไรแปลกใหม่ในสิ่งที่เป็นความดี ความงาม และสนับสนุนให้พนักงานคิดนอกกรอบ ด้วยการกระตุ้นให้พนักงานกล้าคิด กล้าทดลองทำ กล้ารับผิดชอบ ในสิ่งที่เกิดขึ้น

8 อิสรภาพและเสรีภาพ

บรรยากาศในการทำงานที่จะกระตุ้นให้คนคิดนอกกรอบ จะต้องเป็นบรรยากาศที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเขามีอิสรภาพและเสรีภาพ ในการดำเนินชีวิต การแลกเปลี่ยนเข้าถึงข้อมูลและการแสดงความคิดเห็นมีความยืดหยุ่น สะดวกสบายในการปฏิบัติงานที่หลากหลายรูปแบบ ทั้งสถานที่ทำงานเวลาทำงาน เครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ในการทำงาน

9 ยอมรับในความหลากหลาย

โลกปัจจุบันจะมีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้นในทุก ๆ มิติ องค์กรจะต้องมีปรัชญาในการบริหารองค์กรที่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ และมีกลยุทธ์ที่จะบริหารความแตกต่างหลากหลายให้กลับกลายมาเป็นความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันปฏิบัติงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร

10 การให้รางวัล

องค์กรจะต้องมีระบบในการให้รางวัลเพื่อจูงใจ ยกย่องชมเชยแก่ผู้สร้างนวัตกรรม ซึ่งรางวัลอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเงินหรือมีมูลค่าสูงเสมอไป บางโอกาสแค่คำพูดชมเชยจากผู้บริหารระดับสูงก็เพียงพอ เพราะบางครั้งพนักงานก็คิดทำอะไรให้องค์กรมิใช่หวังเพื่อการได้มาซึ่งรางวัล แต่แค่ต้องการให้องค์กรเห็นความสำคัญหรือความเป็นตัวตนของเขาก็เพียงพอ

Cuture-4

ส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงาน มีอิสรภาพ เสรีภาพในการหาความรู้ สื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเพื่อนำมาสรุปเป็นบทเรียน ที่ต้อง
กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ทำอะไรใหม่ ๆ ในอนาคต

วัฒนธรรมนวัตกรรม
สร้างได้อย่างไร

การสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมมีกระบวนการสร้างวัฒนธรรมเหมือน ๆ กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรทั่ว ๆ ไป โดยกระบวนการจะเริ่มจากการออกแบบวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ สื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจที่เหมือน ๆ กัน รณรงค์ให้คนในองค์กรประพฤติปฏิบัติ และประเมินผลถึงความยั่งยืนของวัฒนธรรมเป็นระยะ ๆ การที่จะทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมนวัตกรรมที่ยั่งยืนจะต้องเกิดจากการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังของคนสองกลุ่มในองค์กร กลุ่มแรกคือผู้นำ (Innovative Leader) จะต้องเป็นผู้นำที่มีภาวะการนำที่เข้มแข็งเป็นแบบอย่าง (Role Model) ของพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมนวัตกรรมให้กับผู้อื่น และผู้นำจะต้องมีหน้าที่สร้างบรรยากาศในที่ทำงาน ในลักษณะที่กระตุ้นส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานมีอิสรภาพ เสรีภาพ ในการหาความรู้ สื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวในการปฏิบัติงานเพื่อนำมาสรุปเป็นบทเรียนที่ต้องกล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ ทำอะไรใหม่ ๆ ในอนาคต กลุ่มที่สองคือพนักงาน (Innovative Employee) ที่จะต้องให้ความร่วมมือประพฤติปฏิบัติตามคุณลักษณะของวัฒนธรรมนวัตกรรมอย่างจริงจัง คุณลักษณะของพฤติกรรมระหว่าง Innovative Leader และ Innovative Employee ในรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

CuttureInnovationLeader-2

คุณลักษณะทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้นำ

องค์กรที่จะสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม ผู้นำต้องมีคุณลักษณะทางพฤติกรรมหลัก ๆ ดังนี้


มีความคิดเป็นสากล

ความคิดจะเป็นบ่อเกิดของการกระทำ ฉะนั้นผู้นำที่จะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมจะต้องติดตามทำความเข้าใจในกระแสโลกาภิวัตน์ของสังคมโลก ที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันจะทำได้สะดวกรวดเร็วขึ้น การบริหารองค์กรสามารถแสวงหาโอกาสรวมถึงการใช้ทรัพยากรความรู้ทุกรูปแบบจากทุกแห่งบนโลกใบนี้ กำแพงอุปสรรคนานาประการที่เคยขวางกั้นความร่วมมือและการแข่งขันจะค่อย ๆ ลดลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการบริหารองค์กรจะอยู่ที่ว่าผู้บริหารมีความสามารถในการมองอนาคตอย่างไร แล้วปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กรอย่างไรในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

มีภาวะผู้นำที่ใช้ความร่วมมือประสานงานกัน ในแนวราบ (Collaboration)

มากกว่าใช้สายการบังคับบัญชา (Hierarchy) เพี่อก่อให้เกิดบรรยากาศในการทำงานที่มีความเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีเสรีภาพในการปฏิบัติงาน บรรยากาศในการปฏิบัติงานที่เน้นความเป็นพวกเรามากกว่าคุณ หรือผม ซึ่งจะส่งเสริมให้พนักงานกล้าคิดในสิ่งที่แตกต่างไปจากกรอบเดิม ๆ

เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้นำจะต้องดำรงตนเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย แผนปฏิบัติการ แล้วสื่อสารอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และกระตุ้นผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติร่วมกับพนักงานชนิดที่เรียกว่า “กัดไม่ปล่อย

สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง

ด้วยการสร้างบรรยากาศในการปฏิบัติงาน ให้คนกล้าคิดอย่างสร้างสรรค์ กล้าถามในประเด็นที่สงสัย กล้าทดลองทำ สุดท้ายถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นก็ต้องกล้าแสดงความรับผิดชอบ นำสิ่งที่เป็นปัญหามาเป็นบทเรียนเพื่อการพัฒนางานในอนาคต

ทำตัวเป็นแบบอย่าง

ในการบริหารความเปลี่ยนแปลง ผู้นำจะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง อดทนและควบคุมอารมณ์ต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลง มีภาวะการนำที่แสดงให้คนอื่น ๆ เห็นเสมอว่าตนเองพร้อมและร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา

 

คุณลักษณะทางพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของพนักงาน

นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยคนเพียงคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ กันของทุกคน เพราะฉะนั้นองค์กรควรพัฒนาพนักงานให้มีพฤติกรรมในการปฏิบัติงานที่เอื้อต่อการรังสรรค์นวัตกรรม ดังนี้


ใฝ่รู้

องค์กรต้องส่งเสริมและพัฒนาให้พนักงานมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความชำนาญ ทั้งในสาขาวิชาชีพที่พนักงานปฏิบัติงานอยู่และเรื่องอื่น ๆ ที่พนักงานสนใจ ที่สำคัญจะต้องเป็นพฤติกรรมในการแสวงหาความรู้และทักษะอย่างไม่มีวันสิ้นสุด เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองไปตลอดชีวิต ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาสมรรถนะของพนักงานให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การใฝ่รู้จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำมาซึ่งนวัตกรรมต่อไป

คิดนอกกรอบ

การคิดอะไรอยู่แต่ในกรอบจะทำให้คนเกิดความเคยชิน ในระยะยาวคนจะหยุดคิด องค์กรจึงต้องพัฒนา เปิดโอกาสให้คนคิดนอกกรอบ โดยอย่าคิดว่าการทำอะไรแปลกใหม่ ไม่อยู่ในกรอบเดิม ๆ เป็นสิ่งผิดเสมอไปการคิดนอกกรอบอาจจะเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ตั้งคำถาม เช่น ทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร ทำวิธีอื่นได้ไหม ทำมากกว่านี้ได้ไหม คุณคิดว่าอย่างไร เป็นต้น การตั้งคำถามจะเกิดจากการทำงานที่ใช้ความคิด ความสงสัย เป็นพื้นฐานถ้าปล่อยให้คิดอย่างอิสระ คนจะมีจินตนาการกว้างไกล และนำมาซึ่งสิ่งใหม่ ๆ กระบวนการใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงาน

เปิดใจรับฟัง

การทำงานที่ไม่เปิดใจรับฟังคนอื่น ๆ ทั้งคำชมเชย ตำหนิ จะเป็นการทำงานเหมือนกบอยู่ในกะลา ตัดโอกาสการเรียนรู้ใหม่ ๆ การเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้มาซึ่งข้อมูลใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ความรู้ใหม่ ๆ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ผสมผสานกับความรู้เดิมของเรา ซึ่งอาจได้มุมมองใหม่ ๆ มาต่อยอดการปฏิบัติงานให้ได้รับผลลัพธ์ของงานที่ดีกว่าเดิม

กล้าพูด กล้าริเริ่มทำ

การที่มีความคิดถึงแม้จะดีเลิศอย่างไร แต่ถ้าไม่กล้าพูด กล้านำเสนอความคิดต่อคนอื่น องค์กรก็อาจเสียโอกาสที่จะได้ความคิดดี ๆ นั้นไป เพราะฉะนั้นองค์กรจะต้องหากลวิธีในการกระตุ้นให้พนักงานนอกจากกล้าคิดที่แตกต่างไปจากคนอื่นแล้วจะต้องกล้าพูดที่ไม่เป็นการก้าวร้าวด้วย แต่การแสดงความคิดเห็นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของคนอื่น ในการวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของคนอื่นจะต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เฉพาะแนวคิดเท่านั้น ไม่ล่วงเกินไปวิจารณ์ตัวบุคคล เมื่อคนกล้าคิดแล้วองค์กรต้องเปิดเวทีให้พนักงานกล้าทดลองทำตามความคิดที่เหมาะสมด้วย ซึ่งการทดลองทำนี้องค์กรควรเปิดกว้างให้พนักงานได้มีโอกาสทดลองทำ ทั้งในขอบเขตของงานที่เขารับผิดชอบและงานอื่น ๆ ที่เขาสนใจด้วย เช่น Google มีความเชื่อว่าความสุขและความคิดสร้างสรรค์จะเพิ่มขึ้นถ้าคนได้ทำงานที่ตัวเองอยากทำ ดังนั้น Google จึงเปิดโอกาสให้วิศวกรซอฟต์แวร์จัดสรรเวลาอย่างน้อยร้อยละ 20 หรือสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อไปทำงานในโครงการที่ตนเองสนใจได้อย่างอิสระ เพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

กล้ารับความผิดพลาด

เมื่อปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นในแต่ละโครงการ หรือการทำงานประจำที่ไม่เป็นโครงการเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ทีมงานควรมีการทบทวนถึงสิ่งที่ได้ทำลงไปแล้วว่า ประสบความสำเร็จตรงไหน และมีปัญหาตรงไหน สิ่งที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ผู้นำก็ควรยกย่องชมเชย ให้รางวัล หรือฉลองร่วมกัน สำหรับกรณีที่เป็นปัญหาควรมีการสนทนากันเพื่อสรุปถึงสาเหตุ อุปสรรคของการปฏิบัติงานที่เป็นปัญหา เทคนิคที่ใช้ในการสนทนาอาจจะประยุกต์ใช้ สุนทรียเสวนา (CoP) หรือ After Action Review (AAR) ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อต่อยอดเป็นความคิดใหม่ ความรู้ใหม่ นำมาพัฒนาปรับปรุงงานในรูปแบบใหม่ ๆ การวิพากษ์วิจารณ์จะต้องหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ตัวบุคคล แต่ต้องเป็นการพูดคุยกันที่ตัวงาน ผู้ที่รับผิดชอบงานนั้น ๆ ก็ต้องเปิดใจรับฟังเหตุผล ชี้แจงถึงความล้มเหลวด้วยปัญญา ไม่ใช่ด้วยอารมณ์เพื่อหาข้อสรุปในการพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานในโอกาสต่อ ๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น หรือมีรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น

Albert EinsteinAlbert Einstein กล่าวไว้ว่า…

“ จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เนื่องจากความรู้นั้นจำกัดอยู่แค่ที่เรารู้และเข้าใจทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่จินตนาการ รวมเอาโลกกับความรู้และความเข้าใจที่จะต้องรู้ทั้งหมดทั้งโลกไว้ด้วยกัน ”

องค์กรยุคใหม่มีภารกิจที่จะต้องพัฒนาให้ทุกคนในองค์กรมี Innovative Mindset ซึ่งคุณลักษณะนี้มิได้มีมาแต่เกิดแต่พัฒนาให้เกิดขึ้นมาได้ ด้วยส่วนผสมอย่างลงตัวของบรรยากาศในสถานที่ทำงาน ผู้นำที่มีคุณลักษณะประเภท Innovative Leader และพนักงานที่มีคุณลักษณะประเภท Innovative Employee วัฒนธรรมนวัตกรรมจะเป็นวิถีชีวิตในการปฏิบัติงานของคนในองค์กรที่กระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดอิสรภาพในการคิด อิสรภาพในการทดลองทำ เพราะช่องว่างระหว่างความคิดกับการกระทำ คือคิดแล้วไม่ได้ทำจะเป็นอุปสรรคสำคัญของความคิดดีดีอีกมากมายที่ไม่ได้แจ้งเกิด หากองค์กรประสบความสำเร็จแล้ว “ชะล่าใจ” สุดท้ายก็จะตามคนอื่นไม่ทัน องค์กรยุคใหม่จึงแทบไม่มีทางเลือกหากไม่สร้างนวัตกรรมก็เตรียมตัวจบ (Innovate or Die) เลือกกันเอาเองนะครับ


องค์กรจะอยู่รอดปลอดภัยได้ ต้องตื่นตัว ส่งเสริมให้พนักงานมีจินตนาการ และมีกระบวนการที่จะต้องเปิดเวทีให้พนักงานนำจินตนาการมาต่อยอดเป็นนวัตกรรม ซึ่งกระบวนการนี้ต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า…

“วัฒนธรรมนวัตกรรม”




Writer

โดย ชัยทวี เสนะวงศ์

ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท การจัดการธุรกิจ จำกัด