20 เมษายน 2015

ความหลากหลายของแรงงาน คือ ความแตกต่าง ของพนักงานในองค์กรในด้านต่างๆ อาทิ อายุ เพศ พื้นฐานทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และความสามารถ ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ ถือว่ามีความจำเป็นสำหรับทุกองค์กร และการบริหารจัดการความหลากหลายให้เกิดความลงตัวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการองค์กร

บทความนี้จะชี้ให้เห็นถึง ความหลากหลายของแรงงานที่มีผลกระทบต่อการเพิ่มผลิตภาพขององค์กร    ผลิตภาพ หรือ Productivity เป็นตัววัดที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน เน้นที่การใช้ปัจจัยนำเข้าต่างๆ อย่างคุ้มค่า เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ซึ่งในมุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะวัดค่านี้ในรูปของสัดส่วนของปัจจัยป้อนเข้า (Input) ต่อ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น(Output) ซึ่งปัจจัยป้อนเข้าในที่นี้ก็คือ ทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกใช้ไปในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ พลังงาน หรือ แรงงาน เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งก็คือ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการขององค์กรนั่นเอง

แรงงาน ถือเป็นทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินสำคัญขององค์กร เพราะต้นทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ จะไม่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพงาน หรือเพิ่มอัตราการคืนทุนได้ด้วยตัวเอง แต่จำเป็นต้องใช้ศักยภาพจากคนในการทำสิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่มีพนักงาน องค์กรก็ไม่สามารถเคลื่อนไปข้างหน้าได้ ดังนั้นการบริหารทรัพยากรบุคคลจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และควรเป็นไปในวิถีทางที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นยุคที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นโลกเสรีมากขึ้น จะพบว่าผู้คนมีความแตกต่าง และหลากหลาย หากพิจารณาพนักงานในองค์กร ก็จะพบว่ามีความหลากหลายในด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งความหลากหลายที่มองเห็นได้หลักๆ ดังแสดงในแผนภาพด้านล่าง

steep  ใหม่

ความหลากหลายเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความแตกต่างทาง ทัศนคติ ทักษะ และความมานะพยายามในการทำงาน และเมื่อคนที่มีความแตกต่างกันในหลายๆ ด้านมาทำงานรวมกัน ถือเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพ และส่งผลกระทบต่องานโดยตรง และเมื่อมีการจ้างงานพนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลายตามที่กล่าวมานี้ จึงถือเป็นความท้าทายของการบริหารจัดการด้านบุคคลให้เป็นไปอย่างลงตัวและเกิดความเหมาะสม เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

ความได้เปรียบจากความหลากหลายทางด้านแรงงาน

ดูเหมือนว่าความหลากหลายของแรงงาน  จะมีโอกาสก่อให้เกิดปัญหาในที่ทำงานอยู่ไม่น้อย และพบว่าในที่ทำงานที่พนักงานมีความหลากหลายมาก พนักงานมักจะให้ความร่วมมือหรือทำงานร่วมกันได้ยาก แต่จะใช้ความสามารถเฉพาะตัวเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งการบริหารจัดการความหลากหลายของแรงงานเพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และก่อให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพร่วมกันได้นั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการมุ่งสู่ความสำเร็จ และเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรได้เป็นอย่างดี ซึ่งประโยชน์จากความแตกต่างที่หลากหลายของพนักงาน สามารถสรุปได้ ดังนี้
• พนักงานที่มีพื้นฐานจากความหลากหลาย จะดึงความสามารถเฉพาะตัวและประสบการณ์ในการนำเสนอแนวคิด มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้จึงทำให้สามารถสร้างผลงานให้แก่ลูกค้าได้กว้างขวางมากขึ้น
• วัฒนธรรมที่หลากหลายในองค์กร มีส่วนช่วยให้กระบวนการแก้ไขปัญหามีความหลากหลาย และสามารถจัดการกับเรื่องที่ซับซ้อนได้ดีกว่า
• ความหลากหลายของแรงงานจะทำให้การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องตัวและสามารถนำแนวคิดที่แตกต่างนั้นมารวมกันก่อให้เกิดแนวคิดและประสบการณ์ใหม่ได้ ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม และการเพิ่มผลิตภาพได้เป็นอย่างดี

การจัดการความหลากหลายนั้น ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายอันยิ่งใหญ่ขององค์กร   การจ้างงานที่หลากหลายจะนำไปสู่การปรับปรุงผลิตภาพได้

แต่การจัดการที่เหมาะสมไม่ใช่แค่การบริหารจัดการเพียงระบบ แต่มันคือการจัดการกับพฤติกรรมของคน ไม่ว่าจะเป็นทัศนคติที่แตกต่างกัน ความเข้าใจ ความเชื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่งานด้านทรัพยากรบุคคล ไม่ควรมองข้าม คือการใช้นโยบายที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถใช้ความหลากหลายของแรงงานให้เกิดประโยชน์กับองค์กรได้สูงสุด อาทิ
• การส่งเสริมให้มีการใช้ภาษาที่สามารถเข้าใจได้ตรงกันระหว่างพนักงาน
• การกำหนดให้มีการสร้างแรงจูงใจ และมีระบบพี่เลี้ยงในการทำงาน
• การเปิดช่องทางให้มีการสื่อสารระหว่างพนักงานและผู้บริหาร
• การส่งเสริมให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานขององค์กรมากขึ้น

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่าความหลากหลายของแรงงานนั้นเป็นจุดแข็งขององค์กร และหากมีการจัดการได้อย่างเหมาะสม จะถือเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพให้แก่องค์กรได้เป็นอย่างดี

อ้างอิง       http://www.sciencedirect.com/science/article  /pii/S2212567114001786

อ้างอิงภาพ  http://www.sustainablecherryhill.org/wp-content/uploads/2014/10/leadership.jpg




Writer

โดย สุธาสินี โพธิจันทร์

วิทยากรที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
วิทยากรและที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพและการมีส่วนร่วมของพนักงาน มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาแนะนำกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมากว่า 15 ปี