27 มีนาคม 2015

“นวัตกรรม” คำนี้เมื่อ 4-5 ปี ฟังแล้วนึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร ต้องทำอย่างไร แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากขึ้นเริ่มเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยที่จะทำให้เกิดการตระหนักและยอมรับในองค์กรได้ แต่วิธีการปฏิบัติให้ได้นวัตกรรมก็มีหลากหลายแนวทางขึ้นกับกิจกรรมของแต่ละองค์กรที่มีอยู่ จากการที่ไปประชุมกับ Asian Productivity Organization ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วม 13 ประเทศ โดยมี Dr. Choi Dong –Kyu     ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์

เพิ่มผลิตภาพแห่งสาธารณรัฐเกาหลี  (  Korea   Productivity  Center )  เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เริ่มศึกษาองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมในประเทศเกาหลี   โดยเชื่อว่าคนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนวงจรนวัตกรรม ดังนั้น  Dr. Choi Dong –Kyu  จึงได้นำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับ “ การเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ( Human – Centered Productivity ) ”  เพื่อเพิ่มศักยภาพของคน ให้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ดีกว่าอันจะนำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพในที่สุด นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้คำนึงถึงการดำรงอยู่และรุ่งเรืองของมนุษยชาติมากขึ้น

ทำไมองค์กรต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่

เพราะโลกในอนาคตกำลังเผชิญกับความท้าทายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากร การขาดแคลนและเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ความไม่มีเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจของโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น  ความท้าทายเหล่านี้กลายเป็นวาระสำคัญของโลกแห่งผลิตภาพ ด้วยโลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด นั่นแสดงว่าต่อไปคำว่า “ผลิตภาพ (Productivity)” ไม่ได้มองแค่เพียงระดับองค์กร แต่จะต้องคำนึงถึงในระดับประเทศ และระดับโลกด้วย เพื่อสร้างความยั่งยืน (Sustainability) และเผื่อแผ่ให้แก่คนรุ่นต่อไปในอนาคต

ทางรอดของความท้าทาย คือ การวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชั้นสูง โดยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคตที่ดีกว่า ซึ่งกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดก็คือคน ที่จะเป็นผู้คิดค้นและสร้างสรรค์อุปกรณ์นวัตกรรมขึ้นมาแก้ปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่โลกเผชิญอยู่นั่นจึงเป็นสาเหตุให้บรรดาผู้รู้จึงต้องมุ่งกระแสมาที่   “การเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ( Human – Centered Productivity)” ด้วยเชื่อว่า “ คนทุกคนปรารถนาจะมีชีวิตที่ดีกว่าและคนทุกคนมีศักยภาพที่ไม่มีขีดจำกัด  หากมองเห็นโอกาสการพัฒนาศักยภาพที่ซ่อนอยู่”

แนวคิดเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ( Human – Centered Productivity ) เป็นอย่างไร

การเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (  Human – Centered Productivity  ) ถือว่าคนเป็นปัจจัยการผลิตที่มีอยู่จำกัดเพียงจำนวนหนึ่งเช่นเดียวกับ ทุน วัตถุดิบ เครื่องจักร ฯลฯ แต่คนมีความพิเศษและซับซ้อนมากกว่าเพราะคนมีทัศนคติ มีความคิด มีความสามารถที่ถูกนำเข้าไปปะปนให้มีผลต่อการทำงานจึงทำให้คนบางคนสามารถสร้างนวัตกรรมชั้นเยี่ยมได้ จากความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่  ในขณะที่บางคนไม่สามารถทำได้หรือบางคนมีความสามารถแต่ไม่อยากทำก็ตาม ทั้งที่องค์กรได้ใส่ปัจจัยการผลิตเหมือนกัน เท่าๆ กัน แต่ผลลัพธ์ไม่เท่ากัน ความแตกต่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการพัฒนา เสริมแต่งให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยองค์กรควรหลีกเลี่ยงจุดอ่อนต่างๆ ที่จะไปจำกัดความคิดริเริ่มของคนที่เกิดขึ้นจากองค์กรให้มีน้อยที่สุด  ดังนั้น “   การเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (  Human – Centered Productivity  ) จึงมุ่งผลลัพธ์ให้คนทุ่มเทศักยภาพและจิตใจให้กับการทำงานเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยความรู้สึกอยากทำและเต็มใจที่จะทำ นอกจากนั้นยังคาดหวังว่าคนในรุ่นปัจจุบันจะรู้จักที่จะใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสร้างหลักประกันให้คนรุ่นต่อไปอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาให้ถ่องแท้แนวคิดนี้กำลังหาหนทาง บ่มเพาะคนในองค์กรให้ไปถึงระดับสูงสุดของ Maslow คือความต้องการเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง เพราะคนในกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ปรารถนาจะแสดงความสามารถของตนเองเพื่อสร้างความสำเร็จและความภาคภูมิใจให้แก่ตนเอง ซึ่ง Maslow เชื่อว่าคนมีลำดับขั้นความต้องการ หากได้รับการตอบสนองที่อยู่ในระดับที่เพียงพอระดับหนึ่งจะมีความต้องการลำดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายเมื่อปัจจัยรอบข้างมีพร้อมแล้ว คนจึงจะหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่าของตนเองในขั้นสุดท้ายในที่สุดขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับว่าใครไปได้เร็วช้ากว่ากัน

HumanCenter-1

แต่ในชีวิตจริงจะพบว่าพฤติกรรมการทำงานเช่นนี้มักพบกับกลุ่มผู้ที่มีอายุมากๆ ตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปในพนักงานที่มีศักยภาพหรือมีไฟอยู่ ที่พอใจกับรายได้ที่ได้รับ มีความมั่นคงในครอบครัว มีหน้าที่การงานดีตามความสามารถของตนระดับหนึ่ง นั้นคือได้รับความต้องการของขั้นที่ 1-4 ของ Maslow จึงทำให้ลดความกังวลหรือคับข้องใจลงได้ หรือคนที่มีความพร้อมทั้งฐานะทางการเงินและครอบครัวดีอยู่แล้ว ดังนั้น  ความพยายามที่เหลือจึงมุ่งให้แก่งานเป็นหลัก ยิ่งงานที่ได้รับเป็นงานถนัด รักและชอบก็จะทำให้มีความทุ่มเทและสนุกกับงานอย่างเต็มที่ จึงเป็นข้อสรุปได้ว่าแนวคิดเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง  ( Human – Centered Productivity )  เชื่อว่าคนจะทุ่มเทศักยภาพและจิตใจให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่เมื่อมีความพร้อมและลดความกังวล แล้วองค์กรจะสามารถเติมเต็มปัจจัยเหล่านี้ให้พนักงานได้อย่างไรตามที่ควรจะเป็น

จากผลสำรวจความคิดเห็นของพนักงานในองค์กรต่างๆ ทั่วโลกยืนยันเกี่ยวกับ ” ความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรของพนักงาน (Employee Engagement) ” จาก 140 ประเทศ กว่า 150,000 ราย แน่นอนมีความคิดเห็นของพนักงานในประเทศไทยอยู่ด้วย ในรายงาน Gallup’s 2013 “ State of the Global Workplace” ว่า ค่าเฉลี่ยของทั่วโลก มีพนักงานเพียง 13% เท่านั้นที่รู้สึกรักและผูกพันต่อองค์กร อีก 63% บอกว่าไม่ผูกพันกับองค์กร และมีถึง 24% ที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าพนักงานไม่รู้สึกรักองค์กรนี้เลย ด้วยเหตุผลแสดงออกว่าพวกเขาไม่มีความสุขในการทำงาน และมีทัศนคติที่ไม่ดีกับองค์กร และยังเผยแพร่ความคิดแง่ลบให้แก่พนักงานคนอื่นๆในที่ทำงานอีกด้วย สำหรับประเทศไทย ก็ไม่ได้แตกต่างจากค่าเฉลี่ยโลกมากนัก เพราะมีพนักงานเพียง 14% เท่านั้นที่รู้สึกรักและผูกพันต่อองค์กร 84% ไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กร และอีก 2% ที่แสดงชัดเจนว่าไม่รักและผูกพันกับองค์กร ที่ตัวเลขน้อยอาจจะมาจากนิสัยและวัฒนธรรมของไทยที่ไม่ชอบออกตัวแรงกับเรื่องที่อาจจะเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตตนเองก็ได้

ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าคนมีความรักและผูกพันกับองค์กรค่อนข้างน้อย คนส่วนใหญ่พร้อมจะลาจากหากมีข้อเสนอหรือเงื่อนไขที่ดีกว่า นั่นหมายถึงคนยังไม่ได้รับการตอบสนองจากองค์กรอย่างเหมาะสม ถึงตรงนี้ก็ไม่อยากให้คิดว่าพนักงานทุกคนอยากได้แค่ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แท้จริงแล้วยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนไม่รู้สึกรักและผูกพันกับองค์กร ยกตัวอย่างเช่น  ปัจจัยต่อไปนี้

HumanCenter-2.jpgที่มา Best Center, สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ซึ่งในปัจจัยต่างๆ พบว่า พนักงานให้ความสำคัญกับลักษณะงานที่มีความมั่นคงและเป็นงานที่ชอบเป็นลำดับแรกก่อน  เช่น บริษัท Seen Tec ในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ มีความชำนาญทางเทคโนโลยี มีการเติบโตค่อนข้างสูง จึงเป็นบริษัทที่อยู่ในความสนใจของวิศวกรที่มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ต้องการร่วมงานด้วย ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดสรรบุคลากรที่เหมาะสม คือต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นวิศวกรที่มีชื่อเสียงได้ในอนาคต จากการเรียนรู้และทำงานกับบริษัท ดังนั้น การเติบโตของบริษัทที่ผ่านมา จึงเกิดจากแรงขับเคลื่อนจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าของวิศวกรบริษัทที่ต้องการพัฒนาทักษะความชำนาญของตนเอง ฯลฯ ปัจจุบันหลายองค์กรก็เริ่มทำ Employee Engagement Survey มากขึ้น วันนี้ตอบคำถามได้หรือยังว่าทำไมคนจำนวนหนึ่งไม่รักองค์กร  คนเหล่านั้นเป็นคนที่มีศักยภาพสมควรจะ Engagement ใช่หรือไม่ อย่าลืมว่าเราต้องการถนอมและรักษาคนที่ดีและเก่งพร้อมจะเติบโตไปกับองค์กร แต่ไม่ใช่คนทุกคน  หากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพแต่ยังไม่รู้สึกรักและผูกพันกับองค์กร สิ่งที่แนวคิดนี้คาดหวังว่าพนักงานจะทำงานด้วยความทุ่มเททั้งศักยภาพและจิตใจก็คงไม่ง่ายเพราะที่สุดองค์กรอาจจะสะสมคนประเภททำให้หมดไปแต่ละวันก็พอ เดี๋ยวก็ได้เงินเดือนแล้ว แล้วองค์กร ประเทศ   หรือโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

จะเห็นได้ว่า แนวคิดการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ( Human – Centered Productivity ) เป็นการมองผลิตภาพในมิติของการผลิตกับความเป็นมนุษย์มากกว่าการผลิตกับกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติเท่านั้น  คือ การเคารพในความเป็นมนุษย์ของพนักงาน อันจะนำมาเป็นเงื่อนไขในการบ่มเพาะให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นนวัตกรรม

วงจรการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง ( Human – Centered Productivity Cycle)

จากการศึกษาองค์กรต่างๆ  ของศูนย์เพิ่มผลิตภาพแห่งสาธารณรัฐเกาหลี จึงได้สรุปปัจจัยหลักที่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่จำเป็นต่อการบ่มเพาะให้พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ และนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ที่เป็นผลมาจากนวัตกรรม เป็นวงจรการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง Human – Centered  Productivity  Cycle)   ดังภาพต่อไปนี้

HumanCenter-3

จากวงจรการเพิ่มผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง (Human –  Centered Productivity Cycle) มีปัจจัยหลักสำคัญที่จะช่วยเอื้อให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม  5 ปัจจัยหลัก โดยที่ 3 ปัจจัยแรกถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างความรู้สึกให้พนักงานเกิดความเชื่อมั่นในองค์กร ส่วนอีก 2 ปัจจัยที่เหลือเป็นปัจจัยส่งเสริมให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์โดยตรง ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้   (  ต่อฉบับหน้า )




Writer

โดย ดุจดาว ดวงเด่น

ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนบริหารการผลิต ฝ่ายปรึกษาแนะนำ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต (การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประสบการณ์การเป็นวิทยากร ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล อาทิ HR Scorecard ,COMPETENCY , Knowledge Management Assessment
Professional Trainer , การสร้างสัมพันธภาพในงาน, Smarter Meeting , Daily Management for Supervisor in Industrial Sector, Productive Supervisor ให้กับองค์กรชั้นนำ