8 สิงหาคม 2022

‘สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร’

รวมพลังพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร

8 สิงหาคม 2565 สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree Program) ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และ รองศาสตราจารย์ ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ลงนาม

การร่วมมือของสองหน่วยงานในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแห่งการพัฒนาครั้งสำคัญ ทั้งในด้านวิชาการ และรูปแบบการเรียนหรือฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นที่หลักสูตรประกาศนียบัตร ประกอบด้วย หลักสูตรระยะสั้น (Short Course) และ/หรือ โครงการสัมฤทธิบัตร (Certificate of Achievement) หรือหลักสูตรระยะยาว ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อการสะสมหน่วยกิต (Collective Credit) ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะสนองต่อวัตถุประสงค์ของผู้ที่ต้องการเรียนรู้ ให้พร้อมด้วยสมรรถนะที่ตอบโจทย์ภาคสังคมและอุตสาหกรรม อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนกับมหาวิทยาลัยนเรศวร

“ในฐานะที่สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และคุณภาพของประเทศ ในการส่งเสริมและผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่สูงขึ้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่สถาบันจะได้ร่วมกันสร้างประโยชน์ด้านวิชาการ และพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน ที่สามารถตอบสนองต่อยุคดิจิทัล และสนับสนุนความยั่งยืนด้านโลจิสติกส์ หรือห่วงโซ่อุปทานสีเขียว จากความมุ่งมั่นของสองหน่วยงาน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะสามารถร่วมกันสร้างประโยชน์ และพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชน เพื่อให้องค์กรไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมต่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืนต่อไปในอนาคต” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อธิศานต์ กล่าว

พร้อมกันนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี ได้ให้เกียรติเป็นผู้กล่าวเปิดพิธีลงนามความร่วมมือ และเน้นย้ำถึงความคาดหวังจากโครงการเพื่อมอบประโยชน์ให้กับประเทศ

“ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในด้านโลจิสติกส์และดิจิทัลซัพพลายเชนครั้งนี้ มหาวิทยาลัยนเรศวรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัย รวมถึงเป้าหมายของประเทศ เพราะหากเรามองถึง 13 หมุดหมายของประเทศ จะพบว่า 1 ใน 13 หมุดหมายของประเทศ คือ โลจิสติกส์ ยิ่งไปกว่านั้น ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงการผลักดันเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree Program) ที่เรากำลังพัฒนานั้นก็เป็นสิ่งที่ตอบสนองต่อนโยบายของ อว. ได้เป็นอย่างดี รวมถึงโครงการหลักสูตรระยะสั้น (Short Course) และโครงการสัมฤทธิบัตร (Certificate of Achievement) ก็เป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ Credit Bank ซึ่งในอนาคตก็จะมีการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พร้อมนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาประเทศต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร. ศรินทร์ทิพย์ กล่าวปิดท้าย ก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีการ




Writer

โดย Sarnruethai Saphermsup