15 ธันวาคม 2017

“อาจารย์สอนให้สร้างไอเดียใหม่ๆ และพยายามให้คิดหาโอกาสตลอดเวลา แต่ทำไมจึงไม่พูดถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตามมา” คำถามน่าสนใจ ของผู้ประกอบการท่านหนึ่งในงานสัมนาโครงการยกระดับผลิตภาพด้วยการจัดการเพื่อสร้างนวัตกรรม (Managing for Innovation) สู่การประกอบการยุค 4.0 ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ซึ่งคำถามดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างการบรรยายหัวข้อการสร้างเป้าหมายให้ท้าทายเพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม จึงเป็นเรื่องปกติที่หลายคนจะคิดถึง “ความเสี่ยง”  ด้วยการสร้างภาพความล้มเหลว ผิดหวัง หากเกิดความผิดพลาด จนเกิดความกลัวที่จะสร้างสรรค์ไอเดียให้แปลกแตกต่างจากที่มีอยู่ โดยเลือกคิดในกรอบซึ่งคุ้นเคยและมีตัวอย่างให้เดินตาม

ดังนั้นการคิดสร้างสรรค์ไอเดียจึงต้องมองหาโอกาส เพื่อเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อยากค้นหาแนวทางใหม่ๆ ไปสู่เป้าหมาย โดยไม่ต้องนึกถึง “ผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้น” รวมถึง “ข้อจำกัด” มากมายซึ่งทำให้เราเกิดความเชื่ออย่างไร้เหตุผลว่า “ทำไม่ได้” หรือ “เป็นไปไม่ได้” จนเราจะเกิดความรู้สึก “กลัว” เข้ามายื้อยุด ฉุดกระชากให้ชะงักความมุ่งมั่น และบั่นทอนความกล้า คิดค้นหาแนวทางใหม่ๆ เช่นเดียวกับ สมัยเด็กๆ เมื่อถูกล้อว่าวาดภาพไม่สวย เราก็จะกลัวที่จะวาดอีก โดยไม่พยายามหาแนวทางให้สามารถวาดภาพในแบบฉบับของตนเอง จนแม้โตขึ้นใครขอให้วาดภาพอะไร เราก็จะปฏิเสธทันที “ฉันวาดภาพไม่ได้” ทั้งที่จริงๆแล้ว เราก็ทำได้ในรูปแบบของเราเพียงแต่ยังไม่ค้นพบ

ลองตั้งคำถามกับตัวเอง “วาดภาพคนอย่างไร จึงทำให้คนดูเห็นโทษของการดื่มแอลกอฮอล์ หรือวาดภาพเพื่อนอย่างไร ให้เขารู้ว่าเราห่วงใยเขามากเพียงใด” จะเห็นได้ว่า เพียงเราตั้งคำถามโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ หรือคุณค่า ที่อยากจะนำเสนอ ก็จะเป็นแรงผลักให้ เกิดไอเดียได้หลากหลาย หรือถ้าจะออกแบบ แก้วน้ำดื่ม อาจลองตั้งคำถาม “ต้องปรับรูปแบบแก้วน้ำดื่มอย่างไร ให้รู้สึกดื่มแล้วสุขภาพดีและกระตุ้นให้คนรอบข้างหันมาสนใจ” จะเห็นได้ว่า เมื่อเรามีวัตถุประสงค์ชัดเจน และท้าทายในมุมมองใหม่ ก็จะกระตุ้นให้อยากนำเสนอไอเดียอยู่ตลอดเวลา 

การค้นวัตถุประสงค์ให้ท้าทาย ก็ต้องมีความกล้า ซึ่งจะทำให้เราอยากรู้ อยากลอง อยากสัมผัส หรือการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ช่วยสังเกตความผิดปกติ ค้นหาความพิเศษ ความโดดเด่น ของสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วลองหาคำตอบจากคำถาม “ทำด้วยเหตุผลอะไร มีสิ่งนี้เพื่ออะไร” เช่น ร้านนี้มีกลิ่นหอมของกาแฟ เพื่ออะไร ถ้าคำตอบคือเพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน ให้ถามต่อว่า ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านเพื่ออะไร ท่านอาจได้คำตอบ เพื่อรายได้ ก็ให้ถามอีก เพื่ออะไร ไปเรื่อยๆ จนคำตอบสุดท้าย สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่น เช่น เพื่อช่วยเหลือให้คนรอบข้างมีความสุข การออกแบบกลิ่นกาแฟก็จะมีวัตถุประสงค์สร้างความสุขให้กับทุกคนที่ผ่านเข้ามา จากนั้นกำหนดนิยามหรือกรอบแนวคิดด้วยการถามให้เฉพาะเจาะจง “กลิ่นกาแฟจะสร้างความสุขให้คนรอบข้างได้อย่างไร” ซึ่งก็อาจมองกลิ่นกาแฟเป็นสารช่วยบำบัดความเครียด หรือเป็นสารผูกความสัมพันธ์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้พื้นที่พูดคุย เมื่อกรอบแนวคิดชัดเจน ก็จะถูกนำไปคิดค้นรูปแบบด้วยคำถาม “กลิ่นกาแฟจะถูกนำเสนออย่างไร จึงจะสร้างความผูกพันให้กับทุกคนที่มาใช้บริการ” อาทิ ออกแบบให้มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพื้นที่ของร้านแตกต่างกัน อาจวางที่โต๊ะ หรือภาชนะต่างๆ หรือปล่อยจากกาต้มกาแฟเดือดๆ อย่างต่อเนื่อง หรือใช้เทคโนโลยีในลักษณะไอระเหย เพื่อให้ทุกคนเกิดความรู้สึกได้สัมผัสและแบ่งปันสิ่งดีๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ไอเดียทั้งหลายที่ถูกนำเสนอ จะถูกนำมาศึกษาความเป็นไปได้ทั้งในด้านการตลาด การลงทุน การผลิต จนถึงเรื่องของผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม และจะเป็นการคัดสรรไอเดียที่เหมาะสมกับองค์กรที่สุด ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ “ความเสี่ยง” นั่นเอง หรือเรียกว่า จากภาพที่ฟุ้ง จนถึงภาพฝัน ก็จะกลับสู่ความเป็นจริง “ที่คาดไม่ถึง” อย่างน่าประหลาดใจ

ที่มา : คอลัมน์ Think Productivity หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย ดร.ต่อเกียรติ น้อยสำลี

• วิทยากรอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการและพัฒนานวัตกรรม
• ให้การฝึกอบรมด้านการสร้างผู้นำเชิงปฏิรูป การปฏิรูปทีมงาน การปรับปรุงผลการดำเนินงานของทีมงาน การวางแผนกลยุทธ์ คิดเชิงกลยุทธ์ การคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ การบริหารโครงการ การพัฒนาและสร้างนวัตกรรม ให้กับภาคผลิตและภาคบริการ