22 มิถุนายน 2017

ข่าวกลุ่มรถแดงเชียงใหม่ต่อต้านการเข้ามาของ Uber และ Grab ชี้ให้เห็นว่าแม้โลกจะก้าวไปไกลแค่ไหน แต่คนไทยส่วนหนึ่งก็ยังไม่พร้อมกับการรับมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

สังคมไทยเคยชินกับธุรกิจผูกขาดมายาวนานจากรากฐานของการเป็นสังคมศักดินาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนเปลี่ยนแปลงการปกครองไป 85 ปีแล้ว การผูกขาดอำนาจก็ยังคงเป็นที่นิยมอยู่

แนวโน้มของธุรกิจในวันนี้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่าธุรกิจผูกขาดจะไม่มีที่ยืนอีกต่อไป

การเติบโตอย่างรวดเร็วของ Sharing Economy เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่อาจมองข้าม

มีงานวิจัยวิเคราะห์การเติบโตนี้ว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิตอลแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากคนรุ่นใหม่ไม่มีความไว้วางใจในธุรกิจขนาดใหญ่ Sharing Economy เปิดโอกาสให้ทุกคนสร้างธุรกิจของตนเอง ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือผลิตภัณฑ์และบริการสามารถออกแบบเฉพาะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า สร้างสังคมที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า และคุ้มค่ากว่า ทำให้ราคาไม่สูงแต่มีทางเลือกที่หลากหลาย จึงเป็นการสร้างมูลค่าให้ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน

Sharing Economy มาพร้อมกับความเป็นเมืองที่จะขยายตัวไปในทุกประเทศทั่วโลกอย่างไม่อาจหยุดยั้งได้ และจะเป็นสิ่งที่เข้ามาแทนที่ธุรกิจขนาดใหญ่ในอนาคต มีผู้กล่าวว่าเป็นการเปลี่ยนเกมของศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว คาดการณ์ว่ามูลค่าของ Sharing Economy ในปี 2025 จะขึ้นไปถึง 335 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ในธุรกิจท่องเที่ยวจะเห็นการขยายตัวของ Sharing Economy ชัดเจนที่สุด ด้วยแพลตฟอร์มธุรกิจแบบ peer- to- peer การเพิ่มจำนวนของที่พักแบบ Airbnb ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วโลกแสดงถึงความพึงพอใจในการเลือกใช้จากลูกค้าแทนที่โรงแรมขนาดใหญ่ ความแตกต่างไม่ได้เพียงอยู่ที่การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ แต่ยังมีการนำเสนอบริการที่สร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวที่โรงแรมใหญ่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น กิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น การทำอาหาร เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น Berkeley, California มี OpenDoor เป็นที่พักในไร่ มีห้องพักเพียง 16 ห้อง นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสประสบการณ์ของการเก็บผักสดจากสวน การเลี้ยงไก่ ชีวิตในรูปแบบ Slow life ที่ทำให้ได้พักผ่อนทั้งกายและใจไปพร้อมกัน

เร็วๆ นี้ Airbnb จะสร้างแพลตฟอร์มใหม่โดยร่วมมือกับผู้ใช้บริการในการสร้างประสบการณ์การทำหลักสูตรทำอาหาร ท่องเที่ยว เวิร์คชอปในกิจกรรมต่างๆ ด้วย

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยว ยังมีบริการที่เรียกว่า co-housing สำหรับนักธุรกิจ เช่น PureHouse ที่ให้บริการที่พักซึ่งสามารถใช้เป็นที่ทำงานไปพร้อมกันด้วยระบบดิจิตอล สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ของนักออกแบบ San Francisco’s Coliving Club เป็นที่พักที่ให้คำนิยามว่าเป็น Startup house มีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสนับสนุนการทำงานที่ทันสมัย ความสะดวกสบายในการพักอาศัยที่มาพร้อมการออกแบบที่สร้างสรรค์

ในลอนดอน The Collective นำเสนอ co-living ขนาดใหญ่ ที่มีทั้งสตูดิโอสำหรับทำงานและแฟลตสำหรับพักอาศัย ซึ่งมีทั้งเลานจ์ ยิมออกกำลังกาย โรงหนัง สปา ร้านอาหาร ห้องสมุด สวนดอกไม้ และระเบียงนั่งเล่นบนหลังคา สามารถรับลูกค้าได้ถึง 500 คน ราคาเริ่มต้นที่ 220 ปอนด์ต่ออาทิตย์

ปัจจุบัน ธุรกิจแบบเกื้อกูลระหว่างธุรกิจกับธุรกิจนี้ ไม่ได้หยุดแค่บริการที่พักอาศัย หรือสถานที่ทำงาน แต่กำลังก้าวข้ามไปถึงการแลกเปลี่ยนคนทำงานระหว่างธุรกิจเรียกว่า Talent Exchange ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดของมืออาชีพออนไลน์ บริษัทที่ปรึกษาในสหรัฐจะมีรายชื่อ Talent สายอาชีพต่างๆ นับพันคนที่ขึ้นทะเบียนไว้ ดังนั้นจึงสามารถช่วยทำให้การสรรหาคนขององค์กรต่างๆ ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น

จะเห็นได้ว่า Sharing Economy ทำให้เกิดการสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือตัวตนของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ต้องความซ้ำซากจำเจจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการแบบเดิมๆ

บริบทของธุรกิจกำลังฉายภาพใหม่ที่เด่นชัดขึ้น การเคลื่อนตัวไปสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีอะไรจะยื้อยุดไว้ได้ และไม่มีประเทศใดจะหลบมุมเพื่อจะหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน เพราะหัวใจสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้คือความสามารถในการเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างไม่มีข้อจำกัด

การปิดกั้นและการผูกขาดจึงไม่ใช่รูปแบบแบบในโลกอนาคตอีกต่อไป

ที่มา : คอลัมน์ Think Foresight  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น