24 กุมภาพันธ์ 2017

polution

คำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ที่ให้เฝ้าระวังอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส เพราะหากไปถึง 4 เมื่อไหร่มันคือจุดหายนะ เป็นที่มาของ Paris Agreement ที่ 196 ประเทศมาตกลงร่วมกัน (รวมทั้งประเทศไทย)

หลายประเทศได้กลับไปกำหนดนโยบาย และการดำเนินการเพื่อเป็นแรงหนึ่งที่จะยื้อหยุดไม่ให้ไปถึงจุดหายนะนั้น เช่น การประกาศปิดโรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน มีข้อมูลระบุว่า “โรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั่วโลกจะปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2050” (ไม่ยืนยันว่ารวมประเทศไทยด้วยหรือไม่) “สหภาพยุโรปและสหรัฐเริ่มต้นกำจัดการใช้ HFCs ตั้งเป้าหมายลดให้ได้ 10% ภายในปี ค.ศ. 2019 “ “นักลงทุนทั่วโลกเริ่มบีบบังคับธุรกิจให้มีแนวทางชัดเจนในการลดโลกร้อน” “มีกฎระเบียบการค้าในประเทศต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อนเพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้เป็นเพราะมีหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก หลายหน่วยงานทำงานวิจัย วิเคราะห์สถานการณ์โลกร้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และพยายามหาช่องว่างที่ยังมองไม่เห็น เพื่อหาทางแก้ไข

สัญญาณจุดหายนะที่ปรากฏอยู่มีดังนี้

“คาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรในปี ค.ศ. 2100 จะเพิ่มขึ้น 1-4 องศาเซลเซียส”

“จากความต้องการน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2020 ทำให้เกิดผลกระทบต่อป่าในเขตร้อนชื้นและความหลากหลายทางชีวภาพ”

“สถานการณ์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะยิ่งเลวร้ายลง World Bank คำนวณว่าในปี ค.ศ. 2050 ถ้ายังคงไม่มีนโยบายที่เข้มแข็งในเรื่องการลดโลกร้อนของประเทศต่างๆ จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตเศรษฐกิจทั่วโลก GDP จะลดลงถึง 6% แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือผลกระทบที่มีต่อการสูญเสียของชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในภูมิภาคต่างๆ องค์การอนามัยโลกระบุว่า เกือบ 10 % ของการเกิดเชื้อโรคและมากกว่า 6% ในสาเหตุการตายของประชากรโลกมาจากการขาดแคลนน้ำ และสุขอนามัย”

“อุณหภูมิที่อุ่นขึ้น และอากาศที่หนาวจัด ร้อนจัด จะทำให้การผลิตกาแฟจะสูญหายไปภายใน 30 ปี”

“UN ประมาณการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 โลกจะมีความต้องการใช้น้ำเกินกว่าที่มีอยู่ถึง 40%”

“Dead zone หรือ เขตมรณะในมหาสมุทรจะเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ เพราะในพื้นที่ของ Dead zone สิ่งมีชีวิตจะไม่สามารถอาศัยอยู่ได้”

“ภายใน 30 ปีข้างหน้า ยีราฟในโลกจะสูญหายไปกว่า 40 % และยังมีสิ่งมีชีวิตอีก 24,000 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์”

และในปีนี้ (ค.ศ. 2016) จากรายงานของ International Energy Agency ระบุว่าเป็นปีที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกเกี่ยวกับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก

สถานการณ์ “ธรรมชาติเอาคืน” รุนแรงขึ้นทุกปี เห็นได้จากการเกิดภัยพิบัติในแต่ละภูมิภาคตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา คลื่นความร้อนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และเศรษฐกิจอย่างที่คาดไม่ถึง เช่น มีรายงานวิจัยระบุว่าประเทศอังกฤษจะเปลี่ยนจากประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นมาเป็นอบอุ่นจนสามารถแย่งตำแหน่งผู้ผลิตไวน์จากฝรั่งเศสได้ในอนาคต

รัฐบาลไทยได้ประกาศ Thailand 4.1  เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่นโยบายครอบคลุมมิติด้านสิ่งแวดล้อมเช่น การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีการกำหนดเป้าหมาย ภายใน 5 ปีจากนี้ เช่น มีการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัดส่วนพื้นที่อนุรักษ์ต่อพื้นที่ประเทศเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 30 จะมีเมืองน่าอยู่ของโลก 10 เมือง จะมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น เป็น 40 ล้านไร่ มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ไร่ มีการจัดการขยะทั้งขยะชุมชนและอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบและยั่งยืนร้อยละ 50 เป็นต้น

หากมีการทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ประเทศไทยก็จะเป็นอีกแรงหนึ่งของโลกที่จะร่วมฉุดรั้งจุดหายนะให้มาถึงช้าลงได้ตามที่ไปร่วมรับรองไว้กับชาติอื่นๆ

ในบทบาทของภาคธุรกิจก็คงต้องทบทวนนโยบาย CSR ให้ถี่ถ้วนอีกครั้งว่าการดำเนินการที่ผ่านมามีผลอย่างไร และควรต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและร่วมเป็นแรงหนึ่งที่จะยื้อยุดโลกใบนี้ไม่ให้ไปถึงจุดหายนะ

ที่มา : คอลัมน์ CSR Talk หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ




Writer

โดย สุรีพันธุ์ เสนานุช

• วิทยากรอิสระ ด้านการถอดบทเรียนและการเขียนบทความวิชาการ
• ประสบการณ์ งานวิจัยและบรรณาธิการต้นฉบับ หนังสือกรณีศึกษาการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ขององค์กรที่ได้รับรางวัล คุณภาพแห่งชาติ TQA และ TQC,
• โครงการวิจัยการถอดบทเรียนการจัดการความรู้ กรมอนามัย,
• ผลงานด้านหนังสือ บทบรรณาธิการ และบทความใน วารสาร Productivity World สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ จำนวน 160 บทความ,
• ผลงานเขียนหนังสือ Visionary Leadership กรณีศึกษาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์,
• ผลงานเขียนหนังสือ Tragedy of Lost โศกนาฏกรรมองค์กรหลงทิศ, Societal Responsibility กรณีศึกษาบริษัท สวิฟท์ จำกัด ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (งานเขียนร่วม) เป็นต้น